xs
xsm
sm
md
lg

ขายตัวบูชาเทวนารี!! อ้างจะได้พรเมื่อถวายลูกสาวสิบกว่าขวบเป็นเทวทาสีเพื่อให้ชายสูงวัยประมูลไปสวาปาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในประเทศอินเดีย การนำลูกสาวตัวน้อยเข้าสู่วงการโสเภณีเด็กภายใต้ข้ออ้างว่า เพื่อให้ได้รับพรจากเทวนารีเยลลัมมา ซึ่งจะทรงบันดาลให้ร่ำรวยและสุขภาพดี นั้น ยังเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ในภาพนี้เป็นเด็กหญิงวัย 14 ปี ซึ่งได้รับการช่วยเหลือออกจากซ่องที่กักขังเธอและโสเภณีเด็กรายอื่นๆ อีกเจ็ดสิบราย เธอบอกทีมสร้างภาพยนตร์สารคดีของบีบีซีว่า ความฝันแห่งชีวิตของเธอคือ การได้แต่งงานมีครอบครัวของตนเองเหมือนคนอื่น ซึ่งเธอทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะเทวทาสีมีชีวิตใต้คำสาบานที่จะเป็นทาสแห่งเทพเจ้าไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ที่ประเทศอินเดีย หุวักกะ ภิมัปปะ เด็กหญิงเชื้อสายกันนาดาในรัฐกรณาฏกะ ถูกถวายบูชาแด่เทวนารีเยลลัมมา ผ่าน “พิธีสมรสทิพย์” ตั้งแต่อายุได้เพียง 10 ปี พิธีกรรมนี้ทำให้เธอเป็น “เทวทาสี” (ทาสรับใช้เทพเจ้า) แต่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญดังกล่าว มิใช่ชีวิตใหม่สดใสสำหรับ ภิมัปปะ ผู้แสนยากจน เพราะนอกจากที่น้องถูกคุณพ่อคุณแม่บังคับให้เข้าพิธีวิวาห์ทิพย์กับพระแม่เจ้าฮินดูภายในมหาวิหารแล้ว เมื่อน้องเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ พรหมจารีของน้องยังถูกนำไปประมูล เพื่อให้บุรุษที่ให้ตัวเลขสูงสุดได้พร่าพรหมจารีจนกระทั่งว่าเลือดจากอวัยวะฉีกขาด ท่วมท้นดวงใจ

หลังจากนั้น น้องก็ต้องเข้าสู่วงการค้าประเวณีเด็กสร้างรายได้ให้คุณพ่อคุณแม่ และกลายเป็นทาสบำเรอกามภายในแวดวงอาชญากรรมค้ามนุษย์แห่งภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย

บทบาทหน้าที่ของเทวทาสี ตามประเพณีโบราณอันสง่างามที่ควรจะเป็น ได้แก่ การอุทิศชีวิตให้แก่กิจกรรมบูชาเทพเจ้า โดยจะเต็มอกเต็มใจฝึกเล่นดนตรีและร่ายรำให้ชดช้อยเพื่อออกแสดงถวายทวยเทพ ฝึกจัดดอกไม้ให้งดงามและฝึกจัดเตรียมเครื่องบูชาทั้งปวงเพื่อให้มีทักษะด้านการตกแต่งพระวิหารเป็นเกียรติแก่องค์เทวา นอกจากนั้นก็ทำการดูแลความเรียบร้อยสะอาดสะอ้านของสถานที่ให้เกิดสัปปายะแก่สาธุชนที่เข้าไปปฏิบัติศาสนกิจในพระวิหาร พร้อมนี้ เทวทาสียังมีอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญ คือการยึดมั่นสัจจะในการงดเว้นไม่แต่งงานกับมนุษย์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ในรอบหลายศตวรรษที่ผ่านมา ภารกิจอันสง่างามเหล่านั้น จะไม่ทำก็ได้ แต่จะ “ต้อง” เข้าร่วมภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับ “เทวทาสีรุ่นขบเผาะ” คือการยอม (ตามแรงบังคับ) สละพรหมจารีตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (เริ่มมีประจำเดือนประมาณอายุ 12-13 ปี) พลีแก่บุรุษที่ชนะประมูล“การเปิดซิงเด็กหญิง” ภายใต้การดำเนินงานของนักบวชกับเจ้าหน้าที่ของวิหารเทพเจ้า ซึ่งแบ่งรายได้ให้แก่ผู้ปกครองของเด็ก

ทั้งนี้ บุรุษส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการประมูลคือผู้มั่งคั่ง มีอำนาจอิทธิพล และมีความผิดปกติทางร่างกายหรือทางจิตใจจึงพร้อมจ่ายเพื่อเสพกามเด็ก โดยบรรดาบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องในวงการค้ากามเด็กต่างก็ไม่แคร์สายตาชาวบ้านที่รังเกียจพฤติกรรมไร้ศีลธรรม

“ในกรณีของดิฉัน บุรุษสูงวัยคนนั้นคือคุณอาแท้ๆ ค่ะ เขาเป็นน้องของคุณแม่น่ะค่ะ” หุวักกะ ภิมัปปะ ซึ่งขณะนี้อยู่ในวัยใกล้ 50 ปี และพ้นออกจากวงการแล้ว เล่าแก่เอเอฟพีอย่างนั้น

อินเดียมีสัดส่วนของเด็กหญิงที่ต้องเข้าพิธีแต่งงานตั้งแต่อายุนิดเดียว สูงกว่าทุกประเทศทั่วโลก ทั้งๆ ที่ กฎหมายกำหนดห้ามผู้ปกครองนำเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าพิธีแต่งงาน
หลายสิบปีหลังพรหมจารีของเด็กหญิงภิมัปปะถูกประมูลและถูกพร่ายับเยินแล้ว ชีวิตทั้งหมดของเธอคือการทำงานเป็นโสเภณีเด็ก แล้วเติบใหญ่ขึ้นเป็นโสเภณีวัยรุ่น โสเภณีผู้ใหญ่ จนกระทั่งชราลงเป็นโสเภณีสูงวัย โดยมีสถานภาพเทวทาสีกับสายสร้อยลูกปัดขาวแดงเป็นเครื่องชี้บ่งอาชีพค้ากาม ส่วนสำหรับรายได้จากการขายบริการทางเพศให้แก่ผู้ชายทั้งปวง ตกเป็นของคุณแม่คุณพ่อ หรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ปกครองตัวหลัก

ในที่สุด ภิมัปปะสามารถหนีพ้นจากชะตากรรมย่ำแย่ดั่งตกนรกทั้งเป็น แต่เนื่องจากช่วงชีวิตที่ผ่านมานั้นเธอไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ การเริ่มต้นชีวิตใหม่จึงเป็นไปแบบยากจนข้นแค้นอย่างที่สุด ได้แก่ การเป็นแรงงานไร้ฝีมือในไร่นา ได้ค่าตอบแทนวันละเพียง 80 รูปี (ราว 30 บาท)

กระนั้นก็ตาม ภิมัปปะยอมทำงานหนักเพื่อเดินหน้าชีวิตที่เธอเป็นผู้กำหนด

แต่ส่วนที่หนักหนากว่าความยากจนและการทำงานหนัก คือ แรงกดดันจากสังคมที่กระทำต่อจิตใจของเธอ

ด้วยความที่ภิมัปปะมีภูมิหลังเป็นเทวทาสีแห่งเทวนารี ผู้คนในชุมชนต่างทราบดีถึงการเป็นทาสบำเรอกามที่เธอและนางเทวทาสีทั้งปวงอยู่ในวงการค้ากามเพื่อบูชาเทวนารีเยลลัมมา ความรังเกียจชิงชังโกรธแค้นที่ชาวบ้านมีต่อกิจกรรมพร่าพรหมจารีเด็ก ตลอดจนความรู้สึกต่อต้านวงการค้าประเวณี ทำให้ชุมชน ซึ่งไม่กล้าจะเล่นงานกลุ่มเศรษฐีและผู้ทรงอิทธิพลซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อ พากันไประบายความเกลียดชังลงที่ชาวเทวทาสีซึ่งอยู่ในฝั่งผู้ขาย

ดังนั้น ภิมัปปะจึงเป็นหนึ่งในบรรดาเทวทาสีที่ถูกสังคมลงโทษอย่างหนัก ด้วยการด่าทอเหยียดหยามตราหน้าเป็นหญิงคนชั่ว เป็นนางจัณฑาล เป็นคนนอกวรรณะผู้ต่ำต้อยที่สุดและน่ารังเกียจที่สุด และก็มีบ้างที่จะเกิดเหตุทำร้ายร่างกาย

ภิมัปปะเคยมีความรักมอบให้แก่บุรุษนายหนึ่ง แต่เธอทราบดีว่าเธอไม่ต้องคิดไปขอแต่งงานกับเขาเลย เพราะว่า แม้เธอจะสามารถทำเงินได้คล่องในห้วงยี่สิบกว่าปีแรกแห่งการค้าประเวณี แต่เงินทองเหล่านั้นอยู่ในมือของคุณแม่คุณพ่อหรือผู้ปกครอง เธอจึงมิได้มีโอกาสจะเก็บออมเพื่อสร้างอนาคต

“ถ้าดิฉันไม่ได้เป็นเทวทาสี ดิฉันก็จะได้มีครอบครัวของตนเอง มีลูก และมีเงิน ดิฉันคงจะได้ใช้ชีวิตที่ดีงาม” ภิมัปปะกล่าวอย่างนั้น

เมื่อเด็กหญิงทั้งหลายถูกผู้ปกครองนำตัวไปถวายเป็นเทวทาสีของเจ้าแม่เยลลัมมาแล้ว บรรดาเทวทาสีจะไม่สามารถแต่งงานกับผู้ใด อีกทั้งจะถูกบังคับให้สละพรหมจารีไปกับชายที่ชนะประมูลสิทธิในการพร่ายำร่างกายและจิตใจของเธอ
วิถี‘เทวทาสี’ นางทาสแห่งเทวนารีเยลลัมมา แบบที่เป็นขนานแท้และดั้งเดิมนั้น สูงศักดิ์และเปี่ยมสุข

เทวทาสีเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมอินเดียทางใต้เนิ่นนานมากกว่าสิบศตวรรษนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 กันเลยทีเดียว และเคยมีตำแหน่งแห่งที่อันสูงส่ง ได้ปรนนิบัติและได้รับอุปถัมภ์จากมหาราชา มหาเศรษฐี และนักบวช พร้อมนี้ พวกเธอได้รับการนับหน้าถือตาอยู่ในสังคม เอเอฟพีรายงาน

ในอดีตกาล เทวทาสีจำนวนมากได้รับการศึกษาระดับสูง ได้รับการฝึกฝนความรู้ความชำนาญด้านลีลาการร่ายรำและการเล่นดนตรี เคยมีชีวิตหรูหราสุขสบาย อีกทั้งยังสามารถเลือกคู่ร่วมกิจกรรมทางเพศได้ด้วย

แต่เมื่ออินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และอยู่ใต้การปกครองยุคบริติชราช (ค.ศ.1858-1947) ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดามหาราชาและมหาเศรษฐีต่างๆ พากันตกต่ำเสื่อมถอย สาวๆ เทวทาสีจึงถูกบังคับเข้าสู่ธุรกิจค้ากามแทบจะทั้งระบบ ผลการศึกษาวิจัยโดยกระทรวงสวัสดิภาพสตรีและเด็ก ของอินเดีย ซึ่งปรากฏบนเว็บไซต์ go.gale.com รายงานอย่างนั้น

พร้อมนี้ผลการศึกษาวิจัยระบุด้วยว่า ระบบทาสบำเรอกามซึ่งขูดรีดแรงงานเด็กสาวในแวดวงเทวทาสี ถูกล้มล้างด้วยกฎหมายปี 1947 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกผลักดันโดยทางการอังกฤษก่อนที่อินเดียจะประกาศอิสรภาพได้สำเร็จในเดือนสิงหาคมศักราชเดียวกัน

“แนวคิดว่าด้วยการเป็นทาสบำเรอกามโดยได้รับอนุญาตในเชิงศาสนานี้ มิได้เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาเจ้าแม่ตามระบบดั้งเดิม” นักประวัติศาสตร์นาม คายาถรี อัยเยร์ กล่าวกับเอเอฟพี

อัยเยร์บอกว่าในศตวรรษที่ 19 (1858-1899) อันเป็นยุคสมัยที่อินเดียถูกอังกฤษปกครอง พันธะระหว่างเจ้าแม่เยลลัมมา กับเทวทาสี ถูกบิดเบือนกลายเป็นการขูดรีดทางเพศ

ในประเด็นอันท้าทายนี้ เว็บไซต์ go.gale.com รายงานว่าแม้กฎหมายปี 1947 จะทำให้การบังคับเด็กหญิงเทวทาสีต้องพลีพรหมจารีแก่บุรุษเพื่อถวายเป็นบูชาแก่เทวนารีเยลลัมมา (เพื่อให้เจ้าแม่ประทานพรด้านทรัพย์สินอีกทั้งสุขภาพ) และการบังคับเด็กเทวทาสีให้ค้าประเวณีต่อไปนั้น เป็นอาชญากรรม แต่จำนวนเหยื่อแห่งเครือข่ายค้ากามเถื่อนซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจนในวรรณะต่ำต้อยของสังคมอินเดีย ก็นับวันแต่จะทวีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคต่างๆ ของอินเดียตอนใต้ โดยจะปรากฏมหาศาลในรัฐกรณาฏกะและรัฐอานธรประเทศ

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อระบบการค้าประเวณีถูกนำไปอิงแอบอยู่กับศาสนา ความโหดร้ายของอาชญากรรมนี้ที่เกิดขึ้นกับเด็กสาวจำนวนมากจึงมักจะถูกละเลย ในขณะเดียวกัน เหยื่อของอาชญากรรมส่วนใหญ่มาจากชุมชนริมขอบสังคม ค่าตอบแทนที่ผู้ปกครองของพวกเธอได้รับ คือ น้อยนิด โดยที่พวกเธอยังคงมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน และแรงงานโสเภณีก็ถูกจัดชั้นเป็นแรงงานระดับล่างๆ (เพราะมีซัปพลายมหาศาลท่วมท้นดีมานด์) เว็บไซต์ go.gale.com ให้ข้อมูลอย่างนั้น

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ระบบเทวทาสีถูกตีความว่าเป็นเครื่องมือเปิดทางแก่ครอบครัวยากจนข้นแค้น ให้สามารถลดภาระการเลี้ยงดูปากท้องของลูกสาว หนำซ้ำ ลูกสาวยังสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือน ด้วยการส่งลูกสาวเข้าสู่วงการค้าประเวณีผ่านบุคลากรแห่งพระวิหารที่เป็นเสมือนเครือข่ายแรกรับ และเมื่อลูกสาวถูก “ประเดิม” แล้ว ก็ให้ขายบริการทางเพศ เป็นโสเภณีเด็ก ภายใต้การบริหารจัดการของคุณแม่คุณพ่อต่อเนื่องไป

ในอดีตกาลนานโพ้น เทวทาสีเคยมีฐานะทางสังคมที่สูงส่ง แต่ในยุคสมัยการปกครองระบอบบริติชราช เรื่องราวเกี่ยวกับเทวทาสีถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงมากมาย กระทั่งว่าประเพณีอันงดงามของเทวทาสีเปลี่ยนไปเป็นสถาบันแห่งการขูดรีดทางเพศพาณิชย์ เอเอฟพีระบุไว้อย่างนั้น
รายได้โสเภณีเด็ก นับว่าสูงมาก ค่าแรงไร้ฝีมือทั่วไป 50 รูปี/วัน ค่าแรงไร้ฝีมือขายกาม 1,000 รูปี/วัน ตัวเลขปี 2000

สกู๊ปภาพยนตร์สารคดีของบีบีซีเรื่อง Sex, Death, and the Gods เผยให้เห็นว่าในรายของเด็กสาวที่มีเรือนร่างงดงาม เครื่องหน้าหมดจด ผิวพรรณดี รายได้ทั้งปวงจากที่เกิดจากการให้บุรุษเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนน้อยของพวกเธอนั้น บุพการีสามารถรวบรวมไปซื้อที่ดินเกษตรกรรมอย่างเป็นชิ้นเป็นอันกันเลยทีเดียว

ตัวอย่างคือ สาวน้อยรูปา เทวทาสีที่ถูกคุณแม่นำไปถวายเทวนารีเยลลัมมา ตั้งแต่ที่เธอยังอยู่ในเปล คุณแม่ของรูปาก็เคยเป็นเทวทาสีที่ขายตัวถวายแด่พระแม่เยลลัมมา และเมื่อสูงวัย ขายไม่ค่อยออก ก็นำรูปาไปเป็นโสเภณีเด็กตั้งแต่เธอเริ่มมีประจำเดือน

รูปาเล่าไว้ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ว่ามีผู้ชายเยอะเชียวนั่งรถลากมาทาบทาม เสนอจะมอบค่าตัวให้เธอเท่านั้นเท่านี้ ลงท้ายแล้วคุณแม่ได้รับเงินก้อนจำนวน 5,000 รูปี กับสร้อยทองคำ 1 เส้น

พอถึงคืนแห่งการส่งมอบพรหมจารี รูปาหวาดหวั่นขั้นสุด เธอเล่าว่าพวกผู้ใหญ่ในวิหารนำเธอเข้าห้อง และช่วยกันปลอบ บอกเธอว่าเมื่อผู้ชายคนนั้นเข้ามาอยู่กับเธอตามลำพัง เขาจะแค่จับมือเธอ จะแค่จับมืออย่างเดียวจริงๆ ซึ่งเธอก็เชื่อ

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นคือ เด็กหญิงรูปาในวัย 12-13 ปี ได้รับบาดแผลฉีกขาดเลือดไหลมากมาย เลือดไหล 2 วัน 2 คืนกว่าจะหยุด!!

รูปาเล่าในสารคดีเรื่องสะเทือนใจของบีบีซีว่า คุณแม่ควบคุมเธออย่างใกล้ชิด เพราะเธอทำรายได้สูงมาก ขณะที่น้องชายขายแรงงานไร้ฝีมือ ได้ค่าตอบแทนวันละ 50 รูปี เธอขายตัวหาเงินให้คุณแม่วันละ 1,000 รูปี

เม็ดเงินมากมายเหล่านี้ คุณแม่เล่าว่านำไปซื้อที่ดินทำการเกษตรได้แปลงหนึ่ง ส่วนรูปาเล่าว่าคุณแม่ใช้เงินของเธอไปสนับสนุนการดำเนินชีวิตทุกสิ่งอย่างของน้องชายกับน้องสะใภ้



ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Sex, Death, and the Gods ของบีบีซี เทวทาสี-โสเภณีวัยสาวสวย นามว่า รูปา เล่าถึงชีวิตเศร้าของเธอโดยไม่สะเทือนใจมากมาย เธอทำใจยอมรับชะตากรรมได้เป็นอย่างดี  ขณะที่คุณแม่ ซึ่งก็เคยเป็นเทวทาสี-โสเภณีมาก่อน มีลักษณะป้องกันตัวสูงมาก คุณแม่ย้ำซ้ำๆ ว่าถ้าไม่ได้รายได้จากลูกสาว ครอบครัวก็ไม่สามารถอยู่รอดได้
แม้อาชีพโสเภณีเด็กเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ครัวเรือนต่างๆ จำนวนมากยังลักลอบทำกันอย่างกว้างขวาง

สำหรับในรัฐกรณาฏกะอันเป็นถิ่นฐานของ ภิมัปปา การบังคับเทวทาสีให้ค้าประเวณีกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรงนับตั้งแต่ปี 1982 นอกจากนั้น ศาลสูงสุดของอินเดียได้ประกาศให้การถวายเด็กสาวเข้าสู่วิหารแห่งเทวนารี เป็นความชั่วร้าย เอเอฟพีรายงาน

ทั้งนี้ ในภาพยนตร์สารคดีชะตากรรมของนางเทวทาสี เรื่อง Sex, Death and the Gods ที่สร้างโดยทีมงานบีบีซีประเทศอังกฤษ ได้แสดงให้เห็นว่าการบังคับเทวทาสีให้ค้าประเวณียังปรากฏอยู่ในสังคมอินเดียตอนใต้ โดยในวันพิธีบูชาเฉลิมฉลองเจ้าแม่เยลลัมมา ทางการจะหมั่นปล่อยเทปโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อประกาศตักเตือนให้ได้ยินภายในงานพิธีว่า การถวายเด็กสาวเข้าเป็นเทวทาสี เป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

กระนั้นก็ตาม ครอบครัวคนยากคนจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวในวรรณะศูทร ยังคงลักลอบส่งลูกสาวและหลานสาวอายุน้อยนิด (ต่ำสุดที่พบเจอคือ 4 ขวบ) เข้าสู่ระบบเทวทาสีแบบตกเขียว โดยรับเงินมัดจำก้อนหนึ่ง และเลี้ยงให้เด็กหญิงน่าสงสารเหล่านี้เติบโตสู่วัยเจริญพันธุ์ ก็นำไปเข้ากระบวนการประมูลพรหมจารีกันต่อไป

ทั้งนี้ มีประมาณการกันว่าในปัจจุบันยังมีเทวทาสีที่ถูกบังคับค้ากามเป็นจำนวนมากกว่า 70,000 ราย เอเอฟพีนำเสนออย่างนั้น

“มีดิฉันยืนเป็นเจ้าสาวเพียงลำพัง!” สิตาวะ วัย 12 ปี น้ำตาร่วงขณะเข้า ‘พิธีสมรสทิพย์’ กับเทวนารีเยลลัมมา

ในสังคมอินเดียที่ผู้คนหลายหลากยากจนติดอันดับโลก เด็กผู้หญิงมักจะถูกมองว่าเป็นภาระต่อการเลี้ยงดู ยิ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องจัดการให้ลูกสาวได้แต่งงานออกเรือน คุณพ่อคุณแม่ก็มีภาระหนักหนาในการหาเงินทองไปเป็นค่าสินสอดมอบให้แก่ครอบครัวของฝ่ายชาย

ดังนั้น ครอบครัวจำนวนมากในย่านเมืองเซานะทัตตีทางตอนใต้ของรัฐกรณาฏกะ อันเป็นเมืองแห่งวิหารพระแม่เจ้าเยลลัมมาที่ถือกันว่ามีพลังงานศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งยวด จะคอยส่งลูกสาวหลานสาวตัวน้อยเข้าสู่วงการเทวทาสี โดยอ้างว่าต้องการให้องค์เทวนารีประทานโชคลาภมาสู่ครอบครัว หรือประทานพรศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาสมาชิกในครอบครัวให้หายจากอาการป่วยไข้ร้ายแรง

ณ วิหารเทวนารีเยลลัมมา ที่เซานะทัตตี ในปี 1980 เด็กหญิงสิตาวะ โชทัตตี ถูกคุณแม่คุณพ่อส่งเข้าพิธีถวายตัวเป็นเทวทาสีตั้งแต่อายุ 7 ปี ซึ่งในเวลานั้นเธอเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โดยคุณแม่คุณพ่อหวังว่าเทวนารีเยลลัมมาจะประทานพรให้สมาชิกครอบครัวปลอดภัย เพราะก่อนหน้านั้น พี่ๆ น้องๆ 3 คนในจำนวนทั้งหมด 8 คน ทยอยกันเสียชีวิตตั้งยังอายุน้อย โชทัตตีเล่าไว้ในสกู๊ปของเว็บไซต์ better2254.rssing.com เมื่อปี 2016

โชทัตตี ซึ่งขณะนี้อายุล่วงเลยสู่วัย 49 ปีแล้ว เล่าแก่เอเอฟพีว่าคุณแม่ไม่เลือกพี่สาวสี่คนของเธอ (ซึ่งบัดนี้ได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝากันทุกคน) แต่มาตัดสินใจสั่งให้เธอเป็นผู้ที่ต้องเข้าไปถวายตัวกับเทวนารีเยลลัมมา

“เวลาที่ใครๆ เขาแต่งงาน ดิฉันจะเห็นคู่เจ้าสาวเจ้าบ่าวปรากฏตัวเคียงข้างกัน แต่ตอนที่ดิฉันเข้าพิธีสมรสกับองค์เทวนารี ไม่มีใครอื่นเลย พอตระหนักขึ้นได้ว่าดิฉันเข้าพิธีแต่เพียงลำพัง ดิฉันก็เริ่มร้องไห้ค่ะ” โชทัตตีเล่าถึงตนเองในวัย 7 ปี ให้แก่นักข่าวเอเอฟพี

หลังพิธีถวายตัวดังกล่าว เด็กหญิงโชทัตตียังใช้ชีวิตเป็นปกติอยู่ที่บ้านกับพี่น้อง เช้าไปโรงเรียน และเย็นกลับบ้าน ตลอดจนช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานต่างๆ ในเรือกสวนไร่นา

จนกระทั่งเรียนชั้นประถมปีที่ 7 มีอายุ 12 ยังไม่เต็ม 13 ปี เด็กหญิงโชทัตตีเผชิญกับเหตุบังคับให้ต้องเข้าสู่วงการโสเภณีเด็ก กล่าวคือ คุณพ่อล้มป่วยอาการหนัก ครอบครัวขาดรายได้ อีกทั้งยังต้องนำเงินที่มีอยู่ ไปจ่ายค่ารักษา

ในห้วงนั้นเอง เด็กหญิงโชทัตตีได้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มมีรอบเดือน คุณแม่จึงตัดสินใจแก้ไขวิกฤติทางการเงินของครอบครัว โดยพาเธอ ผู้เป็นเทวทาสีแห่งพระแม่เยลลัมมา เข้าสู่กระบวนการประมูลพรหมจารีที่ดำเนินการตามระเบียบวัฒนธรรมประเพณีสำหรับเทวทาสี ภายใต้การบริหารจัดการของคณะเจ้าหน้าที่ในพระวิหารแห่งเทวนารีเยลลัมมา

อย่างไรก็ตาม เด็กหญิงโชทัตตียังมีบุญรักษาไม่ให้ชะตาชีวิตตกต่ำย่ำแย่นัก กล่าวคือ ชายสูงวัยผู้ที่ประมูลตัวเธอไปพร่าพรหมจารี มีความติดเนื้อต้องใจในตัวเด็กหญิงวัย 12 ปีคนนี้ และจึงเอาเธอเป็นเมียเก็บ เธอเล่าว่าทุกวันหยุด คุณแม่จะพาเธอไป “ทำงาน” แล้วชายที่เป็นเจ้าของเธอจะมอบเงินสด สิ่งของ ตลอดจนพืชพรรณอาหารให้แก่คุณแม่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ คุณแม่เอาเธอลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่นั้นมา เธอเล่าไว้กับนักข่าวของ better2254.rssing.com

กระนั้นก็ตาม แม้จะรอดพ้นชะตากรรมที่จะถูกบังคับให้ขายบริการแบบชั่วครั้งชั่วคราวแก่บุรุษคนนั้นทีคนนี้ที (โดยช่วยให้คุณพ่อคุณแม่และพี่สาวทุกคนก็มีคุณภาพชีวิตดีตามสมควร แต่เด็กหญิงโชทัตตีที่กลายเป็นเมียเก็บตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม 13 ปี ก็ต้องสูญเสียชีวิตวัยเยาว์ไปหมดสิ้น ไม่ได้ไปโรงเรียน อีกทั้งยังตั้งครรภ์ มีบุตรชายรวม 2 ราย

“ตอนที่อายุ 17 ปี ดิฉันมีลูกตั้งสองคนแล้วค่ะ” โชทัตตีเปิดเผยชะตากรรมของเธอให้แก่นักข่าวเอเอฟพีทราบอย่างละเอียด

สิตาวะ โชทัตตี อดีตเทวทาสีและเด็กหญิงขายบริการทางเพศแบบมีเจ้าของผูกขาดเพียงคนเดียว พลิกชีวิตตนเองขึ้นเป็นนักกิจกรรมในเอ็นจีโอเพื่อสตรีและเด็ก โดยคุณแม่ของเธอจัดการให้เธอต้องเป็นเมียเก็บของเศรษฐี เมื่อเธอเริ่มตระหนักถึงการสูญเสียเสรีภาพ เธอมองหาหนทางเปลี่ยนแปลงชีวิต และได้เข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรพัฒนา ปัจจุบันเธอเป็นซีอีโอของสมาคม MASS หน่วยงานเอ็นจีโอซึ่งทำงานเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของอดีตเทวทาสีที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สื่อมวลชนบางรายเรียกเธอว่าเทวนารีของเด็กหญิงผู้ยากไร้ ในปี 2018 ผลงานการยกระดับสิทธิเด็กและสตรี ส่งให้เธอได้รับรางวัลเชิดชูระดับชาติ คือ รางวัลเกียรติยศปัทมาศรี ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดระดับ 4 สำหรับประชาชน โดยเธอได้รับรางวัลจากมือของประธานาธิบดี (ภาพมุมบนขวา) ส่วนภาพสตรีกับสายสร้อยร้อยลูกปัดสีขาวแดง สายสร้อยนี้เป็นเครื่องชี้บ่งความเป็นเทวทาสีที่ขายบริการทางเพศ และสำหรับภาพหลักเป็นกิจกรรมที่โชทัตตีสอนเยาวชนให้ตื่นตัวต่อความสำคัญของการศึกษา
ชะตากรรมเด็กหญิงเทวทาสีอื่นๆ ส่วนใหญ่สาหัสหนักหนา ตั้งครรภ์และเกือบตายทั้งกลมในวัยสุดละอ่อน

เรขา ภันทารี อดีตนางเทวทาสีและเป็นเพื่อนของโชทัตตี เล่าไว้กับนักข่าวเอเอฟพีว่าพวกเธอที่เป็นเทวทาสีต้องยอมจำนนให้กับประเพณีอันมืดบอดนี้ ซึ่งทำลายชีวิตป่นปี้

เธอถูกบังคับให้เข้าไปในแวดวงอาชญากรรมบังคับค้าประเวณีและทาสบำเรอกามตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เธอเพิ่งจะกำพร้าแม่ โดยผู้ชายที่ชนะประมูลสิทธิเพื่อพร่าพรหมจารีของเธอนั้น อายุ 30 ปี ส่วนที่ย่ำแย่ที่สุดคือ เธอได้ลูกติดท้องมา โดยที่ฝ่ายชายไม่รับรู้

สภาพร่างกายของเด็กหญิงวัยเพียง 13 ปี ไม่มีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์ ดังนั้น ภันทารีคลอดบุตรยากลำบากอย่างที่สุด

“คุณหมอบริภาษผู้ใหญ่ในครอบครัวของดิฉันอย่างสาดเสียเทเสีย คุณหมอบอกว่าร่างกายของดิฉันยังเป็นเด็กเกินกว่าจะมาให้กำเนิดบุตร” ภันทารี ในวัย 45 ปี เล่าไว้อย่างนั้น

เรขา ภันทารี อดีตนางเทวทาสีที่ผ่านนรกบนดินมาตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี และทันทีที่ถูกคุณแม่คุณพ่อบังคับเข้าสู่แวดวงอาชญากรรมนี้ เธอก็ตั้งครรภ์และเกือบเสียชีวิตในการคลอดบุตร ปัจจุบันเธอเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาสังคม เธอให้สัมภาษณ์ว่าเทวทาสีเป็นประเพณีที่มืดบอดซึ่งอ้างพระนามของเทพเจ้า และเป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตของเธอและเพื่อนๆ ให้ย่อยับป่นปี้
สาวเทวทาสีไม่มีความรู้ และเสียชีวิตมากมายด้วยโรคเอดส์

ในยุคสมัยที่คนอินเดียยังไม่ตื่นตัวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เทวทาสีจำนวนมากประสบชะตากรรมร้ายแรงจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์

“มีเทวทาสีที่พวกเรารู้จักกันดีจำนวนมากมายที่ติดเชื้อ และโรคร้ายนี้ก็ติดไปถึงลูกๆ ของพวกเธอ” นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำงานช่วยเหลือสาวเทวทาสีให้ข้อมูลแก่เอเอฟพี โดยขอสงวนนามไว้

“พวกเธอมักเลือกที่จะปิดบังอันตรายเรื่องนี้ โดยไม่หยุดทำงานขายบริการทางเพศ และจึงกลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปแพร่กระจาย พวกเธอเสียชีวิตล้มตายไปเป็นว่าเล่น”

ในตอนหนึ่งของสารคดี Sex, Death, and the Gods เล่าถึงครอบครัวของคุณยายอดีตเทวทาสีกับ น้องอันจินนา หลานสาววัยรุ่น โดยคุณยายของอันจินนานำคุณแม่ของอันจินนาเข้าถวายตัวเป็นเทวทาสี และทำอาชีพโสเภณี

คุณแม่ของอันจินนาติดโรคเอดส์และป่วยตายจากโลกนี้ไป ขณะที่อันจินนากับน้องชายยังต้องทานยารักษา

คุณยายเล่าด้วยความกลุ้มใจว่าฐานะยากจนเหลือเกิน รายได้ไม่พอใช้ แต่อันจินนาก็ไม่ยอมถวายตัวเป็นเทวทาสีและเป็นโสเภณีอย่างเด็ดขาด และด้วยความที่รักหลานอย่างที่สุด คุณยายมิได้บังคับฝืนใจอันจินนาเลย

ด้านอันจินนาบอกว่าถ้าคุณแม่ยังอยู่ เธอจะไม่ต้องถูกรบเร้าอย่างนี้

ที่ผ่านมา เคยเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งเป็นคราว ที่ได้มีการดำเนินคดีเอาผิดผู้ปกครองที่นำเด็กหญิงในครัวเรือนไปเข้าสู่เครือข่ายเทวทาสี นอกจากนั้น ยังมีการให้ความช่วยเหลือแก่สตรีที่เลิกราออกจากวงการค้าประเวณีเถื่อน โดยมอบเงินเลี้ยงชีพเล็กๆ น้อยๆ เป็นรายเดือนจากภาครัฐ ในอัตรารายละ 1,500 รูปี หรือประมาณ 600 บาทต่อเดือน

นิเตช ปาติล เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเมืองเซานะทัตตี แจ้งเอเอฟพีว่าที่ผ่านมา ยังไม่มีกรณีตัวอย่างของเด็กหญิงถูกล่อลวงเข้าสู่วิหารเทวนารีในเมือง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอินเดียออกคำสั่งเมื่อปีที่แล้ว ว่าขอให้รัฐกรณาฏกะและรัฐอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งแถลงถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันเด็กหญิงทั้งหลายมิให้ตกเข้าไปเป็นเหยื่อในวงการเทวทาสี โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานข่าวเปิดโปงว่าการชักนำให้เด็กหญิงต้องกลายเป็นทาสบำเรอกามในนามของการบูชาถวายพระแม่เจ้าเยลลัมมา ยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เอเอฟพีรายงาน

ในขณะที่เครือข่ายอาชญากรสามารถเติบใหญ่ กระนั้นก็ตาม คนที่ร่างกายผิดปกติและ/หรือมีจิตวิปริต ซึ่งยินดีจ่ายเงินมากมายเพื่อเสพกามจากโสเภณีเด็ก มิใช่จะมีเกลื่อนกล่น ดังนั้น ภายในชุมชนคนยากคนจนของอินเดียยังคงเต็มไปด้วยบรรยากาศต่อต้านนักค้าประเวณี ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรต่อตัวเทวทาสีที่เลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ด้วยเงินจากการค้าประเวณี และทำให้เทวทาสีถูกตราหน้าเป็นคนบาปที่น่ารังเกียจ ถูกเหยียดให้เป็นจัณฑาลที่ต่ำต้อยยิ่งกว่าชาววรรณะศูทร

ตราบาปเหล่านี้ติดตรึงอยู่กับตัวเทวทาสี แม้กระทั่งจะละเลิกจากวงการเทวทาสีผู้ค้าประเวณีแล้ว ก็ยังต้องถูกสังคมเหยียดหยามเป็นจัณฑาล ทั้งนี้ น้อยรายที่จะมีโอกาสได้แต่งงานและเริ่มต้นชีวิตใหม่

ยิ่งกว่านั้น อดีตเทวทาสี-โสเภณีสูงวัยส่วนใหญ่จะยากจน ไม่รู้หนังสือ ไม่มีงานที่ได้รับค่าตอบแทนพอสมควร และจึงต้องยอมทำงานหนักในไร่นาแลกกับรายได้น้อยนิดเพื่อให้สามารถยังชีพอยู่ได้

คุณยายของอันจินนารำลึกอดีต สมัยที่ยังเป็นเทวทาสีสุดฮ็อต คุณยายเล่าแบบยังปลื้มอยู่เลยว่า พวกผู้ชายเคยเรียกคุณยายว่า “ลักษมีที่รัก”  ขณะที่น้องอันจินนาให้สัมภาษณ์ว่าหากคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ คุณแม่จะไม่รบเร้าให้ยอมไปเป็นโสเภณี น้องเล่าด้วยว่าน้องทราบเรื่องราวชีวิตของเทวทาสีและโสเภณีเป็นอย่างดี และเธอจะไม่ยอมเป็นอย่างคุณแม่
สิตาวะ โชทัตตี: เลิกเป็นนางบำเรอเศรษฐี สู่ชีวิต ‘เทวนารีเดินดิน’ ร่วมมือ NGO ช่วยเทวทาสีอื่นๆ

สิตาวะ โชทัตตี เป็นเทวทาสีที่มีบุญเก่าคอยเกื้อหนุนอย่างมากมาย ชะตากรรมขณะเป็นทาสบำเรอกามในช่วงแรกรุ่น จรดจนเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ จึงไม่ร้ายกาจนัก และด้วยดวงใจอันดีงาม มีเมตตา และขวนขวายที่จะช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ในปี 1997 เธอตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ลุกขึ้นมาพลิกวิกฤติแห่งการเป็นทาสบำเรอกามในรูปแบบเมียเก็บของเศรษฐี เปลี่ยนเป็นโอกาสที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพซึ่งมีชะตากรรมย่ำแย่หนักหนากว่าเธอ ให้ได้ก้าวออกจากนรกบนดิน ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

ในประการแรก โชทัตตีมีบุญเก่าเกื้อหนุนให้ได้เรียนหนังสือจนถึงชั้นประถมปีที่ 7 ซึ่งทำให้เธอมีความรู้อ่านออกเขียนได้ และมีความชำนาญในด้านต่างๆ ติดตัวบ้าง

ประการที่สอง โชทัตตีรอดพ้นการเป็นโสเภณีเด็กที่ต้องให้บริการทางเพศแก่ชายมากหน้าหลายตา โดยที่ว่าคุณแม่คุณพ่อยินยอมให้บุรุษฐานะดีที่ชนะประมูลพรหมจารีของเธอ เก็บเธอไว้เป็นนางทาสบำเรอกาม แลกกับเงินสด สิ่งของ และพืชพรรณอาหารที่เขานำมามอบแก่คุณแม่อย่างสม่ำเสมอ

ประการที่สาม เมื่อโชทัตตีอายุ 17 ปี คุณแม่นำเธอไปขายเป็นทาสบำเรอกามของชายเศรษฐีสูงอายุอีกรายหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะทำให้ครอบครัวมีเงินก้อนใหญ่ไปใช้จ่ายให้พี่สาวของเธอได้แต่งงานออกเรือนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ยังทำให้เธอมีชีวิตสุขสบายร่ำรวยตามฐานะของชายเศรษฐีที่เป็นเจ้าของตัวเธอ และยิ่งเมื่อเธอมีธิดาน่ารักให้แก่เขา ชีวิตของเธอก็สมบูรณ์พูนสุขและมั่นคงมาขึ้น

กระนั้นก็ตาม ต่สิ่งที่โชทัตตีสูญเสียคือเสรีภาพ ซึ่งเธอไม่แฮปปี้ และตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจำยอมกับความเป็นจริง

โชทัตตีเล่าไว้ในสกู๊ปของเว็บไซต์ edexlive.com ว่า

“ในตอนแรกๆ ดิฉันมีความสุขที่ได้แต่งกายสวยงาม โดยไม่เข้าใจสถานะแท้จริงว่าตัวเองถูกขายไปเป็นสมบัติของผู้ชายคนหนึ่ง อีกทั้งยังไม่ตระหนักถึงความไม่ถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ในที่สุด ดิฉันจึงตระหนักว่าใจดิฉันไม่ชอบชีวิตที่ไม่ได้เป็นเจ้าของตัวเองอีกต่อไป มันก็นานนะคะกว่าที่จะตระหนักว่าคุณพ่อคุณแม่ “ขาย” ดิฉันออกไปจากบ้านแล้ว”

ในช่วงที่โชทัตตีอึดอัดคับข้องใจกับสถานภาพเมียทาสของเศรษฐี เธอได้พบทางออกซึ่งเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตอย่างใหญ่หลวง กล่าวคือ นับแต่ที่รัฐบาลกรณาฏกะรณรงค์ล้มล้างระบบเทวทาสี ผ่านการออกกฎหมายห้ามถวายเด็กหญิงเป็นเทวทาสี เมื่อปี 1987 รัฐบาลได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสถานภาพของเทวทาสีอย่างจริงจัง และในต้นทศวรรษ 1990 อดีตนางเทวทาสีได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันและกันขึ้นมามากมาย ซึ่งโชทัตตีก็เข้าร่วมด้วยตั้งแต่ประมาณปี 1993

“ดิฉันเข้าร่วมในโปรแกรมฝึกอบรมต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมปรึกษาหารือรายสัปดาห์และกิจกรรมสร้างความตื่นตัวต่อปัญหา สิ่งใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ทำให้ดิฉันคิดและมีจิตสำนึกอย่างบุคคลอิสระ มิใช่อย่างผู้หญิงวรรณะศูทรที่ต่ำต้อย หรือผู้หญิงด้อยโอกาสที่ถูกกดขี่บังคับ น่ะค่ะ ดิฉันสามารถตั้งคำถามถึงความไม่ยุติธรรมที่ถูกสืบทอดมายังตัวดิฉันและเพื่อนๆ” โชทัตตีให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ better2254.rssing.com

บรรดาอดีตเทวทาสีรวมกลุ่มกันในรัฐกรณาฏกะ โดยมีนักเคลื่อนไหวจากหน่วยงานเอ็นจีโอเข้าไปช่วย เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของพวกเธอให้ดีขึ้น
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมกับ KSWDC ระยะหนึ่งจนสามารถพิสูจน์ถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นตั้งใจ ในเวลาต่อมา โชทัตตีก็ถูกดึงเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยงานโปรแกรมฟื้นฟูอดีตเทวทาสี ที่จัดทำโดยองค์กรพัฒนาสตรีแห่งรัฐกรณาฏกะ (KSWDC)

ปลายทศวรรษ 1990 องค์กร KSWDC ถอนตัวออกไป และชาวอดีตเทวทาสีได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคม MASS ขึ้นมาในปี 1997 โดยที่โชทัตตีเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งและได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหาร

ดังนั้น โชทัตตี จึงได้รับโอกาสที่เปลี่ยนแปลงตัวเองจากสาววัยทีนเอจชาววรรณะศูทรที่ได้รับการศึกษาแค่ระดับประถม 7 สู่การเป็นหนึ่งในบุคลากรสำคัญที่ขับเคลื่อนงานองค์กร ด้วยองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับจากโปรแกรมฝึกอบรมสาขาต่างๆ ตั้งแต่ด้านสิทธิสตรีและเด็ก ด้านจิตวิทยาเด็ก ด้านโรคติดต่อทางเพศ ด้านการบัญชีและการบริหารการเงิน ด้านกระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงด้านการบริหารงานเอ็นจีโอ

ภารกิจสำคัญของโชทัตตีคือการช่วยอดีตเทวทาสีที่ตั้งต้นชีวิตใหม่และเริ่มอาชีพการงาน ให้สามารถได้รับเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินรายย่อยต่างๆ เพื่อดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้นยังสร้างหน่วยงานความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ให้บริการแก่ผู้หญิงและเด็ก โดยไม่คิดค่าบริการ

ผลงานของโชทัตตีทำให้คณะกรรมการ MASS ลงคะแนนเสียงแต่งตั้งให้เธอเข้าสู่คณะเลขาธิการของ MASS ในปี 2000

ความทุ่มเทอย่างมากมายที่โชทัตตีอุทิศแก่กิจกรรมพัฒนาศักยภาพของอดีตเทวทาสี มาจากความตั้งใจของเธอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคม และมาจากความปรารถนาให้เด็กๆ ไม่ต้องเติบโตขึ้นไปเป็นเหยื่อในเครือข่ายอาชญากรรมค้ามนุษย์

ดังนั้น ในปี 2012 ที่มีการเลือกตั้งประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร MASS โชทัตตีได้รับเลือกขึ้นสู่ตำแหน่งดังกล่าว

สิตาวะ โชทัตตี อดีตเทวทาสีซึ่งได้รับโอกาสเรียนหนังสือจนถึงประถมปีที่ 7 และมีความขวนขวายใฝ่ความรู้ ในที่สุดเธอผันตนเองเป็นแอคติวิสต์ด้านการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและสตรี และทำงานอย่างทุ่มเทกระทั่งว่าเธอได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารขององค์กรเอ็นจีโอชื่อว่า MASS
กระแส #MeToo ยืนยันว่าเหยื่อแห่งอาชญากรรมทางเพศ ต้องกล้าต่อสู้ให้ตนเองยืนหยัดได้ในสังคม

เอเอฟพีรายงานว่ากลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่โชทัตตีเป็นผู้นำ ได้ช่วยอดีตเทวทาสีมากมายก้าวออกจากอาชีพค้าประเวณี อีกทั้งยังให้การสนับสนุนอดีตเทวทาสีในการเริ่มชีวิตใหม่โดยไม่ยอมให้ตราบาปจากอดีต หลอกหลอนให้พวกเธอต้องอับอายและหลบซ่อนอยู่ในเงามืดของวงการค้าประเวณีเถื่อน

ในการนี้ โชทัตตีเล่าว่านับจากที่ขบวนการ #MeToo ส่งพลังหนุนสตรีผู้มีชื่อเสียงให้กล้าออกโรงมาต่อสู้กับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยการเล่าความจริงและเปิดโปงอาชญากรที่เคยข่มขืนรังแกพวกเธอ (ซึ่งฮือฮาอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา) นั้น ชาวอดีตเทวทาสีได้รับแรงบันดาลใจใหญ่หลวง

โชทัตตีชี้ว่าภายในกระแส #MeToo สตรีที่มีชื่อเสียงในประเทศต่างๆ ได้ก้าวออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่พวกเธอประสบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่พวกเธอไม่มีอะไรจะต้องอับอายในเมื่อพวกเธอเป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกข่มเหงรังแก

“พวกเราดูเรื่องราวเหล่านี้จากข่าว และได้เห็นผู้คนที่มีชื่อเสียงมากมายเข้าร่วมในขบวนการ เราเข้าใจสถานการณ์ของพวกเธอ ซึ่งพวกเราก็ประสบมากับตนเอง พวกเธอได้รับความทุกข์เช่นเดียวกับพวกเรา และพวกเธอยังสามารถดำเนินชีวิตอย่างสง่างามสืบต่อมาได้” โชทัตตีกล่าวกับเอเอฟพีอย่างนั้น

อดีตเทวทาสีจัดกิจกรรมบูชาเทวนารีเยลลัมมา พระแม่เจ้าผู้ทรงเป็นที่รักของคนยากคนจน ทั้งนี้ แม้มีการบิดเบือนนำพระนามของพระแม่ไปใช้อ้างอิง เพื่อเกลี้ยกล่อมให้คุณแม่คุณพ่อผู้ขัดสนเงินทองตัดใจนำลูกสาวตัวน้อยเข้าสู่เครือข่ายโสเภณีเด็ก แต่ความรักและศรัทธาที่มหาชนมีต่อองค์เทวนารีก็ยังเข้มข้นเรืองรอง  น้องรูปาตอบทีมสร้างสารคดีบีบีซีที่ถามความรู้สึกของน้องต่อข้ออ้างเรื่องการขายตัวเพื่อบูชาเทวนารีเยลลัมมา แล้วพระองค์จะประทานโชคลาภและสุขภาพ ว่า “ดิฉันไม่เชื่อหรอกค่ะ ท่านไม่ทราบกับเรื่องเหล่านี้แน่นอนค่ะ”
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เอเอฟพี เว็บไซต์ go.gale.com เว็บไซต์ edexlive.com เว็บไซต์better2254.rssing.com บีบีซี)



กำลังโหลดความคิดเห็น