xs
xsm
sm
md
lg

ใครรวย!? พบยุโรปนำเข้าอาวุธเพิ่มเกือบเท่าตัวในปี 2022 ผลจากการส่งมอบอาวุธช่วยยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยุโรปนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2022 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งมอบขนานใหญ่ไปให้ยูเครน ซึ่งกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางของการขนส่งอาวุธใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก จากการเปิดเผยของบรรดานักวิจัยในวันจันทร์ (13 มี.ค.) ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงครองหมายเลข 1 ของโลกในด้านการส่งออกอาวุธ และมียอดส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ด้วยตัวเลขเพิ่มขึ้น 93% จากหนึ่งปีก่อนหน้านี้ ยอดการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากการเร่งใช้จ่ายด้านการทหารของบรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรป ในนั้นรวมถึงโปแลนด์และนอร์เวย์ ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) พร้อมคาดหมายว่าอัตราการนำเข้าอาวุธจะเพิ่มขึ้นเร็วว่านี้อีก

"การรุกรานคือสาเหตุที่แท้จริงของอุปสงค์อาวุธที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบยิ่งกว่านี้ และมีความเป็นไปได้อย่างที่สุดว่ามันจะนำมาซึ่งการนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นของประเทศต่างๆ ในยุโรป" เปียเตอร์ เวเซมัน นักวิจัยระดับอาวุโสของ SIPRI บอกกับเอเอฟพี

ก่อนหน้าการรุกรานของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ยูเครนนำเข้าอาวุธเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ในปี 2022 ประเทศแห่งนี้กลายมาเป็นจุดหมายปลายทางของอาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากกาตาร์และอินเดีย เนื่องจากบรรดาชาติตะวันตกจัดหาส่งมอบอาวุธป้อนประเทศแห่งนี้ ตามหลังการรุกรานของรัสเซีย

แค่เพียงยูเครนประเทศเดียวคิดเป็นสัดส่วน 31% ของการส่งออกอาวุธของยุโรป และคิดเป็น 8% ของการส่งมอบอาวุธโดยรวมทั่วโลก จากข้อมูลของ SIPRI

สถาบันแห่งนี้พบว่าตัวเลขการนำเข้าของยูเครน ในนั้นรวมถึงที่ได้รับบริจาคด้วย เติบโตขึ้นมากกว่า 60 เท่าเมื่อปีที่แล้ว

ในการจัดอันดับการค้าอาวุธทั่วโลก ทางสถาบัน SIPRI ให้การคำนวณจากหน่วยมูลค่าของตนเองแทนดอลลาร์หรือยูโร โดยมันเป็นเรื่องยากลำบากที่จะตีมูลค่าเป็นดอลลาร์ เนื่องจากสัญญาต่างๆ จำนวนมากไม่ค่อยมีการเปิดเผยเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ตัวเลขการค้าอาวุธโดยรวมทั่วโลกพุ่งแตะระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และทาง SIPRI ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว ยอดการใช้จ่ายทางทหารโดยรวมพุ่งเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ตัวเลขประมาณการการใช้จ่ายทางทหารสำหรับปี 2022 ทาง SIPRI จะมีการเผยแพร่ในเดือนเมษายน

การนำเข้าอาวุธของยูเครนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามแนวโน้มก่อนหน้านี้ที่บรรดาชาติต่างๆ ในยุโรปได้เริ่มเติมคลังอาวุธ หลังเกิดความตึงเครียดหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กับรัสเซีย ครั้งที่มอสโกผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014

"ประเทศต่างๆ ในยุโรป ทั้งสั่งซื้อแล้วหรือกำลังจัดหาอาวุธต่างๆ ไล่ตั้งแต่เรือดำน้ำไปจนถึงเครื่องบินประจัญบาน ตั้งแต่โดรนไปจนถึงขีปนาวุธต่อต้านรถถัง จากปืนไรเฟิลไปจนถึงเรดาร์ มีการมองหาทุกๆ อย่าง เพราะแนวคิดคือการเสริมศักยภาพด้านการทหาร ผ่านทุกขอบเขตเทคโนโลยีทางทหารเท่าที่มี"

รายงานของ SIPRI พบว่าในช่วง 5 ปีหลังสุด (2018-2022) ยุโรปนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น สวนทางกับทั้งโลกที่มีการส่งมอบอาวุธลดลง 5%

ต่างจากยุโรป ทวีปอื่นๆ ทุกแห่งล้วนแต่มีตัวเลขการนำเข้าอาวุธลดลงในช่วง 5 ปีหลังสุด โดยทวีปแอฟริกาลดลงอย่างมาก 40% อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ลดลง 20% ส่วนเอเชียลดลง 7% และตะวันออกกลางลดลง 9%

อย่างไรก็ตาม ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกอย่าง ตะวันออกกลางกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางของการส่งออกอาวุธในขวบปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 32% ของตัวเลขรวมทั่วโลก

ตัวเลขของตะวันตกออกกลางแซงหน้าเอเชีย-โอเชียเนีย ซึ่งครองอันดับ 1 มานานหลายปี แต่ตกลงสู่อันดับ 2 ในปี 2022 โดยมียอดนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 30% ของตัวเลขรวมทั่วโลก ส่วนยุโรปมียอดนำเข้าใกล้ๆ กันที่ 27%

จีนยังคงเดินหน้าใช้จ่ายอย่างมหาศาลในด้านการทหาร แต่พวกเขายกระดับกำลังผลิตอาวุธท้องถิ่นเช่นกัน ซึ่งมันนำมาซึ่งตัวเลขการส่งออกไปเอเชียที่ลดลง ตามรายงานของ SIPRI

จุดหมายปลายทางหลักของการส่งมอบอาวุธคือ กาตาร์ (คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดรวมทั่วโลก) อินเดีย (คิดเป็นสัดส่วน 9%) และยูเครน (8%) ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (7%เท่ากัน) และปากีสถาน (5%)

สำหรับชาติผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นสหรัฐฯ (40%) รัสเซีย (16%) ฝรั่งเศส (11%) จีน (5%) และเยอรมนี (4%) ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของยอดการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าส่วนแบ่งของสหรัฐฯ และฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผิดกับ 3 ชาติที่เหลือที่ยอดส่งออกอาวุธในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น