จีนนำหน้ารัสเซียในการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก และบางทีอาจประจำการอาวุธหนึ่งที่มีศักยภาพโจมตีฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากความเห็นของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมแห่งสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
พอล ไฟรทเลอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ แผนกวิเคราะห์ของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมแห่งสหรัฐฯ ให้ปากคำต่อคณะอนุกรรมการด้านอาวุธชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรในวันศุกร์ (10 มี.ค.) ว่า จีนกำลังเสาะแสวงหาขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง (ความเร็วเหนือกว่าความเร็วเสียงเกิน 5 เท่าขึ้นไป) ที่ได้ทำการทดสอบมาตั้งแต่ปี 2014 พร้อมระบุในเดือนกรกฎาคม 2021 อาวุธนี้แสดงให้เห็นว่ามันสามารถบินวนไปรอบโลก
"ทั้งจีนและรัสเซียประสบความสำเร็จในการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิคกมากมาย และมีความเป็นไปได้ว่าอาจประจำการภาคสนามระบบต่างๆ แล้ว จีนกำลังนำหน้ารัสเซีย ทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนและจำนวนของระบบ" ไฟรทเลอร์ ให้ความเห็น
เขากล่าวต่อว่า "จีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและแสนยานุภาพของขีปนาวุธทั่วไปและขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านการมุ่งเน้นอย่างข้มข้น ทั้งในด้านการลงทุน การพัฒนา การทดสอบและการประจำการ"
สถาบันพลศาสตร์อากาศยานแห่งประเทศจีน อ้างว่าพวกเขามีอุโมงค์ลมความเร็วเหนือเสียงอย่างน้อย 3 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพปฏิบัติการได้ ณ ความเร็วเสียง 8 มัค 10 มัค และ 12 มัค
ส่วนรัสเซีย เมื่อเร็วๆ นี้มีระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิก 3 รูปแบบ ในนั้นรวมถึงอาวุธที่ยิงจากทะเลที่พุ่งด้วยความเร็ว 8 มัค นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ใช้อาวุธไฮเปอร์โซนิกยิงโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในยูเครนหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เปิดฉากรุกราน ในนั้นรวมถึงสัปดาห์นี้
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศว่ามีอาวุธดังกล่าวในประจำการ ในขณะที่กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองทัพบก ยังคงอยู่ระหว่างพัฒนาระบบอาวุธนี้แยกกัน
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์/บลูมเบิร์ก)