สหรัฐฯ เชิญนักการทูตจาก 40 ประเทศทั่วโลกร่วมรับฟังการแถลงข่าวที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และกรุงปักกิ่ง โดยชี้แจงกรณี “บอลลูนสอดแนมจีน” ที่รุกล้ำเข้าน่านฟ้าสหรัฐฯ และถูกเครื่องบินขับไล่ยิงตกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 ก.พ.)
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงสรุปสถานการณ์ต่อบรรดานักการทูตเกือบ 150 คนจาก 40 ประเทศเมื่อวันจันทร์ (6) ส่วนที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง ได้มีการเชิญทูตต่างชาติเข้ารับฟังข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ (6) และวันอังคาร (7)
“เราต้องการแชร์ข้อมูลที่เรามีอยู่ให้มากที่สุดกับประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจเสี่ยงเผชิญภัยคุกคามจากปฏิบัติการในลักษณะนี้เช่นกัน” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้ส่งข้อมูลไปยังคณะทูตอเมริกันทั่วโลก เพื่อนำไปแชร์ต่อให้ชาติพันธมิตรและหุ้นส่วน
การพบเห็นบอลลูนสอดแนมจีนเหนือท้องฟ้าสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้กระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวอชิงตัน และยังทำให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องยกเลิกกำหนดการเยือนจีน ซึ่งเดิมทีเขาควรจะเดินทางถึงปักกิ่งในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.พ.
กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-22 ขึ้นไปยิงทำลายบอลลูนที่เหนือชายฝั่งรัฐเซาท์แคโรไลนาเมื่อวันเสาร์ (4) หลังจากที่มันใช้เวลาอยู่ในน่านฟ้าของสหรัฐฯ นานถึง 1 สัปดาห์
รัฐบาลปักกิ่งยอมรับว่าบอลลูนดังกล่าวเป็นของจีนจริง ทว่าเป็นเพียงบอลลูนวิจัยสภาพอากาศที่บังเอิญ “ลอยออกนอกเส้นทาง” ไปเข้าน่านฟ้าสหรัฐฯ และเป็นเพียงแค่ “เหตุไม่คาดฝัน” แต่การที่สหรัฐฯ ถึงขั้นส่งเครื่องบินรบขึ้นไปทำลายทรัพย์สินของจีนนั้นเป็นการกระทำที่ “เกินกว่าเหตุ”
นักการทูตที่เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวของสหรัฐฯ ที่กรุงปักกิ่งระบุว่า วอชิงตันได้นำเสนอข้อมูลยืนยันว่าบอลลูนที่ลอยเข้าไปในน่านฟ้าอเมริกาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. และผ่านพื้นที่ทางทหารของสหรัฐฯ หลายแห่ง ไม่ใช่บอลลูนวิจัยสภาพอากาศอย่างที่จีนอ้าง หากแต่เป็น “เรือเหาะ” ที่ใช้สำหรับสอดแนม
สหรัฐฯ อ้างว่าบอลลูนนี้ถูก “ควบคุม” โดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน มีหางเสือ (rudders) และใบพัด (propellers) ควบคุมทิศทาง และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ก็แปลว่ามันต้องใช้พลังงานมากกว่าบอลลูนสภาพอากาศโดยทั่วไป นอกจากนี้ เส้นทางของบอลลูนยังไม่สอดคล้องกับทิศทางลมตามธรรมชาติด้วย
“จากข้อมูลที่สหรัฐฯ ชี้แจง บวกกับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับบอลลูนประเภทนี้ และการที่จีนยังปฏิเสธไม่ยอมเผยชื่อบริษัทหรือผู้ที่เป็นเจ้าของบอลลูน ทำให้ยากจะเชื่อได้ว่ามันเป็นบอลลูนพลเรือนเพื่อตรวจวัดสภาพอากาศ” ทูตทหารของชาติเอเชียที่ประจำการอยู่ในปักกิ่งรายหนึ่งให้ความเห็น
ข้อมูลนี้ตรงกับสิ่งที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับสื่อมวลชนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า บอลลูนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของฝูงอากาศยานจีนที่เคยละเมิดอธิปไตยของประเทศอื่นๆ มาแล้ว
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า แม้นักวิเคราะห์จะยังไม่มั่นใจว่าฝูงบอลลูนสอดแนมนี้มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งให้ข้อมูลว่าเคยมีภารกิจลักษณะนี้เกิดขึ้น “หลายสิบครั้ง” ตั้งแต่ปี 2018 และบอลลูนเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งของจีน
ที่มา : รอยเตอร์