xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อได้ไหม?? มะกันจัดเล่น‘วอร์เกม’สงครามไต้หวัน 24 รอบ สรุปจีนเข้ายึดไทเปไม่สำเร็จ แต่สหรัฐฯ-ญี่ปุ่นก็เจ็บหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2022 ขณะเข้าร่วมการซ้อมรบกับเกาหลีใต้  ทั้งนี้ตามรายงานสรุปการเล่นเกมสงครามที่ CSIS ของสหรัฐฯเพิ่งนำออกเผยแพร่ ระบุว่า ถ้าจีนบุกไต้หวันในปี 2026 ตามที่คาดการณ์กัน จีนจะยึดไทเปไม่สำเร็จ ขณะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเสียหายอย่างสาหัส โดยที่เรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันจะถูกทำลายอย่างน้อย 2 ลำ
จีนจะล้มเหลวในการใช้กำลังบุกยึดไต้หวันในปี 2026 ถ้าสหรัฐฯเข้าช่วยเหลือปกป้องเกาะแห่งนี้ ทว่ากองทัพอเมริกัน และไต้หวัน รวมทั้งญี่ปุ่น ก็จะประสบความสูญเสียอย่างหนักหน่วงเช่นกัน ทั้งนี้ตามผลลัพธ์ของเกมการทำสงครามจำนวนกว่า 20 รอบ ซึ่งจัดขึ้นมาโดยสถาบันวิจัยชื่อดังในกรุงวอชิงตันและนำออกมาเผยแพร่ในวันจันทร์ (9 ม.ค.)

พวกผู้เชี่ยวชาญทางทหารที่มารวมตัวเพื่อเล่นเกมสงครามการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ ซึ่งจัดโดย ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาและการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) หน่วยงานคลังสมองอเมริกันชื่อดังที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกว่าฝ่ายต่างๆ ที่น่าจะเข้าร่วมโดยตรงในสงครามคราวนี้ทุกๆ ราย อันได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, ไต้หวัน, และญี่ปุ่น ล้วนแต่จะประสบความสูญเสีย “อย่างมหาศาล” กันทั้งสิ้น

ทั้งนี้ขีปนาวุธของจีนน่าจะทำลายฐานทัพอากาศสหรัฐฯแห่งต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในญี่ปุ่น และที่อยู่ไกลออกไปจนถึงเกาะกวม รวมทั้งจมเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ 2 ลำ และเรือพิฆาต ตลอดจนเรือลาดตระเวนระหว่าง 10 ถึง 20 ลำ เมื่อการบุกเปิดฉากขึ้นมา

ขณะที่ตามรายงานของโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งสำนักข่าวอาร์ทีของรัสเซียนำมารายงานต่ออีกทีหนึ่งระบุว่า ในผลสรุปการศึกษาจากการเล่นเกมสงครามนี้ซึ่งใช้ชื่อรายงานว่า ‘The First Battle of the Next War,’ (สมรภูมิแรกของสงครามครั้งต่อไป) CSIS คาดการณ์ว่า นอกจากเสียเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 2 ลำแล้ว ทหารอเมริกัน 3,200 คนก็จะเสียชีวิตใช่วง 3 สัปดาห์ของการสู้รบ และหากรวมกับของญี่ปุ่นและไต้หวันแล้ว ความสูญเสียจะประกอบด้วยเรือรบหลายสิบลำ อากาศยานหลายร้อยลำ และกำลังพลหลายพันคน

รายงานของ CSIS บอกว่าระดับขีดความสามารถของกองทัพไต้หวันจะลดลงอย่างรุนแรง และเหลือศักยภาพในการปกป้องเกาะโดยที่ “ไม่มีกระแสไฟฟ้าและบริการพื้นฐานต่างๆ” ส่วนญี่ปุ่นอาจสูญเสียเครื่องบินราวๆ 100 ลำ และเรือรบ 26 ลำ โดยที่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในแดนอาทิตย์อุทัยก็ตกอยู่ภายใต้การโจมตีจากจีน

ทว่ากองกำลังที่บุกเข้าไปในไต้หวันของฝ่ายจีน ก็จะถูกทำลายเสียหายหนักหน่วงไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะสามารถยึดครองพื้นที่สำคัญใด ๆ ของไต้หวันได้สำเร็จ โดยรายงานการศึกษาของ CSIS คาดการณ์ว่า จากการสู้รบกัน กองทัพเรือจีนจะอยู่ในสภาพ “ปั่นป่วนวุ่นวายไปหมด” และปักกิ่งอาจสูญเสียกำลังพลมากถึง 10,000 นาย เครื่องบิน 155 ลำ และเรือสำคัญๆ 138 ลำ

รวมทั้งในท้ายที่สุดแล้ว ปักกิ่งจะถูกขัดขวางจนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของตนในการเข้ายึดครองเมืองหลวงไทเปของเกาะไต้หวัน ทั้งนี้เป็นผลที่ออกมาของเกมสงครามส่วนใหญ่ซึ่งมีการเล่นกันรวม 24 รอบโดยที่มีการเปลี่ยนแปลงสมมุติฉากทัศน์ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาต่างๆ กันไป

ความล้มเหลวเช่นนี้ ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเป้าหมายต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่จากฝีมือการโจมตีตอบโต้กลับของฝ่ายไต้หวัน สามารถที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของการปกครองแผ่นดินใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทีเดียว รายงานของ CSIS ระบุ

“เราบรรลุข้อสรุปรวม 2 ประการ” เป็นคำกล่าวของ อีริค เฮกินโบแธม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงซึ่งอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที)

“ประการแรก ในสภาวการณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ที่สุด จีนไม่น่าที่จะประสบความสำเร็จสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติการของตน หรือในการเข้ายึดครองไทเปได้” เขากล่าว

“ประการที่สอง ต้นทุนค่าใช้จ่ายของสงครามจะสูงลิ่วสำหรับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แน่นอนทีเดียวนี่รวมทั้งสหรัฐฯด้วย”

โดยที่การเข้าไปช่วยเหลือไต้หวันของสหรัฐฯถือว่ามีความสำคัญยิ่งยวด ทั้งนี้ฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์ที่ไม่มีอเมริกานั้น ไต้หวันจะถูกกองทัพปลดแอกประชาชนจีนพิชิตภายใน 3 เดือนหรือน้อยกว่านั้น

ในเกมสงครามรอบต่างๆ ที่เล่นกันครั้งนี้ ฉากทัศน์สำคัญเกี่ยวกับการบุกของปักกิ่ง จะเริ่มต้นด้วยการที่จีนเปิดฉากถล่มโจมตีอย่างหนักหน่วงซึ่งจะทำลายกองทัพเรือและกองทัพอากาศของไต้หวันส่วนใหญ่ไปได้ตั้งแต่ช่วงสองสามชั่วโมงแรกๆ

จากนั้นกองทัพเรือจีนจะเข้าปิดล้อมไต้หวัน และเริ่มต้นลำเลียงกองกำลังยกพลขึ้นบกซึ่งประกอบด้วยทหารหลายหมื่นคนพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ ข้ามช่องแคบไต้หวันไปที่เกาะ

เกมสงครามรอบต่างๆ คราวนี้ปรากฏออกมาว่า ฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ กองทัพบกไต้หวันสามารถตรึงทหารจีนเอาไว้ที่บริเวณแนวชายฝั่งของเกาะ

“เวลาเดียวกัน เรือดำน้ำ, เครื่องบินทิ้งระเบิด, และเครื่องบินขับไล่/โจมตี ของสหรัฐฯ ซึ่งบ่อยครั้งได้รับการหนุนเสริมจากกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ก็สามารถทำให้กองเรือสะเทินน้ำสะเทินบกของจีนกลายเป็นอัมพาตไปอย่างรวดเร็ว” รายงานกล่าว

“การที่จีนโจมตีใส่ฐานทัพต่างๆ ในญี่ปุ่น และใส่เรือผิวน้ำของสหรัฐฯไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ได้ นั้นคือ ไต้หวันยังคงสามารถปกครองตนเองต่อไป” รายงานของ CSIS บอก

ขณะที่ แมตธิว แคนเชียน แห่งวิทยาลัยสงครามนาวีสหรัฐฯ กล่าวว่า มีตัวแปรสำคัญยิ่งยวดหลายๆ ประการที่จะทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้

ประการแรก คือ ไต้หวันต้องมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะสู้รบตอบโต้

ประการที่สอง ญี่ปุ่นต้องอนุญาตให้สหรัฐฯเปิดการโจมตีตอบโต้จากฐานทัพอเมริกันซึ่งตั้งอยู่บนดินแดนญี่ปุ่น ไม่เช่นนั้นแล้ว การแทรกแซงของสหรัฐฯก็จะไม่เพียงพอสำหรับการรักษาอำนาจปกครองตนเองของไต้หวันเอาไว้ต่อไป

CSIS บอกว่าจากการเล่นเกมสงครามครั้งนี้ ยังทำให้มองเห็นตัวแปรที่ยังไม่ทราบหลายๆ ตัวซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เป็นต้นว่า สหรัฐฯจะเสี่ยงทำสงครามนิวเคลียร์ด้วยการเข้าโจมตีจีนโดยตรงหรือไม่ และประการที่ 2 สาธารณชนในสหรัฐฯและในญี่ปุ่นมีการเตรียมพร้อมที่จะยอมรับความสูญเสียหนักที่จะมาจากการเข้าพิทักษ์ปกป้องไต้หวันหรือไม่

ขณะเดียวกัน รายงานก็ชี้ว่า ความสูญเสียของสหรัฐฯจากสงครามคราวนี้ จะสร้างความเสียหายหนักหน่วงให้แก่ความสามารถของวอชิงตันในการแผ่อำนาจไปทั่วโลกเป็นระยะเวลายาวนานทีเดียว

“สหรัฐฯอาจจะมีชัยชนะในสงครามที่สร้างความเสียหายอย่างสาหัสให้แก่ทุกๆ ฝ่ายนี้ แต่ก็จะเผชิญความสูญเสียในระยะยาว มากยิ่งกว่าฝ่ายจีนที่เป็นฝ่าย ‘ประสบความพ่ายแพ้’ เสียอีก” รายงานของ CSIS ระบุ

รายงานบอกอีกว่า ทั้งกองทัพไต้หวันและกองทัพสหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องสร้างสมกำลังแสนยานุภาพ โดยโฟกัสไปที่พวกอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะสามารถอยู่รอดได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้เพื่อสร้างกำลังในลักษณะการป้องปรามให้มากขึ้น สำหรับต่อกรกับการบุกของจีน

“ถึงแม้มีการพูดเกี่ยวกับการนำเอา “ยุทธศาสตร์แบบตัวเม่าน” มาใช้ แต่ไต้หวันยังคงใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมของตนส่วนใหญ่ที่สุดไปที่การซื้อหาเรือและเครื่องบินราคาแพงๆ ซึ่งจีนจะสามารถทำลายได้อย่างรวดเร็ว” รายงานของ CSIS ยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม รายงานของ CSIS บอกว่า สงครามนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ “หรือแม้กระทั่งมีความน่าจะเป็นว่าจะเกิดขึ้นมา” พร้อมกับชี้ว่าปักกิ่งยังอาจเลือกใช้ยุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งโดดเดี่ยวไต้หวันในทางการทูต และการบีบบังคับในทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเข้าโจมตีด้วยกำลังทหาร

รายงานนี้ชี้ด้วยว่า ไม่สามารถเปรียบเทียบการสู้รบขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในไต้หวัน กับวิกฤตการณ์ในยูเครนได้ เนื่องจากในกรณีของไต้หวันนั้น ทันทีที่สงครามเริ่มต้นขึ้นมา ก็ “เป็นไปไม่ได้” แล้วที่จะส่งทหารและยุทธสัมภาระต่างๆ ขึ้นไปบนเกาะ

“อะไรก็ตามที่ฝ่ายไต้หวันจะนำมาใช้สู้รบทำสงครามคราวนี้ พวกเขาต้องมีอยู่เรียบร้อยแล้วตอนที่สงครามเริ่มต้นขึ้นมา” CSIS บอก พร้อมกับสนับสนุนว่าวอชิงตันจำเป็นต้องติดอาวุธให้ไต้หวันอย่างเต็มที่เป็นการล่วงหน้า

(ที่มา: เอเอฟพี, อาร์ที)
กำลังโหลดความคิดเห็น