xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนเถิด วันชาติออสเตรเลีย 26 ม.ค. มันคือ “วันรุกราน” : กระแสเรียกร้องจากออสซีเชื้อสายดั้งเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ซุปตาร์ไอไซญา ฟิเรเบรซ นักร้องคนดังขวัญใจมหาชนชาวออสเตรเลีย เป็นออสซีเชื้อสายอะบอริจินขนานแท้ ไอไซญารู้จักชีวิตลำบากยากเข็ญของชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิมเป็นอย่างดี เพราะเขาเติบโตขึ้นมาในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ 10 กว่าปี จนกระทั่งตัดสินใจนำเพลง Hello ของ Adele ไปสมัครแข่งขันเวที X Factor ออสเตรเลีย ใน ค.ศ.2016 ขณะที่อายุยังไม่เต็ม 17 กะรัต และยังเป็นนักเรียน ดั่งพรหมลิขิต ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ไอไซญากลายเป็นผู้ชนะเลิศ พร้อมกับได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องอาชีพในสังกัดโซนี แล้วชีวิตของเขาก็ทะยานรุ่งโรจน์โดยไม่เคยลืมชีวิตอันสุดแสนจะด้อยโอกาสของคนออสเตรเลียเชื้อสายอะบอริจิน ไอไซญาไม่ปิดบังในเรื่องที่เขาไม่ร่วมฉลองวันชาติออสเตรเลีย ตลอดจนการที่เขาสนับสนุนให้เปลี่ยนวันชาติเป็นวันอื่นที่ไม่ใช่ 26 มกราคม ทั้งนี้ ไอไซญาบอกกับบีบีซีว่า “ผมเป็นคนดำ และผมภูมิใจในความเป็นคนดำ ... ในวันนี้ ชนดั้งเดิมรุ่นแรกของออสเตรเลียถูกสังหารล้างบาง ผมอยากแสดงให้เห็นว่าพวกเรายังอยู่ตรงนี้ และยังคงแข็งแกร่ง”
ออสเตรเลียนผิวขาวจัดเฉลิมฉลอง “วันชาติ” ของประเทศอย่างเอิกเกริก ณ 26 มกราคมของทุกปี เพื่อระลึกอดีตที่กองเรืออังกฤษแห่งปฏิบัติการสร้างอาณานิคมใหม่ สามารถมาถึงและขึ้นฝั่งบนถิ่นซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ เมื่อ ค.ศ.1788 แต่ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียนหลายหลากสีผิว หลายพันชีวิตจัดเดินขบวนไปตามท้องถนน เรียกร้องให้ตระหนักถึงหนี้เลือดและบาดแผลแห่ง “วันรุกรานและสังหารล้างเผ่าพันธุ์” ที่นักล่าอาณานิคมยุโรปบีฑาฆ่าฟันชาวออสเตรเลียดั้งเดิมผู้เป็นเจ้าของถิ่นจนล้มตายกลาดเกลื่อนเหมือนผักเหมือนปลา

พร้อมกันนี้ ขบวนการต่อต้านชนชาวยุโรปผู้ยึดครองและแย่งชิงบ้านเกิดเมืองนอนของชาวออสเตรเลียดั้งเดิม ได้พากันเรียกร้องให้ยกเลิกวันชาติของพวกออสเตรเลียนผิวขาว

“พวกยุโรปเหล่านั้นมารุกรานแผ่นดินของเรา สังหารครอบครัวของเรา บังคับให้นักรบออสเตรเลียดั้งเดิมต้องกลายเป็นทาส” พอล ซิลวา นักเคลื่อนไหวแห่งกลุ่มชาวออสซีดั้งเดิม ปราศรัยและประกาศบนเวทีที่ย่านซิดนีย์ตอนกลาง ต่อหน้าผู้คนหลายพันรายซึ่งตะโกนตอบรับกลับขึ้นไปว่า “น่าอาย ... น่าอาย” เอเอฟพีรายงาน

“แล้วอย่างนี้จะเฉลิมฉลองกันได้อย่างไร” กวีลิซซี จาร์เรตต์ สาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิมร้องถามผู้ร่วมขบวนต่อต้าน

พร้อมกล่าวด้วยว่า แผ่นดินซิดนีย์ราบเรียบเป็นหน้ากลองเพราะผู้คนแห่งออสเตรเลียรุ่นแรกถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ล้มตายเลือดเจิ่งนอง

“คุณคิดว่าเราโกรธแค้นหรือไม่ แล้วหากเป็นคุณ คุณจะไม่โกรธแค้นล่ะหรือ” กวีลิซซีตะโกนถามฝูงชน

เอเอฟพีรายงานด้วยว่า การประท้วงต่อต้านผุดขึ้นมากมายตามเมืองใหญ่ทั้งหลายทั่วออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงโฮบาร์ต เมืองเอกของรัฐแทสมาเนีย ซึ่งบรรดาผู้เดินขบวนพากันโบกธงเพื่อประกาศถ้อยคำสำคัญว่า “แผ่นดินที่ถูกปล้น” และ “เรายังอยู่ที่นี่”

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของขบวนการต่อต้านมิให้วันซึ่งเลือดออสซีรุ่นดั้งเดิมไหลหลั่งนองแผ่นดิน 26 มกราคม เป็นวันชาติออสเตรเลียนี้ มีการเพิ่มประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในศักราช 2023 ซึ่งก็คือการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการยอมรับชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิมมากขึ้นกว่าที่เป็นมา ซึ่งรัฐบาลแนวทางกลางซ้ายของออสเตรเลียกำลังผลักดันให้บรรลุผลอยู่ในขณะนี้

ออสเตรเลียจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 235 ปี แห่งการสร้างอาณานิคมอังกฤษบนผืนแผ่นดินทวีปออสเตรเลีย ที่นครซิดนีย์ ในวันที่ 26 มกราคม 2023 ขณะเดียวกัน ชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิมหลายพันรายก็จัดกิจกรรมคู่ขนานเพื่อประท้วงต่อต้านการเฉลิมฉลองว่า แท้จริงแล้ววันดังกล่าวนี้เป็น “วันครบรอบการรุกราน” แย่งชิงดินแดนของชนพื้นเมืองซึ่งปักหลักสร้างถิ่นฐานบนทวีปออสเตรเลียมาอย่างต่อเนื่องหลายพันหลายหมื่นปี พร้อมกันนี้ เอพีรายงานว่า กระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนวันฉลองวันชาติออสเตรเลียเป็นวันอื่นๆ ที่ไม่ย่ำยีน้ำใจของชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิม นับแต่จะรุนแรงมากขึ้น

การเดินขบวนประท้วงของชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิมในส่วนที่ลุยเข้าในไฮด์ปาร์ก นครซิดนีย์ ถูกตำรวจเข้าไปสลายขบวนและไล่จับกุมผู้ประท้วง เมื่อ 26 มกราคม 2023
ชีวิตจริงของบรรดาชาวออสซีที่ต่อต้านมิให้ ‘วันรุกรานแผ่นดินออสซีรุ่นดั้งเดิม’ เป็นวันชาติออสเตรเลีย

ในอดีตเดิมๆ ที่ผ่านมา เคทลิน สาวสวยเลือดผสมระหว่างออสซีเชื้อสายดั้งเดิมกับออสซีเชื้อสายยุโรป ยังไม่เคยได้รับข้อมูลว่าเกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงเพียงใดในวันที่ 26 มกราคม 1788 ดังนั้น เธอก็เหมือนชาวออสซีหลายล้านรายทั่วประเทศที่สวมใส่เสื้อผ้าลายธงชาติ แล้วร่วมเฮฮาปาร์ตีดื่มเบียร์แกล้มไส้กรอกบาร์บีคิวริมสระว่ายน้ำเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติออสเตรเลียอย่างภาคภูมิใจ

“ดิฉันเคยจัดปาร์ตีฉลองวันชาติค่ะ ... และก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมฉลองวันชาติอย่างเต็มที่” เคทลิน สาวไอทีวัย 24 กะรัต ให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีอย่างนั้น โดยขอไม่เปิดเผยนามสกุล

แต่ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา เคทลินร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนหนุ่มสาวในออสเตรเลียที่คัดค้านการฉลองวันชาติในวันครบรอบการเข่นฆ่าคนออสซีรุ่นแรกของประเทศ

เพราะ 26 มกราคม 1788 เป็นวันครบรอบของการที่กองเรือชุดแรกจากอังกฤษได้บุกขึ้นแผ่นดินที่ปัจจุบันคือ ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ และเปิดยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคมบนทวีปแห่งซีกโลกฝ่ายใต้ โดยคำว่าซีกฝ่ายใต้ตรงกับคำภาษาละตินว่า ออสตราลิส นั่นเอง

พร้อมกันนั้น วันสำคัญดังกล่าวเป็นการเปิดฉากนองเลือดที่เต็มไปด้วยการปราบปราม การเข่นฆ่า และการปล้นชิงดินแดน

กระนั้นก็ตาม หลายฝ่ายแย้งว่าวันชาติออสเตรเลีย คือ วาระโอกาสที่จะทบทวนและฉลองรื่นเริงกันว่า ออสเตรเลียเจริญรุ่งเรืองมั่นคงมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร แต่ชุดเหตุผลนี้ไม่เพียงพอที่จะกลบเกลื่อนปิดบังความจริงที่ว่า 26 มกราคม ควรเป็นวันแห่งการไว้ทุกข์ให้แก่ชาวออสซีรุ่นดั้งเดิมที่ถูกบีฑาเข่นฆ่า ดังนั้น การเฉลิมฉลองจึงนับเป็นเรื่องหยามหยันและน่าสะเทือนใจ บีบีซีรายงานอย่างนั้น

เคทลิน บอกว่า เธอไม่เคยได้ศึกษาเล่าเรียนถึงประวัติศาสตร์อันอุกอาจเหล่านั้น ขณะเป็นนักเรียนที่รัฐควีนส์แลนด์เลย ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระแสการประท้วงกระหึ่มมากขึ้นในห้วงหลายปีที่ผ่านมา เธอจึงเร่งศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจปมขัดแย้งอันร้อนแรงภายในสังคม

ยิ่งได้อ่าน ก็ยิ่งได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์อันน่าร้าวรานของประเทศ ใจของเคทลินจึงไม่สามารถโอเคกับการรื่นเริงเฉลิมฉลองวันแห่งโศกนาฏกรรมได้อีกต่อไป

หลายๆ ปีมานี้ เคทลินจึงมิได้ร่วมเฉลิมฉลองวันชาติออสเตรเลียแล้ว และสำหรับวันที่ 26 มกราคม 2023 เธอผู้เป็นพนักงานไอทีของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้ขอผู้จัดการฝ่ายว่าเธอขอเข้าไปทำงาน แล้วจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนในวันอื่นแทน

“ดิฉันชื่นชอบปาร์ตีซดเบียร์เหมือนเพื่อนๆ ทั้งหลายค่ะ แล้วดิฉันก็ภูมิใจในความเป็นคนออสซี อีกทั้งยังรักประเทศแห่งนี้สุดๆ เลยนะคะ ดิฉันเข้าใจได้ดีถึงความรู้สึกของผู้คนที่อยากฉลองวันชาติออสเตรเลีย แต่วันนี้เป็นวันที่พวกเราจำนวนมากรู้สึกเจ็บปวดและร้าวรานใจน่ะค่ะ” เคทลินกล่าวกับบีบีซี

สาวไอที นามว่า เคทลิน เป็นหนึ่งในชาวออสซีจำนวนมากที่ยุติการเฉลิมฉลองวันชาติของประเทศ ณ 26 มกราคม หลังจากศึกษาพบว่านักล่าอาณานิคมจากอังกฤษและหลายๆ ชาติยุโรปได้สร้างโศกนาฏกรรมร้ายแรงต่อชนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลียนับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 1788 เคทลินเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้เปลี่ยนวันชาติเป็นวันอื่นที่ไม่ทำให้ชาวออสซีจำนวนมากรู้สึกเจ็บปวดและร้าวรานใจ
‘คริส เฮมส์เวิร์ท’ แห่งหนังเทพเจ้าธอร์ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล สนับสนุนให้เปลี่ยนวันชาติออสเตรเลีย

ที่ผ่านมา การรณรงค์เพื่อ “เปลี่ยนวันที่สำหรับการฉลองวันชาติ” ได้ทวีโมเมนตัมอย่างมากมายภายในออสเตรเลีย โดยมีบุคคลสำคัญของประเทศทยอยกันออกมาสนับสนุน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐแทสมาเนีย เจเรมี ร็อกคลิฟฟ์ ไปจนถึงดาราดังคับโลกอย่าง คริส เฮมส์เวิร์ท แห่งหนังเทพเจ้าธอร์ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ตลอดจน เจสัน กิลเลสพี สุดยอดโค้ชทีมคริกเก็ต และอดีตผู้เล่นคริกเก็ตทีมชาติออสซีที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในขั้นสุด

สภาบริหารระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นรัฐบาลระดับที่สามของเครือจักรภพออสเตรเลีย มีการเปลี่ยนวันฉลองความเป็นออสซีให้พ้นจากวันที่ 26 มกราคม กันไปมากมายหลายแห่งแล้ว

ด้านรัฐบาลของรัฐวิกทอเรีย แม้จะจัดกิจกรรมฉลองวันชาติในปีนี้ แต่ได้ยกเลิกพาเหรดเฉลิมฉลองเป็นที่เรียบร้อย

ในส่วนของบริษัทเอกชนมีความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ วูลเวิร์ทส์ เครือซูเปอร์มาร์เกตยักษ์ของออสเตรเลีย และเทลสตรา ซูเปอร์ธุรกิจยักษ์เจ้าของกลุ่มดาวเทียมสื่อสาร มีนโยบายให้พนักงานเลือกเองว่าจะหยุดพักผ่อนในวันที่ 26 มกราคม หรือจะทำงานในวันดังกล่าว แล้วไปเลือกใช้สิทธิในวันอื่นแทน

ที่เด็ดดวงกว่าใคร คือ เคมาร์ท มหาราชาร้านค้าปลีกได้งดขายสินค้าเกี่ยวกับวันชาติออสเตรเลีย บีบีซีรายงาน

นอกจากการรณรงค์เพื่อ “เปลี่ยนวันที่สำหรับการฉลองวันชาติ” จะทวีความเข้มข้นขึ้นมากแล้ว กระแสเรียกร้องให้จัด “วันบุกรุกแผ่นดินชาวออสซีรุ่นดั้งเดิม” กับ “วันแห่งการรอดตาย” ก็ได้รับการสนับสนุนหนาแน่นอย่างรวดเร็ว

การสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า หนึ่งในสามของชาวออสเตรเลียสนับสนุนให้เปลี่ยนวันชาติ โดยกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 35 กะรัตนั้น มีกว่า 50% ที่สนับสนุน

ตลอดที่ผ่านมานับจากปี 2013 ถึงปีที่แล้ว รัฐบาลหัวอนุรักษนิยมทั้งหลายของออสเตรเลีย ปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนวันชาติ

ด้านนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย แอนโทนี อัลบานีส บอกว่ารัฐบาลพรรคแรงงานของตนไม่มีแผนจะเปลี่ยนแปลงวันชาติเช่นกัน แต่ก็ยอมผ่อนปรนกฎเกณฑ์ที่เคยบังคับให้สภาบริหารระดับท้องถิ่นทั้งหลายว่าจะต้องจัดฉลองวันชาติทุกวันที่ 26 มกราคมของทุกปี

คริส เฮมส์เวิร์ท ดาราหนุ่มโฉมงามจากเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ทะยานสู่ชื่อชั้นแห่งซุปตาร์ดาราฮอลลีวูดคนดังคับโลก ด้วยการแสดงเป็น Thor ในหนังเทพเจ้าธอร์แห่งจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลต่อเนื่องยาวนาน 10 กว่าปี นับตั้งแต่ความสำเร็จเลอเลิศของภาพยนตร์เรื่อง Thor (2011) ที่ทำรายได้สูงสุดอันดับ 15 ของโลก จดจนถึงเรื่อง Thor : Love and Thunder (2022) ซึ่งทำให้คริสขึ้นแท่นดาราชายค่าตัวสูงสุดของโลก ซุปตาร์คริสมีความผูกพันกับชาวออสซีเชื้อสายอะบอริจินอย่างลึกซึ้งเพราะได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับชาวอะบอริจินเนิ่นนานหลายปี นับตั้งแต่ยังเป็นเด็ก 10 กว่าขวบ ทั้งนี้ คุณพ่อผู้เป็นนักจิตวิทยาสังคมพาครอบครัวออกจากนครเมลเบิร์น ไปตั้งศูนย์ชุมชนในเมืองบูลแมน ดินแดนห่างไกลความเจริญในเขตนอร์เทิร์น เทร์ริทอรี ซึ่งมากมายด้วยชาวอะบอริจิน ครอบครัวเฮมส์เวิร์ทใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนออสซีเชื้อสายดั้งเดิมเกือบ 10 ปีทีเดียว จึงย้ายกลับสู่รัฐวิกทอเรีย ณ เกาะฟิลลิปไอส์แลนด์
นักร้องซุปตาร์หนุ่มออสเตรเลียนเชื้อสายอะบอริจิน รณรงค์ขอภาครัฐสนับสนุนชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิม

ท่าทีของนักการเมืองในออสเตรเลียสร้างความขัดใจแก่ สาวจาร์ราห์ เบรลลีย์ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กวัย 24 กะรัต ดังนั้น ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา เธอทำการเปลี่ยนวันฉลองวันชาติของเธอเอง โดยที่ว่าพนักงานบริษัทของเธอเข้าออฟฟิศในวันที่ 26 มกราคมอย่างพร้อมหน้า ซึ่งส่งผลเป็นกำลังใจใหญ่หลวงแก่น้องชายต่างมารดา 2 คนของเธอซึ่งเป็นออสซีเชื้อสายอะบอริจิน ทั้งนี้ ในหลายๆ ปีที่แล้วมา ทั้งสองรู้สึกว่าถูกสังคมลอยแพในวันสำคัญที่ควรจะสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศ

“นโยบายนี้ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่ดอลลาร์เดียว แถมยังช่วยส่งข้อมูลไปยังพนักงานในทีมให้ทราบว่าบริษัทแคร์ความรู้สึกของสมาชิกในทีมที่เป็นคนเชื้อสายอะบอริจินน่ะค่ะ” สาวเบรลลีย์บอกบีบีซี

เธอให้ข้อมูลด้วยว่าทีมงานทั้ง 10 คนของบริษัทนั้น ไม่ใช่เพียงจะสนับสนุนการตัดสินใจของเธอ หากยังรู้สึกภาคภูมิใจไปด้วย

“เราคิดว่าเราเต็มใจจะฉลองวันชาติของประเทศ ... โดยเราสามารถกำหนดวันไหนๆ ของปีขึ้นมาเป็นวันชาติได้อย่างมากมาย แล้วทำไมเราจะต้องไปยึดอยู่กับวันที่ 26 มกราคม ซึ่งมีเพื่อนร่วมชาติมากมายได้รับความสะเทือนใจ” ผู้ประกอบการสาวคนสวยชี้ประเด็นไว้อย่างนั้น

เห็นกระแสต่อต้านวันชาติออสเตรเลีย 26 มกราคม ว่าฮือฮามากมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าชาวเชื้อสายออสซีดั้งเดิมทุกคนจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง

โดยมีบางส่วนแย้งว่าน่าจะไปผลักดันเรื่องสำคัญมากๆ ในประเด็นอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบได้มากกว่าเรื่องของวันชาติ ซึ่งชาวออสซีที่มิใช่กลุ่มเชื้อสายดั้งเดิมสามารถทำให้แก่ชาวออสซีรุ่นดั้งเดิม ในเวลาเดียวกัน อีกบางส่วนเตือนว่าการเปลี่ยนวันชาติจะช่วยซ่อนอาชญากรรมโดยผู้อพยพจากยุโรปเมื่อยุคอดีต

สาวออสซี จาร์ราห์ เบรลลีย์ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กวัย 24 กะรัต (กลาง) มอบภาพถ่ายบานนี้ให้แก่บีบีซี ซึ่งเป็นภาพทีมงานระดับหัวๆ ของบริษัท ทุกคนบอกว่าพอใจมากกับนโยบายของบอส ซึ่งตัดสินใจเปลี่ยนวันฉลองวันชาติออสเตรเลียโดยไม่ยอมเสียเวลารอความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานภาครัฐ
ด้านหนุ่มไอไซญา ฟิเรเบรซ ซุปตาร์นักร้องคนดังของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นออสซีเชื้อสายอะบอริจิน ก็เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่ไม่ร่วมฉลองวันชาติออสเตรเลีย 26 มกราคม แต่เขาก็มิได้ถึงกับจะคว่ำบาตร

ซุปตาร์ฟิเรเบรซ หนุ่มวัย 23 กะรัต เจ้าของเสียงหวานบาดลึกความรู้สึก บอกบีบีซีว่า วันชาติออสเตรเลียเป็นเครื่องระลึกถึงการเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอะบอริจิน

แต่เขาก็จะเข้าร่วมกิจกรรมบนเวทีคอนเสิร์ตฉลองวันชาติที่ซิดนีย์ ดั่งที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว

“ผมเป็นคนดำ และผมภูมิใจในความเป็นคนดำ ... ในวันนี้ ชนดั้งเดิมรุ่นแรกของออสเตรเลียถูกสังหารล้างบาง ผมอยากแสดงให้เห็นว่า พวกเรายังอยู่ตรงนี้ และยังคงแข็งแกร่ง” กล่าวโดยหนุ่มฟิเรเบรซ เจ้าของรางวัลชนะเลิศรายการเอ็กซ์แฟกเตอร์ของออสเตรเลียในปี 2016 และเป็นตัวแทนออสเตรเลียไปร่วมรายการยูโรวิชันในปี 2017

การขึ้นเวทีแสดงที่ซิดนีย์ในวันชาติออสเตรเลีย เป็นอะไรที่ตัดสินใจได้ยากยิ่ง และเป็นอะไรที่ฟิเรเบรซทราบดีว่าตนเองจะต้องโดนกระแสฟาดกลับ

“คนคงจะไปพูดกันว่า ‘ทำไมเขาทำอย่างนั้น’ แต่ผมรู้ว่าผมขึ้นเวทีเพื่อทำสิ่งที่ต้องทำในทางส่วนตัวล้วนๆ น่ะครับ คุณไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ทั่วหน้าหรอกครับ” ซุปตาร์ฟิเรเบรซ กล่าว

แต่เขาอุ่นใจมากเลยที่ได้เห็นโมเมนตัมสู่ความเปลี่ยนแปลงทวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ เขาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริง – เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักหนึ่งเจเนอเรชัน

ชาวออสเตรเลียมากเลยที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ฟิเรเบรซบอกกับบีบีซี พร้อมกับอธิบายว่ามีคนออสซีมากมายที่รู้สึกว่ากระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนวันชาติ เป็นสิ่งที่หยามกันอย่างร้าย “ผมคิดว่าพวกเขารู้สึกเหมือนกับว่าจะมีบางสิ่งถูกแย่งออกไป”

“มีเยอะครับที่บอกว่า ‘เราไม่ได้เป็นผู้กระทำต่อพวกคุณนะ แล้วมันก็เกิดขึ้นนานมากมาแล้ว ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงเพราะเรื่องที่เราไม่ได้มีส่วนกระทำ’” ฟิเรเบรซบอกอย่างนั้น และบอกด้วยว่าคนออสเตรเลียมีชื่อเสียงดีงามในเรื่องการช่วยเหลือดูแลเพื่อน

“แต่มันก็เป็นอะไรที่พูดอย่าง-ทำอีกอย่างน่ะนะครับ คือคนออสเตรเลียยืนหยัดในคุณค่าของเรื่องนี้ แต่กลับไม่ยอมทำเพื่อประชาชนคนผิวดำของประเทศตนเอง” ฟิเรเบรซพูดไว้กับบีบีซีอย่างนั้น

ซุปตาร์ไอไซญา ฟิเรเบรซ เด็กออสซี-อะบอริจินขนานแท้ ใช้ฝีมือล้วนๆ ในการทะยานสู่ฟากฟ้าซูเปอร์สตาร์ออสเตรเลีย ทั้งนี้ แม้จะไม่ปิดบังความคิดเห็นทางสังคมว่าด้วยความเสียเปรียบของชนกลุ่มน้อยอะบอริจิน แต่เขาก็ให้ความร่วมมือแก่กิจกรรมต่างๆ ของออสซีผิวขาวซึ่งครองความเป็นเจ้าของประเทศ จนกระทั่งสามารถประคองตนอยู่ในความนิยมชื่นชมของสาธารณชนได้เป็นอย่างดีตลอดตั้งแต่ปี 2016 จรดจนปี 2023 – ภาพขวาเป็นไอไซญาวัย 16 กะรัต ขณะเข้าแข่งขันร้องเพลงเวที X Factor ออสเตรเลีย ส่วนภาพซ้ายเป็นไอไซญาในรูปลักษณ์ใหม่ที่โบกมือลาทรงผมยาวอมตะของตนเมื่อปี 2022

ไอไซญา ฟิเรเบรซ มีโครงหน้าแบบชนพื้นเมืองหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้แก่โหนกคิ้วนูนหนาเป็นแนว และสันจมูกไม่สูง ไอไซญาทำดั้งจมูกใหม่ให้ดูคมสันและประเปรียว นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยนดั้งจมูกหลายๆ สไตล์ หลายครั้งซึ่งเอื้อให้เกิดภาพลักษณ์โมเดิร์นกลมกลืนกับบรรดาซุปตาร์ผิวขาวทั้งปวง

ในคอนเสิร์ตฉลองวันชาติออสเตรเลียปี 2021 ไอไซญาผู้ซึ่งยังเหนียวแน่นกับทรงผมยาวสลวย ได้ขึ้นเวทีร้องเพลงมอบความสุขแก่แฟนานุแฟน (ภาพซ้าย) ตามหน้าที่ที่ไม่ควรละเลยในฐานะซุปตาร์แห่งออสเตรเลีย  แต่เมื่อเข้ากลางปี 2021 เขาลุกขึ้นพลิกรูปลักษณ์สู่โฉมใหม่และกล่าวลาขาดกับทรงผมเดิม  ไอไซญามีวิสัยทัศน์ว่าพลวัตแห่งความเปลี่ยนแปลงทวีตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เขาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริง – เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักหนึ่งเจเนอเรชัน
อนึ่ง ชาวออสเตรเลียเชื้อสายดั้งเดิมตั้งหลักปักฐานในทวีปออสเตรเลียมานานกว่า 65,000 ปี แต่กลับต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกเลือกปฏิบัติและถูกปราบ นับตั้งแต่ที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษมาถึงและบุกเข้ารุกรานเมื่อ 230 ปีที่แล้ว เอเอฟพีรายงานอย่างนั้น

มีชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิมมากกว่า 10,000 รายถูกสังหารในบรรดากว่า 400 เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในห้วง 2 ศตวรรษกว่าๆ ดังกล่าว

ในปัจจุบันนี้ ประชากรออสซีเชื้อสายอะบอริจินมีสัดส่วนเป็น 3.6% โดยต้องเผชิญกับความไม่เสมอภาคไม่เท่าเทียมทั้งปวงอย่างสาหัสทีเดียว ส่งผลให้ต้องมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยที่ว่าส่วนใหญ่มีอายุขัยต่ำกว่าชาวออสเตรเลียเชื้อสายอื่นๆ

ที่สำคัญคือ ชาวออสซีเชื้อสายดั้งเดิมมักที่จะเสียชีวิตในระหว่างที่ถูกตำรวจควบคุมตัว

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : เอเอฟพี บีบีซี เอพี เดลีเมลออนไลน์)


กำลังโหลดความคิดเห็น