xs
xsm
sm
md
lg

เมืองแรกในสหรัฐฯ! ซีแอตเทิลออกกฎหมายแบน ‘ระบบวรรณะ’ ชี้เข้าข่ายกีดกันทางสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครซีแอตเทิลในรัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ ออกกฎหมายห้ามการแบ่งแยกกีดกันตามวรรณะ (caste discrimination) ซึ่งนับเป็นเมืองแรกในสหรัฐอเมริกา และถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อชุมชนคนเชื้อสายเอเชียใต้ โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู

คชามา ซาวันต์ (Kshama Sawant) สมาชิกสภานครซีแอตเติลซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ระบุวานนี้ (21 ก.พ.) “การต่อต้านระบบวรรณะมีส่วนเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการต่อต้านการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ”

ระบบวรรณะเป็นหนึ่งในรูปแบบการแบ่งชนชั้นทางสังคมที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายพันปี โดยผู้ที่เกิดในวรรณะสูงจะได้รับอภิสิทธิ์ทางสังคม และมักกดขี่ข่มเหงผู้ที่มีวรรณะต่ำกว่า โดยเฉพาะ “จัณฑาล” หรือ “ฑลิต” (Dalit) ซึ่งถือเป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคมฮินดูที่ถูกเรียกว่า ‘untouchables’ หรือพวกที่ห้ามแตะต้อง

“ระบบวรรณะไม่ได้มีแค่ในประเทศอื่นๆ ทว่าชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้และแรงงานอพยพอื่นๆ ก็เผชิญการแบ่งแยกกีดกันเช่นนี้ในสถานที่ทำงาน แม้แต่ในอุตสาหกรรมไฮเทค มันยังคงเกิดขึ้นไม่ว่าจะในซีแอตเทิลหรือในเมืองอื่นๆ ของสหรัฐฯ” ซาวันต์ กล่าว

แม้อินเดียจะออกกฎหมายยกเลิกระบบวรรณะอย่างเป็นทางการไปนานกว่า 70 ปีแล้ว แต่ผลการศึกษาในช่วงไม่กี่ปีมานี้พบว่า การกีดกันทางชนชั้นยังคงเกิดขึ้นอยู่ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนวรรณะต่ำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะถูกรับเข้าทำงานในตำแหน่งที่เงินเดือนสูงๆ

การอภิปรายถกเถียงเรื่องระบบวรรณะยังคงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทั้งในอินเดียและต่างประเทศ เนื่องจากเกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนา ขณะที่บางคนชี้ว่าการแบ่งชนชั้นวรรณะเกิดขึ้นน้อยมากแล้วในปัจจุบัน

รัฐบาลอินเดียมีนโยบายสงวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำไว้สำหรับนักศึกษาที่เกิดในวรรณะต่ำ ซึ่งช่วยให้คนเหล่านี้มีโอกาสเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมไฮเทคของชาติตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นักเคลื่อนไหวที่รณรงค์ต่อต้านระบบวรรณะชี้ว่า มันไม่ต่างอะไรกับการเหยียดผิว (racism) หรือการแบ่งแยกทางสังคมรูปแบบอื่นๆ ดังนั้นจึงควรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยปัจจุบันกฎหมายต่อต้านการกีดกันของสหรัฐฯ มีเพียงข้อห้ามกีดกันโดยอิงกับเชื้อสายบรรพบุรุษ (ancestry discrimination) ทว่ายังไม่มีการแบนระบบวรรณะอย่างชัดเจน

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น