รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - โซลกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า พบเกาหลีเหนือยิงมิสไซล์พิสัยใกล้ 2 ลูก เมื่อเวลา 07.15 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคาร (14 มี.ค.) เป็นการยิงครั้งแรกจากเขตจางยอน (Jangyon) ออกเดินทางไกล 620 กิโลเมตร ตกลงในทะเลตะวันออก หลังวันจันทร์ (13 มี.ค.) ยิงมิซไซล์จากเรือดำน้ำ เกิดขึ้นระหว่างกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ กำลังฝึกซ้อมปฏิบัติการ Freedom Shield 23 การซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถของกองกำลังในการตอบโต้วิกฤต พร้อมกับนาวิกโยธินสหรัฐฯ ฝึกใช้การขนส่งหลายช่องทางเข้าสู่เกาหลีใต้หากเกิดการโจมตี
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (14 มี.ค.) ว่า กองทัพเกาหลีใต้อยู่ในความพร้อมขั้นสูงในการประสานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ คณะเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ JCS กล่าวผ่านแถลงการณ์วันอังคาร (14)
เกิดขึ้นหลังเกาหลีใต้ประกาศพบเปียงยางเปิดฉากยิงมิสไซล์พิสัยใกล้อีกครั้งในวันนี้ (14) เป็นการยิงเมื่อเวลา 07.41 น. และเวลา 07.51 น.ตามเวลาท้องถิ่น ออกมาจากเทศมณฑลจางยอน (Jangyon) บินไกล 620 กิโลเมตรไปทางฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือก่อนที่จะตกลงในทะเลตะวันออก
หนังสือพิมพ์โคเรียเฮอรัลด์ของเกาหลีใต้รายงานว่า เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดี คิม จองอึน ยิงมิสไซล์ออกมาจากเทศมณฑลจางยอน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ติดต่อกับเขตบัฟเฟอร์โซนทางทะเลของ 2 ชาติเกาหลี
ในการแถลงของ JCS ไม่ได้เปิดเผยว่า มีสิ่งปลูกสร้างทางการทหารในพื้นที่บริเวณนี้ด้วยหรือไม่
“เกาหลีเหนือมีความตั้งใจจะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นด้วยการยิงมิสไซล์จากพื้นที่ซึ่งติดกับเขตบัฟเฟอร์โซนทางทะเลระหว่างเหนือและใต้ที่ถูกกำหนดขึ้นตามข้อตกลงทางการทหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.” นักวิเคราะห์อาวุโสประจำฟอรัมความมั่นคงและการป้องกันเกาหลีใต้ KODEF (Korea Defense and Security Forum) ในกรุงโซลแสดงความเห็น
ซึ่งการยิงทดสอบล่าสุดส่งผลทำให้เป็นการยิงมิสไซล์ของเปียงยางครั้งที่ 3 ภายใน 6 วันและ 1 วันหลังเปียงยางยิงทดสอบมิสไซล์ออกมาจากเรือดำน้ำเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันที่ปฏิบัติการซ้อมรบ Freedom Shield 23 ย่างเข้าสู่วันที่ 2 เป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ในรอบ 5 ปี อ้างอิงจาก Defence Post
รอยเตอร์รายงานว่า กองบัญชาการกองกำลังอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ (U.S.Indo-Pacific Command) แถลงว่า การทดสอบมิสไซล์ของเกาหลีเหนือล่าสุดไม่ส่งผลต่อกองกำลังสหรัฐฯ หรือดินแดน และรวมไปถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ
ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอ คิชิดะ แถลงกับนักข่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และไม่พบรายงานเบื้องต้นถึงความเสียหายต่อเขตน่านน้ำญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฮิโรคาซุ มัตสึโนะ (Hirokazu Matsuno) แถลงว่า มิสไซล์เปียงยางที่ยังไม่มีการยืนยันบินตกลงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น
การฝึกซ้อมรบปฏิบัติการ Freedom Shield 23 เป็นเวลา 11 วัน เริ่มมาตั้งแต่วันจันทร์ (13) เป็นการซ้อมที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามเกาหลีเหนือ
อ้างอิงจากเว็บไซต์กองบัญชาการกองกำลังอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ หรือ PACOM ที่มีแถลงข่าวในวันจันทร์ (13) พบว่า ฝ่ายสหรัฐฯ ส่งกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ทั้งประจำในญี่ปุ่น และมาจากสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการฝึกที่ออกแบบการฝึกซ้อมเพื่อทำให้กองกำลังสามารถตอบโต้ต่อวิกฤตเร็วที่สุด
นาวิกโยธินสหรัฐฯ จากกองกำลังในโอกินาวา ญี่ปุ่น และหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่มีฐานอยู่ในอเมริกา 2 หน่วย ได้แก่ กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ แผนกที่ 1 (1st Marine Division) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย และกองกำลังหน่วย I Marine Expeditionary Force ซึ่งเป็นหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ชุดพิเศษที่มีภารกิจปฏิบัติการในต่างแดนโดยเฉพาะเข้าร่วมการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยกองกำลังนาวิกโยธินเกาหลีใต้ และกลายเป็นหน่วยใหม่ภายใต้ชื่อ CMCC ซึ่งในการฝึกซ้อมจะเปิดตัวเลือกที่มีความยืดหยุ่นให้ผู้นำของกองบัญชาการกองกำลังผสม (Combined Forces Command) หรือ CFC ในการวางแผนกองกำลังจากทางทะเลเพื่อปกป้องคาบสมุทรเกาหลี
ซึ่งในคำแถลงย้ำว่า ในการฝึกซ้อมภายใต้ปฏิบัติการกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ จะใช้ช่องทางการขนส่งหลากหลายช่องทางในการเข้าสู่เกาหลีใต้จากฐานที่ตั้งของหน่วยตัวเอง รวมถึงเครื่องบิน Marine Corps KC-130J และเรือรบลำเลียงความเร็วสูง the USNS Guam
ทั้งนี้ วันอาทิตย์ (12) สำนักข่าวทางการเกาหลีเหนือ KCNA รายงานว่า เปียงยางตัดสินใจจะใช้มาตรการป้องปรามสงครามในเชิงปฎิบัติครั้งใหญ่ พร้อมกับชี้ว่า การยั่วยุสงครามที่มาจากสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ได้มาถึงเส้นแดงแล้ว