ชาวสหราชอาณาจักรมากกว่า 2 ใน 3 ต้องการโหวตกลับเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จากผลสำรวจความคิดเห็นใหม่ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ในวันอาทิตย์ (1 ม.ค.) และในนั้นมากกว่าครึ่งชี้ว่าการตัดสินใจถอนตัวออกจากกลุ่มนับเป็นความผิดพลาด
สหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มกราคม 2020 ตามหลังประชามติเบร็กซิตในปี 2016 โดยคะแนนโหวตสนับสนุนแยกตัวจากสหภาพยุโรป เอาชนะไปด้วยคะแนนฉิวเฉียด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ผลการสำรวจที่จัดทำโดยบริษัทวิจัยซาแวนธา พบว่า 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการโหวตใหม่ เพิ่มขึ้นจากขวบปีที่ผ่านมาถึง 10%
กระนั้นก็ดี ยังมีความเห็นแตกแยกกันว่าควรจัดลงประชามติอีกรอบเมื่อไหร่ โดย 22% บอกว่าอยากให้จัดเดี๋ยวนี้เลย และ 24 % เชื่อว่ามันควรเกิดขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า ส่วนที่อยากให้จัดภายใน 6 ถึง 10 ปี มี 11% และนานกว่า 20 ปี มีอยู่ 4%
ขณะเดียวกัน สัดส่วนพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดประชามติรอบใหม่ในประเด็นการเป็นรัฐสมาชิกอียู ลดลงจากระดับ 32% เหลือเพียง 24%
ผลสำรวจความคิดเห็นยังบ่งชี้ด้วยว่า ชาวสหราชอาณาจักรเริ่มมีมุมมองแง่ลบมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของการเบร็กซิต โดย 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าการถอนตัวจากสภาพยุโรปเป็นการตัดสินใจที่แย่ เพิ่มขึ้นจากระดับ 46% ของปีที่แล้ว
มุมมองนี้มีบ่อเกิดจากความเชื่ออย่างกว้างขวางที่ว่า เศรษฐกิจและอิทธิพลระดับโลกของสหราชอาณาจักรได้รับความเสียหายจากการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
56% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าการถอนตัวออกจากอียูทำให้เศรษฐกิจเลวร้ายลง เพิ่มขึ้นจากระดับ 44% ของปีที่แล้ว นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งยังคิดว่าอิทธิพลของสหราชอาณาจักรในเวทีโลกได้ลดน้อยลง เปรียบเทียบกับระดับ 39% ของปีก่อน
ยิ่งไปกว่านั้น พวกผู้ตอบแบบสอบถามยังมีมุมมองอันมืดมัวจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เบร็กซิตส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านการควบคุมชายแดนของประเทศ โดยมี 50% ที่บอกว่ามันทำให้ศักยภาพด้านการควบคุมชายแดนเลวร้ายลง
ผลสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ถูกเผยแพร่ออกมา หลังจากผลการศึกษาหนึ่งของศูนย์เพื่อการปฏิรูปยุโรป (CER) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม คาดการณ์ว่า สหราชอาณาจักรประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 33,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 39,700 ล้านดอลลารื) สืบเนื่องจากเบร็กซิต
เบร็กซิตทำให้ราคาอาหารในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 6% และส่งผละทบต่อค่าแรงของแรงงานสหราชอาณาจักรราวๆ 2.6% ในแง่ของความเป็นจริง จากความเห็นของ Swati Dhingra สมาชิกจากภายนอกของคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งธนาคารกลางสหราชอาณาจักร เคยกล่าวไว้ในเดือนพฤศจิกายน พร้อมระบุว่า การถอนตัวออกจากอียูยังเป็นต้นเหตุให้การลงทุนภาคธุรกิจและการค้าโดยรวมลดลงอีกด้วย
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)