รอยเตอร์ - จีนแต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ หลี่ ฉางฟู ที่เคยถูกอเมริกาแซงก์ชันจากการจัดซื้ออาวุธจากรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญชี้ หลี่จะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองเป้าหมายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการปรับปรุงกองทัพปลดแอกประชาชน (พีแอลเอ) สู่ความทันสมัย
นักการทูตในภูมิภาคหลายคนระบุว่า แม้ตำแหน่งใหม่ในระบบของจีนถูกมองว่ามีนัยทางการทูตและพิธีการเป็นส่วนใหญ่ แต่การแต่งตั้งหลี่ ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากภูมิหลังของเขา อีกทั้งเกิดขึ้นขณะที่วอชิงตันกำลังผลักดันเพื่อฟื้นการเจรจาและการสื่อสารทางการทหารที่ชะงักงัน หลังจากปักกิ่งตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดต่อการเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น
เจมส์ ชาร์ นักวิชาการด้านความมั่นคงของราชรัตนัม สกูล ออฟ อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์ ชี้ว่า ประวัติการเป็นข้าราชการชั้นสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเป็นวิศวกรการบินและอวกาศที่เคยทำงานในโครงการดาวเทียมของจีน จะช่วยให้หลี่มีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของประธานาธิบดีสี ในการทำให้พีแอลเอเป็นกองทัพระดับโลกภายในปี 2049
ปี 2016 หลี่ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการกองกำลังสนับสนุนด้านยุทธศาสตร์ของพีแอลเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่และเป็นหน่วยงานชั้นสูงที่ได้รับมอบหมายให้พัฒนาศักยภาพด้านสงครามอวกาศและไซเบอร์ จากนั้นจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการแผนกพัฒนาอุปกรณ์ของคณะกรรมการกลางการทหาร (ซีเอ็มซี) ที่มีสีเป็นประธาน
ในตำแหน่งดังกล่าว หลี่ถูกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แซงก์ชันเมื่อเดือนกันยายน 2018 จากกรณีการจัดซื้อเครื่องบินรบเอสยู-35 จำนวน 10 ลำ ในปี 2017 และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบขีปนาวุธจากพื้นผิวสู่อากาศเอส-400 จากโรโซโบโรเน็กซ์พอร์ต ผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของรัสเซีย
นักวิชาการด้านความมั่นคงบางคนตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการแซงก์ชันดังกล่าวแม้ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางการประชุมในอนาคต แต่มีแนวโน้มทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น และอาจทำให้ผู้นำทางทหารจีนเป็นต่อ
สัปดาห์ที่แล้วเมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ พันโทมาร์ตี้ ไมเนอร์ส โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตอบว่า กองทัพสหรัฐฯ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อรายงานของสื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้นำของจีน แต่สำทับว่า การเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างกันจะช่วยในการจัดการความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการคำนวณผิดพลาด และจัดการการแข่งขันได้อย่างมีความรับผิดชอบ
โอเรียนา สกายลาร์ มาสโทร นักวิชาการของสถาบันฟรีแมน สปอกลีเพื่อศึกษาการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของอเมริกา กล่าวว่า มีแนวโน้มว่า จีนจะใช้ความได้เปรียบทางการทูตด้วยการแสดงให้เห็นว่า มาตรการแซงก์ชันไม่มีแก่นสารใดๆ ถ้าถูกเพิกเฉย หรือชี้ว่า วอชิงตันเป็นฝ่ายไม่ต้องการเกี่ยวพัน ไม่ใช่ปักกิ่ง เนื่องจากอเมริกามักให้ความสำคัญกับการเกี่ยวพัน ขณะที่จีนมองสิ่งนี้เป็นการยอมอ่อนข้อ
ตำแหน่งของหลี่ในคณะกรรมการกลางการทหารยังตอกย้ำความสัมพันธ์กับสีที่กระชับอำนาจเข้มแข็งในกองทัพ
นักวิชาการบางคนเชื่อว่า หลี่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจาง โหย่วเซี่ย พันธมิตรทางทหารคนสนิทของสีที่เคยเป็นผู้อำนวยการแผนกพัฒนาอุปกรณ์ของคณะกรรมการกลางการทหารมาก่อน
จางได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานซีเอ็มซีคนแรกระหว่างการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งหลี่ได้เข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ที่มีสมาชิก 7 คนในเวลาต่อมา
ในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม มีแนวโน้มว่าหลี่จะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความสัมพันธ์ทางการทหารในเอเชีย และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมผู้นำด้านกลาโหมของเอเชีย และแชงกรี-ลา ไดอะล็อก ซึ่งเป็นการประชุมด้านความมั่นคงอย่างไม่เป็นทางการในสิงคโปร์
อเล็กซานเดอร์ นีลล์ นักวิชาการของกลุ่มคลังสมองแปซิฟิก ฟอรัมในฮาวาย เชื่อว่า การแต่งตั้งหลี่ในตำแหน่งนี้เนื่องจากเขาสามารถตอบสนองความต้องการของสีในส่วนหลักๆ ของการปรับปรุงกองทัพสู่ความทันสมัย และเป็นผู้ที่จะต้องแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาคมโลก