ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสหราชอาณาจักร "ห่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ" จากคำเตือนของ ไดแอน แอบบอต์ สมาชิกสภาสามัญชนจากพรรคเลเบอร์ ขณะที่งานวิจัยต่างๆ พบว่าบุคคลมั่งมีที่คิดเป็นสัดส่วน 1% ของชาวสหราชอาณาจักร เวลานี้มีความมั่งคั่งมากกว่าทรัพย์สินของประชาชน 70% รวมกัน
ผลการศึกษาของอ็อกซ์แฟม พบว่า บุคคลร่ำรวยที่สุดในสหราชอาณาจักร 685,000 คน มีทรัพย์สินรวมกัน 2.8 ล้านล้านปอนด์ ในขณะที่ 70% ของประชากรทั้งหมด หรือประชาชน 48 ล้านคน มีทรัพย์สินรวมกัน 2.4 ล้านล้านปอนด์
รายงานขององค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไรแห่งนี้ ที่ใช้ชื่อว่า Survival of The Richest ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทั่วโลก หลังพบเห็นความขัดสนรุนแรงและความร่ำรวยแบบสุดขั้ว ต่างเพิ่มขึ้นทั้งคู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
แอบบอต์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มอร์นิง สตาร์ ว่า "สหราชอาณาจักรกำลังกลายเป็นสังคมหนึ่งที่คนมั่งมีรวยเอารวยเอา และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากสุดเท่าที่เคยมีมา แต่รัฐบาลยืนกรานว่าพนักงานภาครัฐ อย่างเช่นพยาบาล จำเป็นต้องยอมรับการค่าจ้างที่ลดลงในแง่ของความเป็นจริง"
ระหว่างปี 2021 ถึงปี 2022 บุคคลร่ำรวย 1% มีทรัพย์สินพอกพูนเกือบเท่าตัว ในฐานะทรัพย์สินใหม่ เท่ากับทั่วโลกรวมกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 21 ล้านล้านปอนด์ อ็อกซ์แฟมระบุ
ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่พุ่งทะยานบีบให้แรงงาน 1,700 ล้านคน มีค่าจ้างลดลงในแง่ของความเป็นจริง และอีกมากกว่า 820 ล้านคน หรือราว 1 ใน 10 ของประชากรโลกกำลังประสบกับภาวะอดอยาก
อ็อกซ์แฟม เรียกร้องให้เก็บภาษีความมั่งคั่งสูงสุด 5% จากอภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย เพื่อรวบรวมเงิน 1.4 ล้านล้านปอนด์ในแต่ละปี สำหรับช่วยเหลือประชากร 2,000 ล้านคนออกจากความยากจนขัดสน
แดนนี ศรีสกันธราชา จากองค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไรแห่งนี้ตำหนิรัฐบาลประเทศต่างๆ ต่อความล้มเหลวในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำที่ห่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบอกว่ามันเป็นการดูหมิ่นคุณค่าพื้นฐานความเป็นมนุษย์
"วิกฤตต่างๆ ผลักผู้คนหลายล้านสู่ปากเหว ในขณะที่พวกผู้นำของเราล้มเหลวในการทำสิ่งที่กล้าหาญ รัฐบาลประเทศต่างๆ หยุดดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย
"เราจะยอมรับระบบหนึ่งได้อย่างไร ในเมื่อคนที่ยากจนที่สุดในประเทศต่างๆ มากมายต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่าพวกอภิมหาเศรษฐี คนขายขนมปังรายหนึ่งในยูกันดา ต้องจ่ายภาษี 40% ในแต่ละเดือน ขณะที่อัตราภาษีที่แท้จริงของอภิมหาเศรษฐีบางส่วนอยู่ในระดับต่ำแค่ราวๆ 3%"
องค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไรแห่งนี้ พบด้วยว่าบริษัทอาหารและพลังงาน 95 แห่ง มีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปีที่แล้ว มีกำไรลาภลอย 251,000 ล้านปอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ไปเข้ากระเป๋าบรรดาผู้ถือหุ้น
รายงานของอ็อกซ์แฟม ระบุว่าเงินเฟ้อพุ่งทะยานในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลียและสหรัฐฯ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งมีผลกำไรส่วนเกินของบริษัททั้งหลายเป็นตัวขับเคลื่อน
นิค เดียร์เดน ผู้อำนวยการองค์กร Global Justice Now ให้สัมภาษณ์กับมอร์นิงสตาร์ ว่าตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพวกอภิมหาเศรษฐีกำลังทำสงครามชนชั้นกับพวกเราที่เหลือ "ชนชั้นมั่งมีที่มีอยู่น้อยนิด เสริมความร่ำรวยให้แก่ตนเอง ด้วยราคาที่คนยากจนเป็นคนจ่าย และหายนะด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั่วโลก"
(ที่มา : บลูมเบิร์ก)