xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : สุดวิปโยค! แผ่นดินไหว 7.8 ถล่ม ‘ตุรกี-ซีเรีย’ ฝังประชาชนติดใต้ซาก-ยอดดับพุ่งกว่า “2 หมื่นศพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่กู้ภัยตุรกีเข้าค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตภายในซากอาคารหลังหนึ่งที่เมืองคาห์รามันมาราส หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ม.ค.
เหตุการณ์แผ่นดินไหวในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี และซีเรียเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 6 ม.ค. นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งทะลุหลักหมื่น อาคารบ้านเรือนพังเสียหายหลายพันหลัง ขณะที่องค์กรบรรเทาทุกข์ออกมาเตือนผลกระทบขั้น “หายนะ” ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งมีพลเรือนกลุ่มเปราะบางนับล้านๆ คนที่พลัดถิ่นที่อยู่จากไฟสงครามกลางเมืองและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่แล้ว

แผ่นดินไหวระลอกแรกขนาด 7.8 แมกนิจูดเกิดขึ้นในเวลา 4.17 น. ตามเวลาท้องถิ่นใกล้กับเมืองกาซีอันเทป (Gaziantep) ของตุรกีซึ่งมีประชากรราว 2 ล้านคน โดยเกิดที่ความลึกเพียง 18 กิโลเมตร ตามรายงานของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS)

หลังแผ่นดินไหวระลอกแรกผ่านไปแค่ 11 นาที ก็เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.7 แมกนิจูด ตามมาด้วยแรงสั่นสะเทือน 7.5 แมกนิจูดในอีก 9 ชั่วโมงต่อมา ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเดิมไปทางเหนือ 95 กิโลเมตร ยังไม่นับอาฟเตอร์ช็อกขนาดย่อมๆ ที่เกิดตามมาอีกกว่า 100 ครั้ง

แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังนับว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่ตุรกีเคยประสบมาในรอบ 100 ปี ถัดจากเหตุแผ่นดินไหวทางตะวันออกของประเทศเมื่อปี 1939 ที่ได้คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 30,000 คน

ปฏิบัติการช่วยชีวิตในช่วงแรกๆ เผชิญอุปสรรคจากพายุฤดูหนาวซึ่งทำให้ถนนหนทางถูกปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง ขณะที่สนามบินหลัก 3 แห่งในภูมิภาคไม่สามารถเปิดใช้งานได้

เหตุเพลิงไหม้บริเวณท่าเรือ Iskenderun ของตุรกี ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ม.ค.
จุดที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวและได้รับความเสียหายหนักที่สุด ได้แก่ เมืองคาห์รามันมาราส (Kahramanmaras) และเมืองกาซีอันเทปของตุรกี โดยอาคารขนาดใหญ่หลายหลังอยู่ในสภาพพังราบเป็นหน้ากลอง ส่วนที่จังหวัดมัลตายา (Maltaya) มีรายงานว่ามัสยิดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 เสียหายบางส่วน รวมถึงอพาร์ตเมนต์สูง 14 ชั้นซึ่งมีผู้อาศัยไม่ต่ำกว่า 92 คน ที่พังถล่มลงมาทั้งหลัง

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียยังมีการแชร์ภาพปราสาทยุคโรมันอายุราว 2,200 ปี บนยอดเขาในเมืองกาซีอันเทป ซึ่งกำแพงปราสาทอยู่ในสภาพพังทลายจากแรงแผ่นดินไหว

สำนักงานจัดการภัยพิบัติตุรกีออกมาให้ตัวเลขอาคารบ้านเรือนพังเสียหายรวมทั้งหมดกว่า 6,400 หลัง

เจ้าหน้าที่กู้ภัยราว 79,000 คนในตุรกีต้องทำงานแข่งกับเวลาและสภาพอากาศที่หนาวเหน็บเพื่อช่วยชีวิตคนจำนวนมากซึ่งคาดว่าจะยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง โดยมีรายงานว่าเช้าวันพฤหัสบดี (9) อุณหภูมิที่เมืองกาซีอันเทปลดต่ำลงไปถึง -5 องศาเซลเซียส

ซากอาคารที่พังเสียหายจากแผ่นดินไหวในจังหวัดอะเลปโป (Aleppo) ของซีเรีย
แผ่นดินไหวครั้งนี้ก่อความทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่สุดในพื้นที่ตามแนวชายแดน ซึ่งถูกรุมล้อมด้วยสงครามอยู่ก่อนแล้ว โดยพบเห็นผู้คนต้องออกมาอยู่กลางถนน ควานหาเศษซากต่างๆ มาจุดไฟเผาเพื่อสร้างความอบอุ่น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความทุกข์ทรมานก็ยังมี “ปาฏิหาริย์” เกิดขึ้นเป็นพักๆ เช่น การที่หน่วยกู้ภัยสามารถช่วยชีวิตทารกน้อยคนหนึ่งออกจากซากปรักหักพังในซีเรีย โดยที่เด็กน้อยยังคงมีสายสะดือติดกับผู้เป็นแม่ซึ่งเสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหว

จากข้อมูลในวันศุกร์ (10 ก.พ.) ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวได้พุ่งทะลุหลัก 23,700 คน ทั้งในตุรกีและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะขยับสูงขึ้นอีก

ด้านกระทรวงสาธารณสุขซีเรียรายงานความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งในจังหวัดอะเลปโป (Aleppo) ลาตาเกีย (Latakia) ฮามา (Hama) และตาร์ตุส (Tartus) ซึ่งเป็นเมืองที่รัสเซียเข้าไปเช่าฐานทัพเรืออยู่

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ออกมาเตือนว่า โบราณสถาน 2 แห่งที่ขึ้นบัญชีมรดกโลก ได้แก่ เมืองเก่าอะเลปโป และป้อมปราการในเมืองดียาร์บาคีร์ (Diyarbakir) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ได้รับความเสียหายหนัก และอาจจะยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ

ยูเนสโกยังตั้งข้อสังเกตว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นบน “เขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์” (Fertile Crescent) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยต่อเนื่องมานานหลายพันปี และเป็นบ่อเกิดอารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่อาณาจักรของชาวฮิตไทต์ (Hittites) ในช่วง 1650 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยมาจนถึงยุคจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ.1299-1922)


- ทำไมถึงเกิดความเสียหายรุนแรง?

ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาชี้ถึงหลายปัจจัยที่ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความสูญเสียหนักเป็นพิเศษ ตั้งแต่ช่วงเวลาในการเกิดแผ่นดินไหวซึ่งเป็นเวลา “เช้ามืด” ที่คนส่วนใหญ่นอนหลับอยู่ ทำให้ไม่สามารถหนีตายออกมาได้ทัน และต้องติดอยู่ใต้ซากบ้านเรือนที่พังถล่มลงมา

สภาพอากาศที่หนาวเย็นและชื้นแฉะในช่วงนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยทำได้ยาก และเมื่อไปถึงแล้วเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ ในการค้นหาผู้รอดชีวิต

จากสภาพความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างในทั้ง 2 ประเทศทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า “มาตรฐานการก่อสร้างอาคาร” อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียร้ายแรงขึ้น

“รูปแบบการถล่มของอาคารที่พังราบลงมาเหมือนกับแพนเค้ก เป็นการถล่มที่พวกเราวิศวกรทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น” มุสตาฟา เออร์ดิก อาจารย์ด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัย Bogacizi University ในนครอิสตันบูลให้สัมภาษณ์กับ CNN

“เมื่อเกิดการพังถล่มแบบนี้ คุณจะเห็นได้ว่ามันยากที่จะรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้ และปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิตก็ยิ่งยากลำบากขึ้น”

เออร์ดิก ตั้งข้อสังเกตว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างชี้ให้เห็นว่าการออกแบบโครงสร้างอาคารมีคุณภาพและมาตรฐานที่แตกต่างกัน และเขาเชื่อว่าอาคารที่พังถล่มส่วนใหญ่ “น่าจะสร้างก่อนปี 1999 หรืออิงกับกฎหมายก่อสร้างอาคารแบบเก่า”

คิชอร์ ไจสวาล วิศวกรออกแบบโครงสร้างจาก USGS ให้ข้อมูลกับ CNN ว่า ตุรกีเคยเผชิญเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงแผ่นดินไหวในภาคตะวันตกเฉียงใต้เมื่อปี 1999 ซึ่งคร่าชีวิตคนไปกว่า 14,000 คน และด้วยเหตุนี้ฝ่ายบริหารท้องถิ่นในหลายภูมิภาคของตุรกีจึงได้ออกกฎหมายควบคุมอาคารให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สิ่งปลูกสร้างทุกแห่งในตุรกีจะได้มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยเฉพาะพวกอาคารเก่าซึ่งมักไม่สามารถทนต่อแรงแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 20,000 คน และส่งผลกระทบต่อประชากรไม่ต่ำกว่า 23 ล้านคน อีกทั้งขอร้องให้นานาชาติช่วยกันจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยโดยด่วน


- ทั่วโลกส่งความช่วยเหลือ

รัฐบาลทั่วโลกได้ออกมาแสดงความเสียใจ และประกาศส่งมอบความช่วยเหลือให้ตุรกี ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (อียู) องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) สหรัฐฯ จีน รวมถึงรัสเซีย

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ให้คำมั่นสัญญากับประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ว่าสหรัฐฯ “พร้อมจะส่งความช่วยเหลือทุกอย่างที่จำเป็น” ให้ ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงในวันอังคาร (7) ว่า วอชิงตันจะร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อสนับสนุนภารกิจบรรเทาทุกข์ในซีเรีย แต่จะไม่ส่งความช่วยเหลือโดยตรงให้รัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งถูกตะวันตกคว่ำบาตร และถูกครหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตลอดระยะเวลา 12 ปีที่เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย

สำนักข่าว SANA ของทางการซีเรียแถลงในวันพุธ (8) ว่า มีพลเมืองที่ต้องอพยพละทิ้งบ้านเรือนจากเหตุแผ่นดินไหวมากกว่า 298,000 คน และรัฐบาลได้เปิดศูนย์พักพิงขึ้น 180 แห่งเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้

รัฐบาลอัสซาดซึ่งแทบไม่ได้รับการเหลียวแลจากนานาชาติเนื่องจากติดมาตรการคว่ำบาตร ได้ออกมาวิงวอนขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันพุธ (8) ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ก็ได้ออกคำแถลง “สนับสนุน” ให้รัฐสมาชิกอียูตอบสนองคำร้องของรัฐบาลซีเรียที่ขอบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหารเพื่อผู้ประสบภัย

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นยังถือเป็นข่าวร้ายสำหรับ แอร์โดอัน ซึ่งกำลังเตรียมตัวลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นศึกเลือกตั้งที่ดุเดือดและหนักหนาสาหัสที่สุดสำหรับเขาในรอบ 2 ทศวรรษที่ครองอำนาจ

ทั้งนี้ หากรัฐบาลตุรกีล้มเหลวในการรับมือภัยพิบัติ หรือทำได้ไม่ดีพอ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อโอกาสในการรั้งเก้าอี้ผู้นำสมัยต่อไปของแอร์โดอัน แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า แอร์โดอัน ซึ่งผ่านประสบการณ์การเมืองมาอย่างโชกโชนคงไม่พลาดที่จะใช้ปฏิบัติการตอบสนองวิกฤตเพื่อเรียกคะแนนนิยมและกระชับฐานอำนาจของตนเอง

ผู้นำตุรกีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัดทั่วประเทศเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมส่งทหารลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่ตัวเขาเองก็ได้เดินทางไปที่เมืองคาห์รามันมาราสเพื่อสำรวจความเสียหายและกำกับภารกิจกู้ภัยด้วยตนเอง

ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้กำลังใจผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เมืองคาห์รามันมาราส เมื่อวันที่ 8 ก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น