หน่วยงานกำกับการเงินของสหรัฐฯ สั่งปิดธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในนิวยอร์กที่เน้นปล่อยกู้ให้แก่บริษัทคริปโตเคอร์เรนซี เมื่อวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตธนาคารลุกลามออกไป
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation - FDIC) ระบุในคำแถลงร่วมว่า “เราขอประกาศข้อยกเว้นความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk exception) สำหรับธนาคารซิกเนเจอร์ในนิวยอร์ก ซึ่งได้ถูกหน่วยงานระดับรัฐสั่งปิดแล้วในวันนี้”
หน่วยงานกำกับการเงินทั้ง 3 แห่งยืนยันว่า ผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารซิกเนเจอร์จะสามารถเข้าถึงเงินฝาก “เต็มจำนวน” ได้เช่นเดียวกับบรรดาลูกค้าธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley Bank - SVB) ที่ล้มไปก่อนหน้าเพียง 2 วัน
“ผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารแห่งนี้ทุกรายจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน เช่นเดียวกับมาตรการที่ใช้กับธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ และจะไม่มีการนำเงินภาษีของประชาชนมาแบกรับความเสียหาย” คำแถลงระบุ
ธนาคารซิกเนเจอร์เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยกู้ให้แก่อุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี และเป็นรองเพียงธนาคารคู่แข่งอย่างซิลเวอร์เกต (Silvergate) ที่เพิ่งประกาศแผนเทขายสินทรัพย์ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตามข้อมูลจากหน่วยงานกำกับด้านการเงินแห่งรัฐนิวยอร์ก (New York state's Department of Financial Services) ณ วันที่ 31 ธ.ค.ปีที่แล้ว ระบุว่า ธนาคารซิกเนเจอร์มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 110,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นเงินฝาก 88,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การสั่งปิดธนาคารซิกเนเจอร์มีขึ้นเพียง 2 วัน หลังจากที่ธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ในรัฐแคลิฟอร์เนียต้องยุติกิจการลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10) ซึ่งถือเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่กรณีธนาคาร Washington Mutual ล้มเมื่อปี 2008 และยังถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (retail bank) ใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกาที่ต้องปิดตัวลง
FDIC ได้ประกาศจัดตั้งกลไกที่เรียกว่าธนาคาร “สะพาน” (bridge bank) ขึ้นในวันอาทิตย์ (12) เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารซิกเนเจอร์สามารถเข้าถึงเงินฝากได้ในวันจันทร์ (13) โดยผู้ฝากเงินและผู้ที่กู้ยืมเงินทุกรายจะถูกโอนมาเป็นลูกค้าของธนาคารสะพานแห่งนี้โดยอัตโนมัติ
ที่มา : CNBC, รอยเตอร์