ข่าวคราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับสินบนในรัฐสภายุโรป (อีพี) เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นสัญญาณว่ารูปแบบปัจจุบันของสถาบันอียูแห่งนี้ควรถูกล้มล้าง ท่ามกลางชื่อเสียงที่แปดเปื้อนอยู่ก่อนแล้วของรัฐสภายุโรป จากความเห็นของวิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี เมื่อช่วงกลางสัปดาห์
ความคิดเห็นของออร์บาน มีขึ้นหลังจาก อีวา ไคลี นักการเมืองกรีซ ซึ่งดำรงตำแหน่งหนึ่งในรองประธานสภายุโรป ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ในข้อหาคอร์รัปชัน จากกรณีรับสินบนจากกาตาร์
"ฮังการีอยากให้ยุบรัฐสภายุโรปในรูปแบบปัจจุบันทิ้ง" เขากล่าวระหว่างแถลงข่าวในบูดาเปสต์ เขาอ้างว่าเรื่องอื้อฉาวนี้ "ดึงดูดความสนใจไปยังข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐสภาของแต่ละชาติมีระบบควบคุมที่เข้มแข็งกว่า" พร้อมระบุว่า บรรดาสมาชิกรัฐสภาของแต่ละชาติสมาชิก ควรเป็นตัวแทนของแต่ละชาติในรัฐสภายุโรป ซึ่งตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่มีการเลือกตั้งแยกกัน
"แน่นอนว่า พวกเขาทราบถึงจุดยืนทางการเมืองของเรา หนองน้ำจะต้องถูกระบายออก" ออร์บาน กล่าว
บูดาเปสต์ มีปัญหากระทบกระทั่งกับรัฐสภายุโรปและสถาบันอียูอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเด็นต่างๆ ในนั้นรวมถึงคนเข้าเมือง สิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ขณะที่บรัสเซลส์ กล่าวหารัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟของออร์บาน ว่า กัดกร่อนหลักนิติรัฐภายในประเทศ
ฮังการี ซึ่งเศรษฐกิจต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นอย่างสูง ยังวิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรที่ทางอียูกำหนดเล่นงานมอสโกตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ซึ่งเปิดฉากขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ต่างจากรัฐสมาชิกส่วนใหญ่ของอียู ทาง ออร์บาน ปฏิเสธมอบอาวุธให้เคียฟ
"ถ้ามันขึ้นอยู่กับเรา มันจะไม่มีนโยบายคว่ำบาตร" ออร์บานกล่าว "มันไม่ประโยชน์อะไรกับเรา จากการที่เศรษฐกิจยุโรปและรัสเซียแตกแยกออกเป็น 2 อย่างถาวร ดังนั้น เราจึงพยายามปกป้องตนเองทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเรากับรัสเซีย"
ไคลี รองประธานสภายุโรป ถูกจับกุมเมื่อช่วงต้นเดือน ตามหลังปฏิบัติการบุกค้นบ้านและสำนักงานของเจ้าหน้าที่อียูหลายคน โดยหน่วยสืบสวนคดีคอร์รัปชันที่ประเทศเบลเยียม
อัยการเบลเยียมกล่าวว่า พบเงิน 600,000 ยูโร (ประมาณ 22 ล้านบาท) ที่บ้านของผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง และอีก 150,000 ยูโร (ประมาณ 5.5 ล้านบาท) ที่แฟลตของบุคคลนั้น รวมทั้งอีกหลายแสนยูโรในกระเป๋าเดินทางในห้องพักโรงแรม
ไคลี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการบุกค้นของตำรวจเบลเยียม โดย 4 คนถูกตั้งข้อหา "ก่ออาชญากรรม ทุจริตคอร์รัปชัน และฟอกเงิน" ขณะที่อีก 2 คนได้รับการปล่อยตัวหลังไม่พบหลักฐานความผิด
เบื้องต้น อดีตผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักการเมืองหญิงจากกรีซ วัย 44 ปีรายนี้ ถูกควบคุมตัวในห้องขังที่กรุงบรัสเซลส์ เพื่อรอการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม และด้วยความที่ไคลี ถูกจับกุมได้คาหนังคาเขาพร้อมถุงเงินสดที่ไม่มีที่มาที่ไป ทำให้เอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะสมาชิกสภายุโรปของเธอถูกเพิกถอนไปโดยปริยาย
แหล่งข่าวในศาลของเบลเยียมบอกกับเอเอฟพีว่า ฝ่ายสืบสวนสอบสวนเชื่อว่าเงินสดเหล่านี้ได้รับมาจากตัวแทนของประเทศกาตาร์ที่จ่ายให้นักการเมืองยุโรป เพื่อให้อำนวยความสะดวกทางนโยบาย จากกรณีที่ช่วงหลังกาตาร์มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของการกดขี่แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการจ้างให้สร้างสนามฟุตบอลเพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022
ทั้งนี้ ไคลีเคยไปเยือนกาตาร์ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกและออกมายืนยันว่ากาตาร์เป็น "ผู้นำด้านสิทธิแรงงาน" พร้อมปกป้องภารกิจของกาตาร์ในการยื่นเรื่องขอยกเว้นวีซ่าของสหภาพยุโรปสำหรับพลเมืองของตน
มีรายงานว่า อาจจะมีนักการเมืองในสภายุโรปเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือทุจริตเชิงนโยบายอีกหลายคน ทำให้ความน่าเชื่อถือของสภายุโรปเริ่มสั่นคลอน และเพื่อปกป้องบูรณภาพของสภาและต่อต้านการกระทำที่เป็นการทำร้ายระบอบประชาธิปไตย ในเวลาต่อมาสภายุโรปจึงลงมติถอดถอนไคลีจากตำแหน่งรองประธานสภา ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
กาตาร์แถลงปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในยุโรป พร้อมยืนยันว่าการกล่าวอ้างใดๆ เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของรัฐกาตาร์ถือเป็นข้อมูลที่ผิดอย่างมหันต์
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/เอเจนซี)