ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านกลาโหมในกรุงปักกิ่ง เผยแบบจำลองการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) จากเกาหลีเหนือไปสหรัฐฯ โดยพบว่าขีปนาวุธโสมแดงอาจเดินทางไปถึงตอนกลางของสหรัฐอเมริกาได้ด้วยเวลาเพียง 1,997 วินาที หรือประมาณ 33 นาที หากระบบป้องกันของสหรัฐฯ ไม่สามารถยิงสกัดได้ทัน
งานวิจัยชิ้นนี้ตั้งสมมติฐานว่า เกาหลีเหนือใช้ขีปนาวุธรุ่น “ฮวาซอง-15” (Hwasong-15) ซึ่งถูกนำมาเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2017
Tang Yuyan หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันวิศวกรรมระบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Institute of Electronic System Engineering) ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำด้านอุตสาหกรรมอากาศยานและการป้องกันประเทศของจีน ระบุว่า ฮวาซอง-15 ซึ่งเป็นขีปนาวุธนำวิถีแบบ 2 ช่วง (two-stage) และมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ มีพิสัยเดินทางประมาณ 13,000 กิโลเมตร “ซึ่งมากพอที่จะโจมตีเป้าหมายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ได้ทุกแห่ง”
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Modern Defense Technology ภาคภาษาจีนเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ทีมวิจัยของ Tang ได้สร้างแบบจำลองให้ขีปนาวุธฮวาซอง-15 ถูกยิงจากเมืองซุนซอน (Sunchon) ในจังหวัดพยองันใต้ทางตอนกลางของเกาหลีเหนือ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองโคลัมเบียในรัฐมิสซูรีของสหรัฐฯ
ทีมวิจัยจีนระบุว่า ศูนย์บัญชาการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ จะได้รับการแจ้งเตือนภายใน 20 วินาที จากนั้นขีปนาวุธสกัดกั้นชุดแรกจะถูกยิงออกจากเมืองฟอร์ตกรีลีย์ (Fort Greely) ในรัฐอะแลสกาภายใน 11 นาที ซึ่งหากยิงสกัดไม่สำเร็จ จะมีขีปนาวุธสกัดกั้นชุดที่สองถูกยิงออกจากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือจะสามารถยิงถล่มเมืองเล็กๆ ในสหรัฐฯ ที่มีประชากรเพียง 120,000 คนได้หรือไม่ยังคงเป็นคำถามอยู่ แต่แบบจำลองชี้ว่า เครือข่ายขีปนาวุธสกัดกั้นของสหรัฐฯ แม้จะแข็งแกร่งรัดกุมขนาดไหน ก็ยังมีช่องโหว่ในระบบ ‘kill chain’ ที่ฝ่ายศัตรูอาจค้นพบและใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้
ทีมวิจัยของ Tang ระบุว่า การศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินว่าระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพในการปกป้องดินแดนอเมริกามากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามันสามารถรับมือกับขีปนาวุธทิ้งตัวแบบดั้งเดิมอย่างฮวาซอง-15 ได้ดีพอสมควร และยังมีการวางระบบป้องกันแบบ “ซ้ำซ้อน” (redundancy) ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับมือภัยคุกคามที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี แบบจำลองของ Tang พบว่า แพลตฟอร์มสอดแนมในอวกาศ มหาสมุทร และภาคพื้นดินของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำงาน “สมบูรณ์แบบ” เสียทีเดียว และยังสูญเสียการติดตามขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้ในบางช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่ขีปนาวุธกำลังไต่ระดับขึ้น (ascent) และทิ้งตัว (descent) ขณะอยู่ในวงโคจรระยะ midcourse
ทีมวิจัยระบุว่า หากเกาหลีเหนือระดมยิงขีปนาวุธที่ติดตั้งหัวรบจริง หรือหัวรบปลอม (decoys) พร้อมกันเกินกว่า 40 หัวรบขึ้นไป ระบบป้องกันของสหรัฐฯ อาจจะเกิดภาวะ overwhelmed จนไม่สามารถรับมือได้
ทีมวิจัยของ Tang ยังได้สร้างแบบจำลองให้เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธถล่ม “เกาะกวม” ซึ่งเป็นฐานทัพขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งจากการประเมินพบว่า ต่อให้สหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธสกัดกั้น 4 ระลอกออกมาจากฐานทัพต่างๆ เช่น ในญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ก็อาจพลาดเป้าหมาย หากขีปนาวุธโสมแดงถูกยิงในวิถีที่ไม่ปกติ (unusual trajectory) และบินอยู่ในชั้นบรรยากาศระดับสูงมาก
“เกาหลีเหนือกำลังพัฒนาขีปนาวุธร่อนไฮเปอร์โซนิกที่สามารถเปลี่ยนทิศทางในอวกาศได้ และปัจจุบันสหรัฐฯ ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะจัดการ (เป้าหมายลักษณะนี้) ในชั้นบรรยากาศระดับ near space” ทีมของ Tang ระบุ
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยจีนเชื่อว่าระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ จะได้รับการพัฒนาปรับปรุงขึ้นอย่างมากภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ที่มา : SCMP