เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - กลายเป็นเรื่องผิดหวังเมื่อโครงการ "Start Me Up" ส่งจรวดนำดาวเทียม 9 ดวงขึ้นวงโคจรโลกจากคอร์นวอลล์ ในอังกฤษเป็นครั้งแรกคืนวันจันทร์ (10 ม.ค.) โดย ริชาร์ด แบรนด์สัน มหาเศรษฐีสติเฟื่องแดนผู้ดีกลับประสบความล้มเหลวท่ามกลางการเฝ้ารอคอยจากแฟนๆ ทั่วเกาะ องค์การอวกาศอังกฤษประกาศ พบความผิดปกติระหว่างการปล่อยจรวดลอนเชอร์วัน (LauncherOne rocket) ถูกปล่อยจากใต้ปีกเครื่องบินโบอิ้งคอสมิก เกิร์ล (Cosmic Girl) แบบวิถีแนวราบไม่ใช่การปล่อยจากฐานยิงตามแนวตั้งแบบเดิมๆ รัฐมนตรีพาณิชย์อังกฤษคาดหวังให้แบรนด์สัน ทดสอบการปล่อยรอบใหม่อีกครั้ง
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) ว่า บริษัทเวอร์จิน ออร์บิต (Virgin Orbit) ของมหาเศรษฐีอังกฤษ ริชาร์ด แบรนด์สัน ประสบความล้มเหลวครั้งแรกในการปล่อยดาวเทียม จำนวน 9 ดวงจากดินแดนอังกฤษเป็นครั้งแรกเพื่อขึ้นสู่วงโคจรโลกในความพยายามที่อังกฤษต้องการก้าวเข้าสู่การแข่งขันทางอวกาศกับสหรัฐฯ รัสเซีย จีน อย่างเต็มตัว
ในแถลงการณ์บริษัทซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า ภารกิจล้มเหลวเนื่องมาจากเกิดปัญหาความผิดปกติขึ้นที่จรวดลอนเชอร์วัน (LauncherOne rocket) ส่งผลทำให้ไม่สามารถไปถึงวงโคจรโลกได้
เป็นปฏิบัติการภายใต้ชื่อ Start Me Up โดยจรวดลอนเชอร์วันเดินทางด้วยความเร็ว 11,000 ไมล์/ชม. ก่อนที่ระบบจะเกิดขัดข้อง โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เชื่อว่าจรวดจะระเบิดแยกเป็นชิ้นๆ หลังเกิดความขัดข้อง
การส่งดาวเทียม 9 ดวงจากดินแดนอังกฤษของแบรนด์สันครั้งแรกนี้ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเขาวางแผนยิงจรวดลอนเชอร์วันจากออกมาจากใต้ปีกเครื่องบินโบอิ้ง 747 คอสมิก เกิร์ล กลางอากาศในลักษณะการปล่อยแบบวิถีแนวราบ ไม่ใช่การปล่อยแบบแนวดิ่งเหมือนเช่นที่ทำแบบปกติ
ท่ามกลางเสียงเชียร์และกำลังใจเพียบจากชาวอังกฤษทั่วประเทศ ที่มีทั้งอีทีตัวเขียวร้องขอให้ช่วยพากลับบ้าน โดยเฉพาะที่คอร์นวอล (Cornwall) มีคนเฝ้ารอถึง 75,000 คน
เดอะการ์เดียนรายงานว่า นักบินทดสอบกองทัพอากาศอังกฤษ RAF เรืออากาศเอก แมทธิว สแตนเนิร์ด (Matthew Stannard) เป็นคนขับเครื่องบินขึ้นเทกออฟหลังเวลา 22.00 น. จากคอร์นวอลทางตะวันตกเฉียงใต้และเดินทางมาถึงจุดหมายที่ทางใต้ของไอร์แลนด์เพื่อรอคอยสัญญาณปล่อยจรวดลอนเชอร์วัน
สัญญาณการปล่อยเกิดขึ้นในเวลา 23.10 น. จรวดลอนเชอร์วันถูกปล่อยจากใต้ปีกในระดับ 10,700 เมตร ลดระดับไปเล็กน้อยก่อนที่เครื่องยนต์จะติดและเดินทางมุ่งหน้าไปทางใต้เพิ่มความเร็วและระดับความสูงขณะที่กำลังมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะคานารี (Canary Islands) ส่วนเครื่องบินคอสมิก เกิร์ลหันหัวกลับคอร์นวอล ท่ามกลางการลุ้นผ่านจอขนาดยักษ์ของประชาชนอังกฤษที่เฝ้ารอ
NPR สื่อสหรัฐฯ รายงานทุกสิ่งเป็นไปตามแผนการหลังจากจรวดลอนเชอร์วันแยกตัวออกมาจากเครื่องบินแล้ว โดยเครื่องยนต์สเตจที่ 2 ของจรวดถูกจุดขึ้นและนำจรวดเข้าใกล้ระดับวงโคจรเป้าหมาย
จรวดลอนเชอร์วันเตรียมพร้อมเพื่อที่จะปล่อยให้ดาวเทียม 9 ดวงออกไปโดยเครื่องยนต์ถูกดับขณะที่เดินทางได้ครึ่งทางรอบโลก และตัวจรวดหมุนตัวท่ามกลางแสงอาทิตย์ซึ่ง NASA ของสหรัฐฯ เรียกว่าเป็นการควบคุมความร้อนทางอ้อม ที่มีชื่อเรียกติดปากว่า “การปิ้งบาร์บีคิว” (barbecue roll) เพื่อให้ทุกด้านของจรวดนั้นไม่มีด้านใดร้อนหรือเย็นจนเกินไป
และตามแผนการเครื่องยนต์จะถูกกลับมาจุดอีกครั้งเพื่อให้วิศวกรสามารถมั่นใจว่าดวงเทียมทั้ง 9 ดวงถูกส่งไปยังพิกัดที่ต้องการหรือที่ 555 กิโลเมตรในวงโครจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (sun-synchronous orbit) หรือ SSO แต่ทว่าจรวดกลับไปไม่ถึงวงโคจร
เดอะการ์เดียนรายงานว่า บริษัทเวอร์จิน ออร์บิตออกแถลงการณ์ครั้งแรกว่า จรวดลอนเชอร์วันสามารถเดินทางไปถึงวงโคจรโลกและเตรียมที่จะปล่อยดาวเทียมออกไป แต่ทว่าในอีก 28 นาทีต่อมา บริษัทออกแถลงการณ์ใหม่และลบแถลงการณ์เดิมทิ้ง โดยในแถลงการณ์ใหม่มีใจความว่า
“เราดูเหมือนพบความผิดปกติที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปถึงวงโคจรได้ ทางเรากำลังตรวจสอบข้อมูลอยู่ในเวลานี้”
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติม รัฐมนตรีพาณิชย์อังกฤษ แกรนต์ แชปป์ส (Grant Shapps) แสดงความเห็นวันอังคาร (10) ว่า ความหวังของอังกฤษในการเป็นผู้นำศูนย์ปล่อยสู่อวกาศสำหรับดาวเทียมขนาดเล็กยังคงมีอยู่ตามเดิมถึงแม้ว่าจะมีความล้มเหลวสำหรับการปล่อยครั้งแรกก็ตาม
แชปป์สกล่าวแสดงความเห็นกับสกายนิวส์ว่า “อวกาศเป็นสิ่งที่ยาก” และเสริมต่อว่า “มันไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาจะต้องลุกขึ้นมาปัดฝุ่นตามตัวออกและเริ่มเดินหน้าต่ออีกครั้ง”
ด้าน แดน ฮาร์ต (Dan Hart) ซีอีโอใหญ่บริษัทเวอร์จิน ออร์บิต กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทตั้งเป้าว่าหลังจากศึกษาความผิดพลาดแล้วทางกลุ่มจะกลับมาเริ่มปฏอบัติการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรอีกครั้ง
NPR รายงานว่า บริษัทเวอร์จิน ออร์บิตแถลงว่าผลจากความล้มเหลวทำให้ดาวเทียม 9 ดวงสูญหาย แมตต์ อาร์เชอร์ (Matt Archer) ผู้อำนวยการด้านเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ประจำองค์การอวกาศอังกฤษ ยืนยันว่าจะต้องมีการปล่อยอีกครั้งตามมาอย่างแน่นอน