เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร บอกปัดเป็นนัย ระบุ "ไม่มีไม้กายสิทธิ์" ที่จะช่วยยูเครนในการสู้รบของรัสเซีย เมื่อถูกถามในวันพฤหัสบดี (2 ก.พ.) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่แก่เคียฟ ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ส่งเสียงวิงวอนอียูให้คว่ำบาตรมอสโกหนักหน่วงขึ้น
วอลเลซ ไม่ปฏิเสธอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งมอบเครื่องบินรบ แต่บอกว่าเครื่องบินขับไล่ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยูเครนในเวลานี้ และมันมีประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติต่างๆ ที่ต้องนำมาพิจารณา ในนั้นรวมถึงกรณีที่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน สำหรับฝึกฝนทหารยูเครนใช้งานเครื่องบินรบเหล่านี้
"ไม่มีไม้กายสิทธิ์ในความขัดแย้งอันน่าสยดสยอง" วอลเลซบอกกับผู้สื่อข่าวที่เมืองพอร์ทสมัธ ในภาคใต้ของอังกฤษ ที่ตั้งฐานทัพเรือ ทั้งนี้ เขาแสดงความคิดเห็นดังกล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ และออสเตรเลีย ตามหลังการประชุมในด้านการค้าและความมั่นคง
หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว ยูเครนได้รับคำสัญญาจากชาติตะวันตกสำหรับจัดการรถถังประจัญบาญต้านทานการรุกรานของรัสเซีย เวลานี้ประเด็นความสนใจได้ผันเปลี่ยนเข้าสู่คำถามที่ว่า อังกฤษ สหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ จะพิจารณามอบเครื่องบินขับไล่ตามคำร้องขอของเคียฟหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ปฏิเสธส่งมอบเครื่องบินรบแก่ยูเครนไปแล้วก่อนหน้านี้
ในส่วนคำตอบของ วอลเลซ ไม่ได้พูดอย่างชัดเจน แต่เขาบอกว่าเวลานี้ยูเครนจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การเสริมกำลังทางภาคพื้น พร้อมเปรียบเทียบกลยุทธ์ของรัสเซียกับยุทธวิธีเข้าตีแบบคลื่นมนุษย์ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งก็คือการใช้กองกำลังทหารราบขนาดใหญ่ดาหน้าบุกเข้าหาศัตรูจากทุกทิศทุกทางอย่างไม่กลัวตาย ด้วยกำลังที่มีมหาศาล ทำให้ข้าศึกไม่สามารถตั้งรับได้ทันหรือได้ทั้งหมด
ริซี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับ Talk TV ที่ออกอากาศในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (2 ก.พ.) ว่าอังกฤษพร้อมเสมอที่จะพูดคุยกับยูเครน เกี่ยวกับแรงสนับสนุนที่จำเป็น
"ความปรารถนาและเป้าหมายของเราคือ เพื่อให้ยูเครนได้รับชัยชนะในความขัดแย้งนี้" เขากล่าว ดังนั้น ไม่ใช่แค่ยุโธปกรณ์ มันต้องมาพร้อมกับศักยภาพและการการฝึกฝน เช่นเดียวกับแผนหนึ่งที่จัดทำร่วมกับพันธมิตรของเรา เพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะสามารถคว้าชัยชนะได้"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน โฆษกทำเนียบนายกรัฐมตรีของซูแน็ก บอกว่าอย่างเร็วที่สุด นักบินรายหนึ่งอาจต้องใช้เวลาเรียนรู้การขับเครื่องบินรบของอังกฤษนานถึง 35 เดือนเลยทีเดียว
ความเคลื่อนไหวของอังกฤษมีขึ้นในขณะที่พวกผู้นำสหภาพยุโรปเดินทางเยือนกรุงเคียฟในวันพฤหัสบดี (2 ก.พ.) และประธานาธิบดีเซเลนสกี ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ยกระดับคว่ำบาตร ถาโถมแรงกดดันใส่รัสเซีย
ตะวันตกกำลังมาตรการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวางเล่นงานรัสเซียรอบแล้วรอบเล่า นับตั้งแต่มอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน ทำลายล้างเมืองต่างๆ เข่นฆ่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคน อีกหลายล้านคนต้องหลบหนีจากถิ่นฐาน และก่อความสั่นคลอนแก่เศรษฐกิจโลก
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เดินทางด้วยรถไฟถึงกรุงเคียฟ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความทะเยอทะยานเข้าร่วมอียูของยูเครน และในโอกาสนี้ เธอยังได้รับปากว่าจะมอบความช่วยเหลือเพิ่มเติม ทั้งทางการเงิน การทหาร และการเมืองแก่ยูเครน
นอกจากนี้ เธอยังแถลงจัดตั้งศูนย์นานาชาติในเมืองเฮก เพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดจากการรุกรานยูเครน "นี่คือการต่อสู้ของประชาธิปไตยกับรัฐบาลเผด็จการ" เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน แถลงข่าวร่วมกับ เซเลนสกี "เราจะเดินหน้ากดดันหนักหน่วงขึ้น"
ในส่วนของเซเลนสกี เร่งเร้าให้คว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยระบุระดับของการเล่นงานรัสเซียชะลอตัวลงเล็กน้อย และบอกว่ามอสโกกำลังปรับตัวได้ดีระหว่างความขัดแย้งติดอาวุธครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 "เร็วขึ้นและหนักหน่วงขึ้นภารกิจนี้ถึงประสบความสำเร็จ ด้วยความร่วมมือใกล้ชิด เราจะเอาชนะการรุกรานของสหพันธรัฐรัสเซีย"
(ที่มา : รอยเตอร์)