เมแกน มาร์เคิล พระชายาแสนรักของเจ้าชายแฮร์รีแห่งซัสเซกซ์ แช่มชื่นเปี่ยมสุข ปรากฏตัวที่ภัตตาคารเม็กซิกันสุดหรูเก๋เท่ในย่านเวสต์ฮอลลีวู้ด ณ USA โดยได้ลิ้มลองคอร์สอาหารกลางวันแบบเจ-วีแกน พร้อมกับทีมผู้บริหารของ อาร์ชแวล อิงค์ เมื่อวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2023 ซึ่งเป็นห้วงที่สื่อมวลชนเฝ้าลุ้นเฝ้ารอการตัดสินพระทัยของเจ้าชายแฮร์รีและพระชายาต่อการเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร เดลิเมล ออนไลน์ สื่อหัวสีเจ้ายักษ์ของอังกฤษรายงาน
แต่ประเด็นที่เป็นทีเด็ดและน่าติดตามพิเศษสุด คือ ดรามาซึ่งผุดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์เริ่มใช้คำว่า “เจ้าชาย” และ “เจ้าหญิง” นำหน้าพระนามของพระโอรสอาร์ชี กับพระธิดาลิลีเบต หลานปู่วัยกระเตาะแห่งสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ โดยประมาณว่าโนสน-โนแคร์ที่จะรอการรับรองจากวังหลวง
โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งหมิ่นเหม่จะเป็นการท้าทายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ไปปรากฏอยู่ในการแถลงข่าวเรื่อง “เจ้าหญิงลิลีเบต ไดอานา พระชันษา 1 ปี 9 เดือน ทรงได้รับศีลล้างบาปและร่วมเป็นคริสตชนในสายนิกายแองกลิคันเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา” เดลิเมล ออนไลน์ รายงานพร้อมแซวเบาๆ: ยังไม่แน่ชัดว่าพระชายาเมแกนมีการเชิญชวนทีมงานอาร์ชแวลดื่มฉลองการประกาศดังกล่าวด้วย ‘เตกีลา’ ของภัตตาคารกราซซีอัส มาเดร (หรือก็คือ “ขอบคุณนะคะแม่” ) ซึ่งมีให้เลือกกว่า 93 เมนู หรือไม่
พร้อมนี้ เพื่อจะปกป้องตนเองที่ตัดสินใจให้พระธิดามีคำหน้าพระนามว่า “เจ้าหญิง” ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงทำการประกาศไว้ในการแถลงข่าว “เรื่อง ‘เจ้าหญิงลิลีเบต’ ทรงรับศีลล้างบาป” ว่าเป็นสิทธิตามชาติกำเนิดของพระโอรสและพระธิดาที่จะใช้พระนามว่า เจ้าชายอาร์ชี และ เจ้าหญิงลิลีเบต
ที่สำคัญคือ ปรินซ์และดัชเชสทรงเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า เคยมีการหารือกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ผู้เป็นพระราชบิดาเป็นที่เรียบร้อย และได้ข้อสรุปเรื่องการให้ลูกๆ ใช้พระฐานันดรศักดิ์ระดับเจ้าชาย มาระยะหนึ่งแล้ว
ผลปรากฏว่าสำนักพระราชวังบัคกิงแฮม ได้ดำเนินการอย่างดีงามยิ่ง มีการรับรองการตัดสินพระทัยของเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนอย่างสง่าหมดจดภายใน 24 ชั่วโมง คือ ในวันที่ 9 มีนาคม ณ 09.30 น. เวลาประเทศอังกฤษ
โดยพระนามของรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษที่จารึกบนเว็บไซต์ของวังหลวง ได้รับการปรับปรุงคำนำหน้าพระนามของรัชทายาทลำดับที่ 6 ให้เป็น เจ้าชายอาร์ชีแห่งซัสเซกซ์ จากเดิมที่เขียนว่า มาสเตอร์อาร์ชี เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์ และปรับเปลี่ยนคำนำหน้าพระนามของรัชทายาทลำดับที่ 7 ให้เป็น เจ้าหญิงลิลีเบตแห่งซัสเซกซ์ จากเดิมที่เขียนว่า มิสลิลีเบต เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์
ดรามาฐานันดร เจ้าชาย-เจ้าหญิง ยุติง่ายๆ หลังดยุก&ดัชเชสทั้งยัวะทั้งหวั่นอยู่ในความอึมครึมที่อื้อฉาวด้วยซีรีส์ Netflix และหนังสือ SPARE !!
หลังจากควีนเอลิซาเบธทรงสวรรคต และพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระองค์ท่าน ทรงเสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยอัตโนมัติ ภายใต้พระนาม สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และมีประกาศแต่งตั้งเจ้าชายวิลเลียมขึ้นเป็น ปรินซ์ออฟเวลส์ (ตำแหน่งสำหรับองค์รัชทายาทลำดับที่ 1) นั้น สำนักพระราชวังมีการปรับปรุงพระนามของรัชทายาท เฉพาะในลำดับที่ 1-4 ให้เป็นพระนามที่อิงอยู่กับพระอิสริยยศปรินซ์ออฟเวลส์ (ได้แก่ เจ้าชายวิลเลียมและลูกๆ 3 พระองค์)
แต่ไม่มีการปรับเปลี่ยนพระนามของรัชทายาทลำดับที่ 6-7 จากคำว่า มาสเตอร์(นาย) อาร์ชี และ มิส(นางสาว) ลิลีเบต ให้เป็นเจ้าชายอาร์ชี และ เจ้าหญิงลิลีเบต
สื่อมวลชนมิได้เสนอข่าวในทางประหลาดใจ เพราะทราบกันดีถึงดรามาดุเดือดมากมายที่ยิงออกมาจากฝั่งเจ้านายสายซัสเซกซ์ แต่สื่อหันไปเล่นข่าวขยี้ข่าวครึกโครมเพื่อตามจิกเอาคำชี้แจงจากสำนักบัคกิงแฮม เช่น สองพระหน่อน้อยแห่งซัสเซกซ์ซึ่งเป็นเจ้าชาย-เจ้าหญิงในทางเทคนิคนั้น ทรงเป็นเจ้าชาย-เจ้าหญิงจริงๆ หรือยัง เมื่อใดที่สำนักพระราชวังจะประกาศ พร้อมกับเสนอสมมุติฐานแซ่บๆ ว่าทำไมยังไม่ประกาศ ฯลฯ
ในท่ามกลางแรงกดดันเหล่านี้ โฆษกรายหนึ่งของพระเจ้าชาร์ลส์ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าจะมีการปรับปรุงพระนามของพระโอรสอาร์ชีและพระธิดาลิลีเบตที่ปรากฏบนเว็บไซต์แน่นอน “เมื่อเราได้รับข้อมูล” เดลิเมล ออนไลน์ รายงานอย่างนั้น
“ข้อมูล” ดังกล่าวก็คือ ข้อมูลการตัดสินใจของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ว่าทรงต้องการให้ลูกๆ ใช้ฐานันดร
ด้านปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกนทรงทุกข์ตรมขมใจที่บัคกิงแฮมไม่ได้ประกาศรับรองพระฐานันดรให้แก่พระโอรสและพระธิดาออกมาในทันทีที่เสด็จพระเจ้าปู่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา เดลิเมล ออนไลน์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในของทั้งสองพระองค์
ความตรมพระทัยดังกล่าวได้ทบทวีขึ้นหลายเด้ง เพราะในกรณีของเจ้าชายวิลเลียมที่ทรงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นปรินซ์ออฟเวลส์ เว็บไซต์วังหลวงทำการปรับปรุงพระนามของปรินซ์วิลเลียม พระชายาเคท และพระโอรสพระธิดาโดยพลัน
นอกจากนั้น สื่อใหญ่จอมอิทธิพลอย่าง Page Six อ้างแหล่งข่าววงในพระราชวงศ์ รายงานว่า ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงหมกมุ่นอยู่กับแนวคิดว่า คิงชาร์ลส์ผู้เป็นพระราชบิดาอาจจะปิดกั้นไม่ให้อาร์ชีและลิลีเบตได้เป็นปรินซ์และปรินเซส
พร้อมนี้ ก็มีคำถามที่ถกกันว่า ในเมื่อดยุกแฮร์รีและดัชเชสเมแกนยังทรงไม่ตัดสินใจ แล้วเหตุอันใดจึงทรงจดต่อรอให้สำนักบัคกิงแฮมรีบประกาศ ในการนี้ อันที่จริงนั้น ฝ่ายต่างๆ ล้วนทราบคำตอบเป็นอย่างดี
ในห้วงแห่งความอึมครึม การขยี้ข่าวโรยตัวลง โดยท่านผู้ชมฝ่ายต่างๆ เก็บคำถามไว้ในใจเงียบๆ ว่า นี่คือศึกวินด์เซอร์ส War of the Windsors แน่นอนแล้วกระมัง ความเป็นมาแท้จริงคืออะไรกันแน่ อีกนานไหมที่จะได้อร่อยกับข่าวกันรอบใหม่ ฯลฯ
การรอคอยดำเนินไปในบรรยากาศจี๊ดจ๊าดซึ่งจุดประกายโดย 2 อภิมหามหกรรมที่พระราชโอรสและพระราชสุณิสาของกษัตริย์ชาร์ลส์ ทรงจัดถวายอย่างครึกโครม ได้แก่
- การยิงซีรีส์ภาพยนตร์สารคดีของ เน็ตฟลิกซ์ สื่อบันเทิงยักษ์ระดับโลก เรื่อง Harry & Meghan ที่เขย่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษอีกหนึ่งรอบใหญ่ 6 เอพพิโซดในเดือนธันวาคม 2022
- แล้วสำทับด้วยการนำหนังสือบันทึกความทรงจำ เรื่อง SPARE วางแผงหนังสือทั่วโลกในเดือนมกราคม 2023 โดยกรีดพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ และพระราชินี ตลอดจนรัชทายาทพระองค์หลัก อีกทั้งพระชายาผู้ทรงเป็นว่าที่ควีนอังกฤษ อย่างโหดร้าย ด้วยนานาข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐาน (เพราะเป็นบันทึกความทรงจำ)
ส่งผลให้สื่อมวลชนและท่านผู้ชมสนุกสนานกันมาก แม้บรรยากาศส่วนใหญ่จะออกปฏิกิริยาติเตียน วิจารณ์ และถวายคำแนะนำให้ปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกนโตเป็นผู้ใหญ่ เลิกสงสารตนเอง-กล่าวโทษผู้อื่น และไปทำมาหากินที่ไม่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการโจมตีคุณพ่อและพี่ๆ ซ้ำซากที่ทำให้ภาพลักษณ์ของทั้งสองพระองค์เน่าบูดและน่าดูหมิ่น
หนึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมา ทั้งสองพระองค์ซึ่งถูกพสกนิกรชาวอังกฤษจัดชั้นอย่างไม่เป็นทางการให้เป็นดาวร้ายใจดำ และถูกฝ่ายต่างๆ ในสหรัฐฯ ยี้และโห่อื้ออึง ทรงเข้าสู่โหมดเก็บเนื้อเก็บตัว
แม้แต่ในปาร์ตีฉลองวันเกิดของ โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรคนดังคับโลก พระสหายสนิทและเพื่อนบ้านใกล้ชิด ซึ่งจัดขึ้นอย่างอลังการเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2023 ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ทรงปรากฏตัวในงาน และจึงกลายเป็นข่าวออกไปว่าทรงไม่ได้รับเชิญ เพราะเจ้าภาพเสียความรู้สึกกับการที่ปรินซ์ทรงเปลี่ยนคำให้การเกี่ยวกับพระราชวงศ์ โดยทรงกล่าวออกสื่อว่าทรงไม่ได้กล่าวหาพระราชวงศ์อังกฤษเป็นพวกเหยียดผิว
วันเวลาผ่านไป 6 เดือน จากวันที่ 8 กันยายน 2022 จรดถึง 8 มีนาคม 2023 และบรรยากาศอื้อฉาวเกรี้ยวกราดได้โรยราลง ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกส์ทรงปรับกลยุทธ์ ยอมเป็นฝ่าย “ตัดสินใจ” พร้อมกับประกาศออกสื่อว่า เริ่มให้ลูกๆ ใช้พระฐานันดรศักดิ์แห่งเจ้าชายและเจ้าหญิงแล้ว โดยเป็นการแถลงในวาระที่พระธิดาทรงรับศีลล้างบาปเข้าเป็นคริสตชน
โดยโฆษกของเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนแจ้งสื่อมวลชนว่า “พระยศของพระโอรสและพระธิดาเป็นสิทธิตามพระชาติกำเนิด เนื่องจากสมเด็จพระอัยกาเจ้าของทั้งสองพระหน่อน้อย ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์”
นอกจากนั้นยังแจ้งด้วยว่าเรื่องพระฐานันดรศักดิ์เจ้าชายนั้น ได้มีข้อสรุปกับสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมมาระยะหนึ่งแล้ว” เดลิเมล ออนไลน์ รายงาน
แม้จะชี้แจงว่าทรงอิงอยู่บน 2 มุมมองนี้ แต่ทั้งสองพระองค์ก็เพิ่งให้พระธิดาลิลีเบตใช้พระนามว่า เจ้าหญิงลิลีเบต เป็นครั้งแรกในวันที่ 8 มีนาคม ทั้งที่เรื่องนี้กลายเป็นดรามายืดเยื้อนาน 6 เดือน
ในที่สุด ก็เป็นอันว่า ดรามากรณีพระฐานันดรศักดิ์เจ้าชายอาร์ชีและเจ้าหญิงลิลีเบตได้ข้อยุติอย่างง่ายๆ และรวดเร็ว เมื่อสำนักพระราชวังตอบรับการตัดสินใจของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ที่จะให้ลูกๆ ทั้งสองครองความเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิง หลังจากที่เรื่องนี้ถูกแขวนพักไว้เนิ่นนานรวม 6 เดือนพอดิบพอดี คือ จาก 9 กันยายน 2022 ถึง 9 มีนาคม 2023
‘เฉลย’ ต้นตอความยืดเยื้อแห่งปมการรับรองพระฐานันดรศักดิ์ เจ้าชายอาร์ชี - เจ้าหญิงลิลีเบต
ปัจจัยประการแรก: พระราชวินิจฉัยในฝั่งของสำนักพระราชวังบัคกิงแฮม ซึ่งต้องรอให้ปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสตัดสินใจชัดเจนว่าทั้งสองพระองค์ต้องการให้พระโอรสและพระธิดาได้รับพระฐานันดรศักดิ์เจ้าชาย-เจ้าหญิง
ทั้งนี้ เดลิเมล ออนไลน์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวสายบัคกิงแฮมว่า พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ทรงรอให้ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ตัดสินใจให้แน่วแน่ชัดเจน และรายงานข้อมูลจากแหล่งข่าวด้วยว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงมิได้ประสงค์จะปิดกั้นกีดกันพระราชนัดดา แม้ว่าพระบิดาและพระมารดาของพระราชนัดดา ได้สร้างปัญหาแก่สถาบันกษัตริย์อย่างมากมาย อีกทั้งยังสร้างข้อกล่าวหาโจมตีบรรดาพระราชนิกูลครั้งแล้วครั้งเล่า
ปัจจัยประการที่ 2: ปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสทรงหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับตรงๆ ว่าทรงต้องการให้ลูกๆ ได้เป็นเจ้าชาย/เจ้าหญิง จึงเกี่ยงให้สำนักพระราชวังดำเนินการมาให้เลย เพราะการกลับมายอมรับว่าต้องการฐานันดร คือเครื่องพิสูจน์ว่าคำกล่าวอันมากมายว่าเป็นราชนิกูล มีแต่ความเจ็บปวด ล้วนเป็นวาทกรรมไก่กา
มุมมองของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์นั้น กูรูผู้เชี่ยวชาญการเมืองในราชสำนักได้ข้อสรุปมานานแล้วว่าพระราชโอรสและพระราชสุณิสาของ คิงชาร์ลส์ ทรงปรารถนาให้ลูกได้ฐานันดร โดยย้อนความได้ตั้งแต่ปี 2021 ที่ทรงให้สัมภาษณ์ในรายการโอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ ตั้งข้อกล่าวหาว่าพระราชวงศ์อังกฤษทรงมีความรังเกียจและเหยียดผิว จึงกีดกันมิให้พระโอรสอาร์ชีได้รับฐานันดรเจ้าชาย พร้อมนี้ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงอ้างว่าฐานันดรนี้จะทำให้พระโอรสได้รับระบบอารักขาจากรัฐบาล ซึ่งเป็นไปเพื่อความปลอดภัยอันเป็นข้อกังวลสูงสุดของพระองค์
ในการนี้ ข้อกล่าวหาว่าพระราชวงศ์ทรงเหยียดผิวและกีดกันนั้น ได้รับการชี้แจงกระจ่างแล้ว โดยที่ปรินซ์แฮร์รีเองก็ทรงปฏิเสธเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อยในระหว่างการโปรโมทหนังสือบันทึกความทรงจำของพระองค์เมื่อต้นเดือนมกราคม 2023 ขณะที่ข้ออ้างว่าด้วยความปลอดภัยของพระโอรสก็ถูกพิสูจน์มานานแล้วว่า ครอบครัวซัสเซกซ์สามารถประทับอยู่ในสหรัฐฯ อย่างราบรื่นมั่นคงและเปี่ยมสุข โดยใช้ทีมรักษาความปลอดภัยของบริษัทเอกชน
ปฐมบทการบีบคั้นเรียกร้องวังหลวงให้ ‘อาร์ชี’ ได้เป็นเจ้าชาย หลังติดกฎมณเฑียรบาล โดยงดรับทุกฐานันดร
พระโอรสอาร์ชีประสูติเมื่อ 6 พฤษภาคม 2019 อันเป็นศักราชภายใต้พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และจึงยังไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระฐานันดรศักดิ์แห่ง เจ้าชาย เพราะอาร์ชีอยู่ในชั้นเหลนของพระมหากษัตริยานี ซึ่งกฎมณเฑียรบาลแห่งราชสำนักอังกฤษ ที่ถูกปรับปรุงไว้โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในปี 1917 กำหนดว่าเหลนของพระมหากษัตริย์ที่จะได้เป็นเจ้าชายต้องถือกำเนิดจากลูกชายคนโตของปรินซ์ออฟเวลส์ แต่ปรินซ์แฮร์รีทรงเป็นลูกชายคนที่สอง
(*ปรินซ์ออฟเวลส์เป็นตำแหน่งสำหรับพระราชบุตรพระองค์โตของพระมหากษัตริย์อังกฤษ เช่น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ โดยในปัจจุบัน ตำแหน่งนี้เป็นของเจ้าฟ้าชายวิลเลียม)
ลำพังกฎมณเฑียรบาลเวอร์ชั่น 1917 น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำใจยอมรับได้ แต่ปัจจัยเรื่องกฎมณเฑียรบาลซึ่งถูกแก้ไขปรับปรุงในปี 2012 อาจเป็นชนวนความหมางใจปมใหญ่ยักษ์
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงโปรดให้มีการปรับแก้ในส่วนของเหลนกษัตริย์ ณ ห้วงเวลาที่ประเทศอังกฤษกำลังจะได้ต้อนรับการประสูติของเจ้าชายจอร์จ พระโอรสของปรินซ์วิลเลียม กล่าวคือ ณ 31 ธันวาคม 2012 ควีนทรงลงพระนามปรับปรุงให้เหลนกษัตริย์ทุกพระองค์ที่ประสูติจากพระโอรสองค์โตของปรินซ์ออฟเวลส์ ได้เป็นเจ้าชาย/เจ้าหญิง แทนที่จะได้เป็นเจ้าชายเฉพาะลูกชายคนโต
แต่การขยายโควตาตรงนี้ มิได้เอื้อเฟื้อไปถึงลูกๆ ของปรินซ์แฮร์รีผู้ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์เล็ก
ดังนั้น พระโอรสและพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ของปรินซ์วิลเลียมจึงได้เป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงกันโดยทั่วหน้า ขณะที่พระโอรสและพระธิดาของปรินซ์แฮร์รี เป็นเพียง นาย กับ นางสาว เท่านั้น
(*การปรับปรุงในปี 2012 มีขึ้นในช่วงครึ่งปีก่อนที่เจ้าชายจอร์จแห่งปรินซ์วิลเลียมจะประสูติ และเป็นห้วงเวลาหลายปีก่อนที่เจ้าชายแฮร์รีจะทรงรู้จักกับนางเมแกน มาร์เคิล ควีนเอลิซาเบธจึงทรงปลอดภัยจากข้อกล่าวหาใส่ร้ายว่ากีดกันเหลนๆ ที่มีสายเลือดแอฟริกัน 25%)
ด้วยเหตุนี้ ปรินซ์แฮร์รีทรงเคยกล่าวเป็นนัยว่า พระราชวงศ์พร้อมจะเอื้อเฟื้อดูแลพระเชษฐาวิลเลียมทุกอย่าง ขณะที่ตัวพระองค์ถูกมองข้าม ซึ่งบางกูรูวิเคราะห์ว่าพระองค์ทรงเสียพระทัยที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนกฎมณเฑียรบาล เพื่อให้ลูกๆ ของพระองค์ได้เข้าเกณฑ์ เหมือนกับที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์กับเจ้าชายลูอิสของปรินซ์วิลเลียมทรงได้รับ
ผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์ประเมินกันว่า ปรินซ์แฮร์รีทรงมองเป็นความไม่ยุติธรรม/ไม่เท่าเทียมเสมอเหมือนกับพระเชษฐาวิลเลียม ซึ่งได้สิทธิประโยชน์ไปทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงเพราะประสูติก่อนกันแค่สองปีเท่านั้น
ในตอนหนึ่งของหนังสือเมมมัวร์ เรื่อง SPARE ปรินซ์แฮร์รีทรงบันทึกว่า
“พี่วิลลี่เกิดก่อนผม 2 ปี พี่เป็นรัชทายาท ขณะที่ผมเป็นตัวสำรอง”
นี่เป็นประโยคของปรินซ์แฮร์รีที่สะท้อนถึงอารมณ์คับข้องใจต่อความน้อยหน้าพระเชษฐาวิลเลียม
กระนั้นก็ตาม ปรินซ์แฮร์รีบันทึกไว้ใน SPARE ด้วยว่า พระองค์ได้รับเสรีภาพมากกว่า อีกทั้งยังติเตียนพระเชษฐาที่ยอมจำนนกับข้อบังคับมากมายภายในพระราชวงศ์ โดยทรงมิได้เห็นความสำคัญของภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องอยู่เหนือความพอใจส่วนตัว ซึ่งพระราชนิกูลต้องให้เกียรติแก่สถาบันกษัตริย์ให้สมกับที่ได้รับพระเกียรติยศและอภิสิทธิ์ต่างๆ ตามพระฐานันดร
ในเวลาเดียวกัน ปรินซ์แฮร์รีมิได้ทรงเดือดร้อนพระทัยกับความไม่เสมอภาคเท่าเทียมที่พสกนิกรเกิดมาเป็นคนอังกฤษเหมือนกับพระองค์ แต่เพียงเพราะมิได้เป็นหลานพระเจ้าแผ่นดิน พสกนิกรก็ไม่ได้รับอภิสิทธิ์ที่จะได้กินหรูอยู่เลิศนุ่งห่มงดงามอยู่ในพระราชวังโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในห้วงแห่งการประสูติของพระโอรสอาร์ชีในเดือนพฤษภาคม 2019 มีการหารือกับสำนักพระราชวัง และได้มีการเสนอแนะให้พระโอรสอาร์ชีใช้ฐานันดรศักดิ์ว่า เอิร์ลแห่งดัมบาร์ตัน อันเป็นหนึ่งในฐานันดรศักดิ์ของเจ้าชายแฮร์รี หรืออาจจะใช้ว่า ลอร์ดอาร์ชี เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์ ก็ได้ แต่ลงท้ายแล้วเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ให้พระโอรสใช้ฐานันดรศักดิ์ใดๆ โดยทรงเลือกให้เป็นเพียง มาสเตอร์(นาย) อาร์ชี แฮร์ริสัน เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์ และประกาศว่าพระโอรสจะได้ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน แหล่งข่าวในแวดวงพระราชนิกูลกล่าวกับเดลิเมลออนไลน์อย่างนั้น
การตัดสินพระทัยดังกล่าวสอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่ทั้งสองพระองค์สร้างสมขึ้นมาว่า: ทรงไม่แฮปปี้กับชีวิตเจ้าชาย; ทรงเจ็บปวดกับความสัมพันธ์ในพระราชตระกูล; การเป็นเจ้าชายเป็นภาระ เต็มไปด้วยข้อจำกัด และไม่ได้นำมาซึ่งความสุขพระทัย
ที่ผ่านมา ปรินซ์แฮร์รีทรงเล่าถึงความปรารถนาที่จะลาออกจากพระฐานันดรศักดิ์ อีกทั้งยังเล่าถึงช่วงชีวิตที่ทรงแฮปปี้มากๆ คือ การเว้นวรรคจากความเป็นปรินซ์แฮร์รี สู่การเป็นแค่ร้อยเอกเวลส์ขณะรับราชการทหาร ฯลฯ
ด้านดัชเชสเมแกนก็ประมาณกัน ในสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2021 ดัชเชสบอกว่า “ดิฉันกระจ่างแจ้งอย่างยิ่งเกี่ยวกับสิ่งที่มาพร้อมกับพระอิสริยยศและพระฐานันดร์ศักดิ์ทั้งในทางดีและทางร้าย และจากประสบการณ์ของตนเอง สิ่งที่ได้รับมาด้วยกันคือ ความเจ็บปวดอันมากมาย” บทความของอแมนดา พลาเทลล์ คอลัมนิสต์คนดังของเดลิเมล์ออนไลน์ รายงานไว้อย่างนั้น
ในเวลาต่อมา ท่าทีของปรินซ์แฮร์รี&พระชายาเปลี่ยนไป โดยทวงถามสิทธิเจ้าชาย/เจ้าหญิงให้ลูกๆ
ในปี 2020 ปรินซ์แฮร์รีและพระชายาเมแกนทรงหลีกลี้ออกจากแวดวงพระราชสำนักอังกฤษ ไปตั้งหลักปักฐานในมอนเตซิโต ถิ่นซูเปอร์ไฮโซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ภายในคฤหาสน์ราคา 14 ล้านดอลลาร์ที่พระชายาเมแกน อดีตดารานักแสดงอเมริกัน บอกว่ารู้สึกเป็นอิสระและเปี่ยมสุข
แต่ในเดือนมีนาคม 2021 ซึ่งดัชเชสเมแกนให้สัมภาษณ์ในรายการโอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ ดัชเชสได้เรียกร้องสิทธิ (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) ของพระโอรสอาร์ชีที่จะได้ใช้คำนำหน้านามว่าเจ้าชาย
โดยมีการตั้งข้อกล่าวหาโจมตีพระราชวงศ์อังกฤษว่า พระโอรสอาร์ชีไม่ได้รับพระฐานันดรศักดิ์เจ้าชาย เสมอเหมือนกับลูกๆ ของปรินซ์วิลเลียม เพราะพระราชวงศ์ทรงมีอคติในทางเหยียดผิว เนื่องจากพระโอรสอาร์ชีมีความเป็นเลือดผสมจากเชื้อสายแอฟริกันของตระกูลสามัญชนฝั่งคุณยาย ข้อกล่าวหานี้ส่งผลให้ผู้คนในสหรัฐฯ ฮือฮาลุกขึ้นมามอบความสงสาร โดยไม่ทราบความจริงในเรื่องกฎมณเฑียรบาล
ด้านผู้สันทัดกรณีในอังกฤษได้ออกโรงมาช่วยกันชี้แจงถึงข้อกำหนดตามกฎมณเฑียรบาล ท่านผู้ชมในอเมริกาและทั่วโลกจึงได้รับความกระจ่าง ดรามาเรื่องความเป็นปรินซ์ของพระโอรสอาร์ชีก็ถูกสยบลงไป
ดรามาการเรียกร้องสิทธิเพื่อให้ลูกๆ ของปรินซ์แฮร์รีได้เป็นเจ้าชายและเจ้าหญิง อุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกันยายน 2022 หลังจากที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงขึ้นครองราชย์ จึงส่งผลให้ทั้งสองพระองค์เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับพระฐานันดรศักดิ์ด้วยฐานะหลานปู่ของคิง
ในการนี้ เดลิเมลออนไลน์รายงานว่าทั้งปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกนต่างมีท่าทีที่จะไม่ปฏิเสธสิทธิดังกล่าว
และหลังจากสองมหกรรมดรามาสุดแซ่บ ที่เล่นงานสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ทวีคูณด้วยความหวั่นพระทัยว่าพระเจ้าชาร์ลส์จะโต้ตอบด้วยการลบสิทธิของเด็กๆ ปรินซ์และพระชายาทรงประกาศออกสื่อเมื่อ 8 มีนาคม 2023 ให้โลกได้ทราบถึงการตัดสินพระทัยให้ลูกๆ ใช้คำว่าเจ้าหญิง เจ้าชาย ในคราวการแถลงข่าวพระธิดาลิลีเบตทรงรับศีลล้างบาปเข้าเป็นคริสตชน
ด้านผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์ อแมนดา พลาเทลล์ คอลัมนิสต์ของเดลิเมลออนไลน์ ตั้งคำถามแบบฟันแสกหน้าว่า
“หลังจากที่ทั้งสองทรงตั้งข้อกล่าวหาเล่นงานพระราชวงศ์อังกฤษจนอื้อฉาวไปทั่วโลก ทั้งในข้อกล่าวหาว่าพระราชวงศ์เป็นพวกเหยียดผิว เป็นคนเย็นชา ไม่ใส่ใจความรู้สึกของพระชายาเมแกน จนทำให้ทั้งสองต้องหนีให้พ้นออกไปจากประเทศอังกฤษ
“แล้วพระองค์ทรงให้พระนามแก่พระธิดาลิลีเบตด้วยคำว่าเจ้าหญิงทำไม ในเมื่อพระองค์ได้หนีออกจากกรงทองแห่งวิถีชีวิตพระราชวงศ์ไปตั้งนานตั้งไกลแล้ว
ยิ่งกว่านั้น พระนามว่า “เจ้าหญิงลิลีเบต ไดอานา” ประกอบขึ้นพระนามของควีนเอลิซาเบธ ผู้เป็นพระเจ้าทวด กับพระนามของเจ้าหญิงไดอานา ผู้เป็นคุณย่า แต่มิได้นำชื่อของคุณยายดอเรียผู้เป็นสามัญชนเชื้อสายแอฟริกัน มาใช้เป็นพระนามของพระธิดาเลย
ปรินซ์แฮร์รีทรงชัดเจนว่าไม่ปฏิเสธฐานันดรของลูกๆ แต่ทรงออกพระอาการ “เกี่ยง”ให้วังหลวงประเคน
ในช่วงเดือนกันยายน 2022 ซึ่งพระราชนิกูลทุกพระองค์ต่างเหน็ดเหนื่อยกับการพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 สำนักพระราชวังมิได้ทำการปรับปรุงข้อมูลบนเว็บไซต์วังหลวงเกี่ยวกับพระโอรสอาร์ชีและพระธิดาลิลีเบต
ฝ่ายต่างๆ อ่านออกว่านี่คือการที่วังหลวงยังไม่รับรองฐานันดรของเจ้าชายและเจ้าหญิงพระองค์ใหม่นั่นเอง พร้อมนี้ สื่อมวลชนเริ่มนำเสนอข่าวในเชิงตั้งคำถามว่าทั้งสองทรงเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงเต็มตัวแล้วหรือยัง และรายงานด้วยว่าการเจรจาเรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
ดิเอ็กซ์เพรสสื่อค่ายใหญ่ที่ทรงอิทธิพล ได้นำเสนอข้อมูลจาก โรยา นิกคา บรรณาธิการข่าวพระราชวงศ์ ค่ายเดอะซันเดย์ไทมส์ ซึ่งเล่าว่า
“ตามที่ดิฉันเข้าใจนะคะ ได้มีการหารือในเรื่องนี้ระหว่างพระราชบิดากับพระราชโอรสซึ่งขณะนั้นยังประทับอยู่ในอังกฤษ แล้วคิงชาร์ลส์ทรงถามว่า ‘ลูกอยากให้เรื่องนี้เป็นอย่างไร’ ปรินซ์แฮร์รีทรงตอบว่า ‘ผมอยากให้อาร์ชีและลิลีเบตได้ตัดสินใจเรื่องยศและฐานันดรด้วยตนเองเมื่อพวกเค้าโตเป็นผู้ใหญ่ มันไม่ควรเป็นผมที่จะไปตัดสินใจแทนพวกเค้า และเราสามารถทำให้เป็นอย่างนั้นได้ก็ด้วยวิธีเดียว คือ รักษาไว้ก่อน”
การเจรจาจบลงอย่างนั้น โดยไม่มีการสรุปเป็นรูปธรรมชัดๆ ว่า จะ “รักษาไว้ก่อน” ในรูปแบบใด เพราะในทางปฏิบัตินั้น สามารถเป็นได้หลายรูปแบบ เช่น
1. พักเรื่องไป จนกว่าเด็กๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และตัดสินใจชีวิตของตนเอง
2. พักเรื่องไป จนกว่า พระบิดาแฮร์รีกับพระมารดาเมแกนจะแจ้งความประสงค์ออกมาว่าต้องการให้ลูกๆ ได้พระฐานันดรศักด์หรือไม่
3. สำนักพระราชวังดำเนินการให้เลย โดยมอบพระฐานันดรศักดิ์ผ่านการรับรองบนเว็บไซต์วังหลวง
สิ่งที่ปรากฏตลอด 6 เดือนนับจาก 9 กันยายน 2022 จึงเป็นความอึมครึม
เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาทรงหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับตรงไปตรงมา ว่าต้องการให้ลูกๆ ได้การรับรอง ทั้งนี้ ใจจริงส่วนลึกของพระองค์น่าจะต้องการรูปแบบที่ 3
เพราะการยอมรับไปตรงๆ ย่อมหมายถึงการกลืนน้ำลายตนเอง เนื่องจากเคยติเตียนว่าร้ายสถาบันฯ ไว้อย่างหนักหนา และได้สร้างภาพลักษณ์ไว้มหาศาลว่าชิงชังวิถีชีวิตเจ้าชาย อีกทั้งยังได้หลีกหนีออกจากสถาบันฯ ไปทำธุรกิจแบบที่นำข้อมูลของพระราชวงศ์ (ซึ่งมีความจริง-ความเท็จอย่างไรก็ยังไม่แน่นอน) ไปเล่าสู่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับค่าตอบแทนมหาศาล
เหนืออื่นใด มันคือการเสียหน้าอย่างร้ายกาจ และฟ้องชัดเจนว่าภาพลักษณ์ฮีโรต่อต้านสถาบันกษัตริย์ที่สร้างสมไว้นานปี คือ ไม่จริง และหลอกๆ
ในการนี้ ได้มีการปรับปรุงอนุประโยคที่ว่า “รักษาไว้ก่อน” ให้ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการที่สื่อค่ายเดอะไทมส์ นำเสนอข่าว “ฟันธง” เลยว่า:
ปรินซ์แฮร์รีปรารถนาที่จะให้ลูกๆ ตัดสินใจเองเมื่อแต่ละคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเรื่องนี้จะเป็นไปได้ถ้าลูกๆ ได้รับอนุญาตให้ครองฐานันดรตั้งแต่ปัจจุบันนี้เลย จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ค่อยตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะสละทิ้งไป หรือจะดำรงเอาไว้” อย่างไรก็ตาม แท็กติกนี้ไม่สามารถทำให้เกิดรูปแบบที่ 3 ได้
ด้านสำนักพระราชวังพิจารณาว่าพระฐานันดรศักดิ์ เป็นเรื่องสำคัญ มิใช่เกียรติยศที่จะนำไปแจกกันง่ายๆ โดยผู้ที่ได้รับไป ต้องมีความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์
“ถ้าจะมีการรับรองฐานันดร ก็ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับเงื่อนไข คิงชาร์ลส์น่าจะทรงยืนกรานว่า หากปรินซ์แฮร์รีและพระชายาตัดสินใจขอรับฐานันดรจากสถาบันฯ ทั้งสองต้องเคารพต่อสถาบันฯ ค่ะ เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคิงชาร์ลส์” แคที นิโคล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The New Royals (หนังสือปี 2023) วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และย้ำด้วยว่า “ฐานันดรและอิสริยยศเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าสำหรับพระเจ้าชาร์ลส์” รายงานข่าวของดิเอ็กซ์เพรสนำข้อมูลมาเสนอ
ตลอดที่ผ่านมา ปรินซ์และพระชายาทรงมิได้เคารพในสถาบัน จึงเป็นธรรมดาที่สำนักพระราชวังจะรอให้ทั้งสองพระองค์ยอมรับออกมาว่าความเป็นเจ้าชาย/เจ้าหญิงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า และทรงต้องการพระเกียรติยศนี้
ดังนั้น ระหว่างที่ปรินซ์ยังไม่สามารถประกาศการตัดสินใจออกมา ก็เท่ากับว่าต้องใช้รูปแบบที่ 1 แม้พระองค์ต้องค้างเติ่งอยู่ในความหวั่นไหว อันได้แก่
- ประเด็นที่ วานิตี แฟร์ นำเสนอว่า การรับรองฐานันดรของลูกๆ ปรินซ์แฮร์รี ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างเช่น “เนื้อหาในหนังสือบันทึกความทรงจำของเจ้าชายแฮร์รี อีกทั้งเนื้อหาในภาพยนตร์ซีรีส์สารคดีHarry and Meghan”
- นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่ว่าคิงชาร์ลส์ทรงมีพระราชดำริที่จะขับเคลื่อนพระวิสัยทัศน์เรื่องการลดจำนวนพระราชนิกูล เพื่อให้สถาบันกษัตริย์มีความผอมเพรียว และเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาร์ชีและลิลีเบตถูกตัดสิทธิ์
- และเหนืออื่นใด คือประเด็นแห่งความเสียหน้าขั้นสุดที่สองพระองค์อาจจะถูกบรรดาคู่แค้น-คู่อาฆาตทั้งปวงเย้ยหยันว่าโลภมากจนทิ้งศักดิ์ศรี ที่ไปเกลียดตัวเขา แต่กลับต้องยอมค้อมศีรษะให้เขา เพราะอยากได้ผลประโยชน์จากเขา
ในที่สุด ก็ยอมรับว่าทรง “Want” ฐานันดร ปิดฉากการรักษาหน้า เลิกเกี่ยงให้สถาบันฯ ประเคนให้แบบไม่มีเงื่อนไข
ในที่สุด ปรินซ์แฮร์รีและพระชายาทรงยุติการรอ ทรงกลับมาเรียกร้องทวงสิทธิให้ลูกๆ ได้พระฐานันดร ซึ่งใครๆ ก็ทราบดีว่าสิ่งนี้เป็น “หัวโขนเกียรติยศ” ที่ทรงคุณค่าสูงล้ำทั้งในทางสังคมและทางการเงินการธุรกิจ
โดยในวันที่ 8 มีนาคม 2023 ที่มีการแถลงข่าวว่า “เจ้าหญิง”ลิลีเบต ทรงรับศีลล้างบาป ได้มีการยืนยันความชอบธรรมที่จะให้พระธิดามีคำว่าเจ้าหญิงนำหน้าพระนามโดยไม่ต้องรอการรับรองจากสถาบัน
ดรามาจบลงด้วยดี ตามข้อตกลงดั้งเดิมตั้งแต่เดือนกันยายน คือเมื่อพระราชโอรสแฮร์รียอมรับว่าทรงต้องการให้ลูกๆ ได้รับพระฐานันดรศักดิ์ พระราชบิดาก็ทรงพระราชทานให้
แต่ก็มีคำถามสำคัญรอคอยอยู่เรียบร้อยแล้ว คือ ถ้าทั้งสองพระองค์หวนกลับไปกระทำการจาบจ้วงหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วจะอย่างไร
มาร์ลีน โคนิก นักประวัติศาสตร์ที่ดิเอ็กซ์เพรสไปสัมภาษณ์ มีคำตอบ
อาจารย์โคนิกบอกว่าการให้พระฐานันดรศักดิ์เป็นอะไรที่ง่ายดายพอๆ กับการยกเลิก
พระราชหัตถเลขาซึ่งสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงออกในปี 1917 เพื่อแก้ไขกฎมณเฑียรบาล ได้ทำให้เจ้าชายวัย 3 ขวบ พระองค์หนึ่ง พ้นจากพระฐานันดรมาแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของพระทายาทในชั้นเหลนที่มีสิทธิเป็นเจ้าชาย ด้วยการจำกัดไว้ให้เฉพาะเหลนของกษัตริย์ ที่ประสูติจากลูกชายคนโตของปรินซ์ออฟเวลส์ เจ้าชายวัย 3 ขวบ ผู้เป็นพระโอรสที่ประสูติจากลูกชายคนที่สองของปรินซ์ออฟเวลส์ ก็ขาดคุณสมบัติไปทันที และพ้นออกจากพระฐานันดรศักดิ์เจ้าชายอย่างง่ายๆ และรวดเร็ว
นอกจากนั้น ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ กรณีของพระโอรสแห่งปรินซ์เอ๊ดเวิร์ด พระราชโอรสของควีนเอลิซาเบธ ก็ทรงไม่ได้ “ปรินซ์” โดยสำนักพระราชวังออกประกาศกำหนดฐานันดรศักดิ์ให้เป็นไวเคาท์ ตามตำแหน่ง เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์ ของปรินซ์เอ๊ดเวิร์ด
ในปมเกี่ยวกับพลังการป่วนสถาบันฯซึ่งเจ้าชายแฮร์รีและพระชายาดำเนินการบ่อยๆ นั้น ผู้สันทัดกรณีตลอดจนนักวิเคราะห์มักที่จะกดดันให้สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงใช้มาตรการไม้แข็งและความเด็ดขาด แต่กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงมีความลุ่มลึกกับปัญหาจากปรินซ์แฮร์รี ทรงอดทนอดกลั้นอย่างมากมาย เพื่อที่จะให้ปรินซ์ได้ประจักษ์ด้วยพระองค์เองว่า ในที่สุดนั้น เครื่องมือเล่นงานพระราชวงศ์ก็ไม่สู้จะมีพิษสง หนำซ้ำยังเป็นการด้อยค่าตัวพระองค์เอง
การเรียนรู้จากความผิดพลาด จะทำให้ปรินซ์ทรงเข้าใจชีวิตมากขึ้นตามลำดับ ละม้ายกับช่วงที่ปรินซ์เคยเป็นวัยรุ่นเจ้าปัญหา ที่สามารถสรุปบทเรียน และเต็มใจเปลี่ยนแปลงตนเอง
ดังนั้น ท่านผู้ชมย่อมจะได้เห็นศึกวินด์เซอร์ส กันอีกหลายเอพพิโซดทีเดียว กว่าที่กษัตริย์ชาร์ลส์จะสามารถกอบกู้พระราชโอรสขึ้นมาจากพฤติกรรมการทำร้ายตนเองโดยไม่รู้ตัว ได้สำเร็จ
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เดลิเมล ออนไลน์ ดิเอ็กซ์เพรส ยูเค วานิตี แฟร์ Page Six)