xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเงินเฟ้อหรือธุรกิจแบงก์พังครืน! ธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอทาง 2 แพร่ง จัดการปัญหาที่ตนเองเป็นคนก่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ) เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
การพังครืนอย่างฉับพลันของซิลลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (เอสวีบี) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยุติวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปัจจุบันเร็วกว่าคาดหมาย แต่ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของเฟดในการสยบภาวะเงินเฟ้อระดับสูง

พวกนักลงทุนและนักวิเคราะห์ซึ่งเคยคาดการณ์ว่าเฟดจะเร่งความเร็วในอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เวลานี้ได้กลับลำคำทำนาย และตอนนี้มีบางส่วนถึงขั้นประมาณการว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมในที่ประชุมนัดถัดไปสัปดาห์หน้า

เหตุล่มสลายของ SVB ทำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ในสถานะที่ยากลำบาก ในขณะที่พวกเขากำลังหาทางจัดการกับเงินเฟ้อที่ยังอยู่เหนือระดับเป้าหมาย โดยไม่ให้ก่อความปั่นป่วนวุ่นวายเพิ่มเติมแก่ภาคธนาคาร

ภาวะล่มสลายของ SVB และซิกเนเจอร์แบงก์ ซึ่งมีสำนักงานในนิวยอร์ก ถือเป็นการพังครืนของภาคธนาคารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงิน 2008

การตัดสินใจของ SVB ที่นำเงินฝากของบรรดาลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจสตาร์ทอัป ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ทำให้ธนาคารแห่งนี้อ่อนแอต่อความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ยามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเมื่อปีที่แล้ว

ครั้งที่ยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์สิ้นสุดลง เงินทุนของบรรดาบริษัทสตาร์ทอัปถูกผลาญอย่างรวดเร็ว และพวกลูกค้าของ SVB เริ่มถอนเงินของตนเองไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ มันส่งผลให้ทางธนาคารแห่งนี้ไม่มีทางเลือกอื่นๆ ยกเว้นแต่ยอมรับการขาดทุนในพันธบัตร ซึ่งมันโหมกระพือการแห่ถอนเงินด้วยความตื่นตระหนกของบรรดาผู้ฝากเงิน

ด้วยที่มีความคาดหมายว่าเฟด จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระหว่างการประชุมในสัปดาห์หน้า แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ เมื่อเดือนที่แล้วสู่ระดับ 6.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี จึงมีความกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ อาจเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก

เวลานี้นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ และเวลล์ส ฟาร์โก คาดการณ์ว่าเฟดจะลงมติสิ้นสุดวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 22 มีนาคม แต่นักเศรษฐศาสตร์จากเจพี มอร์แกน และออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ มองว่าเฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยลงเพียง 0.25%

เจ้าหน้าที่ด้านการเงินของสหรัฐฯ เปิดตัวมาตรการต่างๆ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายกอบกู้ความเชื่อมั่นในภาคธนาคารและสยบความปั่นป่วนในตลาด

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เฟด และสถาบันรับประกันเงินฝากสหรัฐฯ (เอฟดีไอซี) วางกรอบแผนการสำหรับรับประกันว่าบรรดาลูกค้าของเอสวีบีจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของพวกเขาทั้งหมดในธนาคารแห่งนี้ เช่นเดียวกับบรรดาผู้ฝากเงินของซิกเนเจอร์ แบงก์

นอกจากนี้ เฟดยังได้เปิดตัวกลไกกู้ยืมใหม่สำหรับสถาบันการเงินทั้งหลายในความพยายามป้องกันไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยการล่มสลายอย่างฉับพลันของเอสวีบี อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันในวันจันทร์ (13 มี.ค.) ว่าแม้สหรัฐฯ เคลื่อนไหวปกป้องเงินฝากของลูกค้า แต่จะไม่มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักลงทุนของธนาคารแต่อย่างใด "พวกเขายอมรับและรับรู้ถึงความเสี่ยง และเมื่อการเสี่ยงไม่ประสบผลสำเร็จ นักลงทุนก็ขาดทุน นั่นคือลักษณะของทุนนิยม"

คำแถลงเมื่อวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) ได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากตลาดการเงิน และแนสแดค ปิดบวก 2.1% ในวันอังคาร (14 มี.ค.) เคลื่อนไหวในแดนบวกต่อเนื่องจากหนึ่งวันก่อนหน้านั้น

ในส่วนหุ้นของบรรดาสถาบันการเงินระดับท้องถิ่นซึ่งร่วงลงอย่างหนักทันที ตามหลังการพังครืนของเอสวีบี ฟื้นตัวกลับคืนมาได้บางส่วนในวันอังคาร (14 มี.ค.)

หนึ่งในบรรดาที่มองว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ไรอัน สวีท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ที่บอกว่ามันไม่ใช่เวลาที่เฟดจะมาหยุดแผนงานกระชับนโยบายการเงิน "ด้วยที่เงินเฟ้อยังคงอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% ยังเร็วเกินไปที่จะหยุดในวัฏจักรกระชับนโยบายการเงินหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย" เขากล่าว

ก่อนหน้านี้มีความคาดหมายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ หลังจาก เจอโรม พาวเวล ออกมาเตือนเมื่อวันพุธที่แล้ว (8 มี.ค.) ว่าเฟดเตรีมพรัอมสำหรับเร่งอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย ยามที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างกว้างขวาง

แต่การพังครืนของธนาคารเอสวีบี ไม่กี่วันหลังจากนั้น ได้เปลี่ยนมุมมองของบรรดานักลงทุน

ตามการคาดการณ์ของซีเอ็มอี กรุ๊ป เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเลย แม้ส่วนใหญ่เวลานี้ประมาณการว่าน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย

"สำหรับตอนนี้เรายังคงคาดการณ์สำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม แต่เรามองมันว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากและอย่างฉิวเฉียด" บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากดอยช์แบงก์ให้ความเห็น

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น