เอเจนซีส์ - มีรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาห้ามการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีอเมริกันทั้งหมดให้บริษัทหัวเว่ยของจีน อ้างเหตุผลความมั่นคงสหรัฐฯ เป็นหลัก เกิดขึ้นระหว่างที่ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ถูกวอชิงตันล็อบบี้อย่างหนักและมีท่าทีคล้อยตาม
วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานวานนี้ (30 ม.ค.) ว่า แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่า วอชิงตันกำลังพิจารณาที่จะห้ามบริษัทโทรคมนาคมหัวเว่ยของจีนที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่งเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง เป็นความวิตกทางด้านความั่นคงเป็นหลัก
ความเคลื่อนไหวนี้ที่วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า เหมือนเป็นการก้าวไปข้างหน้าของสหรัฐฯ เป็นเสมือนการซัลโวครั้งใหม่ต่อปักกิ่งในการขับเคี่ยวสงครามทางการค้าระหว่างกันจากการที่บรรดาผู้เขียนนโยบายอเมริกันพยายามแสวงหาการตอบโต้นโยบายเชิงอุตสาหกรรม (industrial policy) ของจีนที่คนเหล่านี้กล่าวว่า เป็นการคุกคามผลประโยชน์ตะวันตก
บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ถูกจำกัดการขายให้หัวเว่ยมาเป็นเวลา 4 ปี นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นบัญชีดำ “หัวเว่ย” ในบัญชี Entity List ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แต่ทว่าในเวลาต่อมากระทรวงได้มีการผ่อนปรนและอนุญาตให้บริษัทหัวเว่ยยังคงสามารถซื้อสินค้าเทคโนโลยีจากอเมริกาได้ตราบเท่าที่ไม่ส่งผลเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในกล่าวว่า ในเวลานี้รัฐบาลไบเดนกำลังพิจารณาห้ามจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีอเมริกันให้บริษัทหัวเว่ยโดยสิ้นเชิง
ไฟแนนเชียลไทม์สซึ่งเป็นสื่อแรกที่ออกมาเปิดเผยระบุว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้แจ้งต่อบริษัทอเมริกันบางแห่งว่า ทางกระทรวงจะไม่ออกใบอนุญาตสำหรับการส่งออกเทคโนโลยีให้บริษัทหัวเว่ยอีกต่อไป
ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การแบนตามบัญชีดำของสหรัฐฯ รวมถึงไมโครชิปที่มีความก้าวหน้าน้อยที่ใช้ในโทรศัทพ์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
ทั้งนี้ หัวเว่ยไม่สามารถเสนอโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี 5G ได้เป็นเพราะสหรัฐฯ แบนการส่งออกไมโครชิปเทคโนโลยีขั้นสูงให้บริษัท
วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณไปยังบริษัท Qualcomm Inc และบริษัทอินเทล คอร์ป ที่ยังคงติดต่อค้าขายกับหัวเว่ยตามปกติว่า นี่อาจเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัททั้งสองจะสามารถลดการติดต่อซื้อขายกับหัวเว่ยลง แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อแสดงความเห็น
ในการพิจารณาของรัฐบาลไบเดนต่อการแบนหัวเว่ยหนึ่งในนั้นคือ นอกเหนือจากจะแบนการติดต่อซื้อขายโดยตรงระหว่างบริษัทแต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังต้องการแบนการส่งออกเทคโนโลยีสหรัฐฯ ไปบริษัทอื่นและตัวกลางที่จะส่งต่อไปให้หัวเว่ย แหล่งข่าววงในชี้ว่า เป็นการล้มดีลหัวเว่ยนอกสหรัฐฯ โดยถือว่าชิ้นส่วนเทคโนโลยีอเมริกันนั้นถูกใช้ทั่วโลก
เจแปนไทม์สรายงานว่า การตัดหัวเว่ยออกไปจะไม่ส่งผลร้ายต่อบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เหมือนที่วิตกในอดีต อ้างอิงจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของบลูมเบิร์กพบว่า หัวเว่ยคิดเป็นไม่ถึง 1% ของรายได้สำหรับบริษัท Qualcomm บริษัทอินเทล และบริษัท AMD
ข่าวการห้ามขายเทคโนโลยีให้หัวเว่ยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีข่าวออกมาว่าญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะเดินตามสหรัฐฯ ในการแบนหัวเว่ย
เจแปนไทม์สรายงานวันศุกร์ (27) ว่า ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะแบนหัวเว่ยเข้าถึงเครื่องจักรเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความก้าวหน้าสูง การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่มีการหารือร่วมกับตัวแทนรัฐบาลโตเกียวและรัฐบาลอัมสเตอร์ดัมในกรุงวอชิงตันมีกำหนดจะเสร็จสิ้นภายในวันศุกร์ (27)
ซึ่งจะเป็นการสร้างพันธมิตรขึ้นมาใหม่ในการขวางไม่ให้จีนมีความสามารถในการสร้างไมโครชิปของตัวเองภายในประเทศขึ้นมาได้ อ้างอิงจากผู้ใกล้ชิดในการเจรจา
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเจรจามีการกำหนดกรอบข้อกำหนดว่ามีอะไรบ้างที่สามารถจำหน่ายให้ปักกิ่งได้บ้าง แต่ไม่มีแผนในการประกาศเปิดเผยต่อสาธารณะ