รัฐบาลเบลเยียมประกาศห้ามใช้แอป TikTok บนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐทุกแห่ง โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ ความเป็นส่วนตัว และการแพร่ข้อมูลบิดเบือน ซึ่งถือเป็นการขานรับนโยบายเดียวกับสหรัฐฯ แคนาดา และบางประเทศในยุโรป ที่เริ่มแบน TikTok มาแล้วก่อนหน้า
สำนักงานของนายกรัฐมนตรี อาเล็กซันเดอร์ เดอ โกร แห่งเบลเยียมประกาศผ่านเว็บไซต์ว่า แอปแชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมของจีนจะถูกห้ามใช้ชั่วคราวบนอุปกรณ์ที่รัฐเป็นเจ้าของหรือจ่ายเงินอุดหนุน เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
ทางด้าน TikTok ได้ออกมาแสดงความผิดหวังต่อคำสั่งแบนของรัฐบาลเบลเยียม ซึ่งบริษัทชี้ว่ามีพื้นฐานมาจากการเผยแพร่ “ข้อมูลบิดเบือน” เกี่ยวกับ TikTok พร้อมยืนยันว่าทาง TikTok พร้อมที่จะเข้าพบเจ้าหน้าที่เบลเยียม “เพื่อคลายความวิตกกังวล และแก้ไขความเข้าใจที่ผิดพลาด”
ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่สัญชาติจีนของ TikTok ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2020 พร้อมยืนยันว่าบริษัทประกอบกิจการนอกจีนแผ่นดินใหญ่ และมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากสถาบันทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานหลัก 3 แห่งของสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงกระทรวงกลาโหมเดนมาร์ก ยังคงสั่งให้พนักงานทุกคนลบแอป TikTok ออกจากอุปกรณ์ที่ใช้ในทางราชการ ขณะที่รัฐบาลแคนาดา และสหรัฐฯ ก็กำหนดนโยบายเดียวกัน
มาตรการแบน TikTok สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันทางเทคโนโลยี และการช่วงชิงความเป็นหนึ่งในทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตก
นายกฯ เดอ โกร ให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลสั่งแบน TikTok ก็เพราะได้รับคำเตือนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ระบุว่าแอปดังกล่าวอาจรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ และบิดเบือนการทำงานของ “อัลกอริธึม” ที่ใช้เผยแพร่เนื้อหาและข่าวสารต่างๆ
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเบลเยียมยังเกรงว่า TikTok อาจถูกจีนใช้เป็นเครื่องมือ “สอดแนม” แต่ก็ไม่ชี้แจงรายละเอียดว่าเพราะอะไรจึงเชื่อเช่นนั้น
“เราอยู่ในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ที่การสอดแนมและการใช้อิทธิพลระหว่างรัฐต่างๆ ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล พูดกันแบบไม่ไร้เดียงสา TikTok ก็คือบริษัทจีน ซึ่งในวันนี้ยังคงต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองของจีน นี่คือความจริง ดังนั้นการห้ามใช้มันบนอุปกรณ์ของรัฐจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล” เดอ โกร ระบุในถ้อยแถลง
TikTok ยืนยันว่า บริษัทเก็บฐานข้อมูลผู้ใช้ไว้ในสหรัฐฯ และสิงคโปร์ และเตรียมที่จะสร้างศูนย์เก็บข้อมูลขึ้นในยุโรปเพื่อบรรเทาความกังวลของรัฐบาลในยุโรปด้วย
“รัฐบาลจีนย่อมไม่มีอำนาจบังคับให้ชาติอธิปไตยอื่น (sovereign nation) ส่งมอบฐานข้อมูลซึ่งถูกเก็บไว้ในดินแดนของประเทศนั้นๆ” TikTok ระบุ
ที่มา : รอยเตอร์