xs
xsm
sm
md
lg

เลขาผู้บัญชาการค่ายกักกันนาซีวัย 97 ปี เคยหลบหนีระหว่างพิจารณาปีที่แล้ว ถูกศาลเยอรมนีตัดสินมีความผิดฐานสมคบคิดฆาตกรรมกว่า 10,500 ราย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - เอิร์มการ์ด เฟิร์ชเนอร์ (Irmgard Furchner) วัย 97 ปี เมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) ถูกศาลเยอรมนีสั่งตัดสินโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี หลังพบมีความผิดฐานสมคบคิดฆาตกรรมกว่า 10,500 ราย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ทำหน้าที่เลขาช่วงวัยรุ่นอายุ 19 ปี ให้ผู้บัญชาการค่ายกักกันนักโทษนาซีระหว่างปี 1943 ถึงปี 1945 แต่งงานกับหัวหน้าหน่วย SS ที่พบกันในค่าย ประวัติเคยหลบหนีการพิจารณาเมื่อปี 2021 ก่อนถูกนำตัวกลับมาได้ในที่สุด

บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า ในการพิจารณาศาลเยาวชนพิเศษของเยอรมนีที่เกิดขึ้นใน Itzehoe ซึ่ง เอิร์มการ์ด เฟิร์ชเนอร์ (Irmgard Furchner) เลขาวัย 97 ปี ผู้บัญชาการค่ายกักกันนาซี ชตุตโฮฟ (Stutthof) หรือปัจจุบันคือ เมืองกูดานสค์ (Gdansk) ในโปแลนด์ ได้เคยกล่าวในระหว่างการพิจารณาคดีว่า เธอขอโทษแต่ไม่ยอมกล่าวต่อศาลว่า เธอมีความผิดตามข้อกล่าวหา

ซึ่งผู้บัญชาการค่ายกักกันคือ พอล-แวร์เนอร์ ฮอปเปอ (Paul-Werner Hoppe) ซึ่งถูกลงโทษจำคุกเมื่อปี 1955 และเขาถูกปล่อยตัวออกมาในอีก 5 ปีหลังจากนั้น

เฟิร์ชเนอร์กลายเป็นผู้หญิงคนแรกในรอบหลายสิบปีที่ถูกศาลเยอรมนีตัดสินความผิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรัฐบาลนาซีเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอทำงานในฐานะเสมียนพิมพ์ดีดเมื่ออายุราว 18-19 ปี

แต่ถึงแม้ว่า เฟิร์ชเนอร์จะยังคงอยู่ในช่วงวัยรุ่นโดยทำงานในค่ายชตุตโฮฟ ระหว่างปี 1943 ถึงปี 1945 ในฐานะเจ้าหน้าที่พลเรือน เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานว่า แต่ทว่าผู้พิพากษาเห็นว่า เธอรู้ดีอย่างแน่นอนว่ามีการทรมานและสังหารหมู่เกิดขึ้นด้านใน

วานนี้ (20) เฟิร์ชเนอร์ถูกศาลเยอรมนีตัดสินโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี หลังพบมีความผิดฐานสมคบคิดฆาตกรรมกว่า 10,500 ราย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการเชื่อว่าภายในค่ายกักกันมีคนไม่ต่ำกว่า 65,000 คนเสียชีวิตในสภาพป่าเถื่อน ที่มีทั้งนักโทษชาวยิว นักโทษชาวโปแลนด์ที่ไม่ใช่ชาวยิว และทหารอดีตสหภาพโซเวียต

ลักษณะการทำงานในฐานะเลขา ผบ.ค่ายกักกันนาซีของเธอนั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับจดหมายซึ่งเกี่ยวพันกับนักโทษภายในค่ายกักกันนรกแห่งนี้ และมันต้องใช้เวลานานถึง 40 วันกว่าที่ เฟิร์ชเนอร์ จะยอมเอ่ยปากออกมา

“ดิฉันขอโทษสำหรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น” และ “ดิฉันเสียใจที่ดิฉันอยู่ที่กูดานสค์ ในช่วงเวลานั้น นั่นเป็นทั้งหมดที่ดิฉันสามารถกล่าวได้”

อย่างไรก็ตาม พบว่า เฟิร์ชเนอร์หลังจากสงครามโลกยุติลงเธอได้แต่งงานกับหัวหน้าหน่วย SS ชื่อ ไฮน์ซ์ เฟิร์ชสตาม (Heinz Furchstam) ที่คาดว่าทั้งคู่คงพบกันที่ค่ายกักกันนาซีแห่งนี้ เธอทำงานในฐานะเสมียนให้เมืองเล็กๆ ทางเหนือของเยอรมนี ส่วนสามีเสียชีวิตลงเมื่อปี 1972

ก่อนที่จะมีคำพิพากษาออกมาเมื่อวานนี้ (20) พบว่า เฟิร์ชเนอร์เคยแอบหลบหนีไปในปีที่ผ่านมาในขณะที่มีอายุ 96 ปี จนทำให้ศาลต้องออกหมายจับ โดยเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ว่า ในเวลานั้นพบว่าเธอออกไปจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยรถแท็กซี่มุ่งหน้าไปสถานีรถไฟเมโทร แต่ทว่าไม่สามารถหลบหนีไปได้นาน และโดนตำรวจตามจับกลับมาได้สำเร็จ

ซึ่งในรายละเอียดข้อกล่าวหาของเธอนั้นประกอบไปด้วย ความผิดช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตรกรรมใน 11,412 เคส และความผิดฐานสมคบคิดอีก 18 เคส





กำลังโหลดความคิดเห็น