xs
xsm
sm
md
lg

เอาไงละทีนี้? ชาวเน็ตเกินครึ่งโหวตหนุน ‘อีลอน มัสก์’ สละตำแหน่ง CEO ทวิตเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวทวิตเตอร์ส่วนใหญ่โหวตสนับสนุนให้ “อีลอน มัสก์” ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแห่งนี้ หลังจากเจ้าตัวตั้งโพลให้ชาวเน็ตเข้าไปแสดงความคิดเห็น

มัสก์ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (18 ธ.ค.) ว่า เขาจะ “ทำตาม” มติของผู้ใช้ทวิตเตอร์ไม่ว่าผลโพลจะออกมาเช่นไร ทว่ายังไม่ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับการลาออก และยอมรับว่ายังไม่ได้วางตัว “ผู้สืบทอดตำแหน่ง” ซีอีโอคนต่อไป

ผลโพลพบว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ 57.5% “สนับสนุน” ให้ มัสก์ ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ ขณะที่ 42.5% “ไม่สนับสนุน” โดยโพลครั้งนี้มีชาวเน็ตเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่า 17.5 ล้านคน

โซฟี ลันด์-เยตส์ นักวิเคราะห์จาก Hargreaves Lansdown ชี้ว่า “มัสก์ และนักวิเคราะห์บางคนอ้างว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการขั้นสุดเพื่อให้โมเดลธุรกิจของทวิตเตอร์ยังคงอยู่ได้ และมีข้อโต้แย้งกันว่า หากไม่มี มัสก์ เป็นผู้บริหารใหญ่แล้ว คงยากที่จะหาใครที่มีความกระตือรือร้นมากพอจะเข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางของทวิตเตอร์”

การทำโพลครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ทวิตเตอร์ได้ระงับบัญชีของผู้สื่อข่าวหลายราย โดยอ้างว่าบัญชีเหล่านี้แชร์ข้อมูลแบบ “เรียลไทม์” เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ มัสก์ และครอบครัว ก่อนที่จะยอมปลดล็อกบัญชีให้ หลังถูกองค์กรสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐทั่วโลกออกมาวิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ

ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ (18) ทวิตเตอร์ได้ประกาศแบนบัญชีผู้ใช้ที่ “โปรโมต” โซเชียลมีเดียเจ้าอื่น เช่น เฟซบุ๊ก เป็นต้น รวมถึงจะแบนเนื้อหาที่มีการแปะลิงก์ หรือยูสเซอร์เนมสำหรับแพลตฟอร์มคู่แข่ง จนแม้แต่อดีตซีอีโอทวิตเตอร์อย่าง “แจ็ค ดอร์ซีย์” ยังออกมาตั้งคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร

ตั้งแต่ มัสก์ เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์เมื่อปลายเดือน ต.ค. เขาได้สั่งปลดผู้บริหารระดับสูงชุดเก่า เลิกจ้างพนักงานราวครึ่งบริษัท และยังคงยึกๆ ยักๆ ในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมระบบยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายถูกสีฟ้าหรือ Twitter Blue ขณะเดียวกัน ก็เข้ามาปลดล็อกบัญชีผู้ใช้หลายรายที่เคยถูกทวิตเตอร์แบนอย่างถาวร เช่น บัญชีของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้น

มัสก์ ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ (18) ว่า เขาจะเปิดโพลให้สาธารณชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับนโยบาย “ทุกอย่าง” ของทวิตเตอร์ แต่นั่นยิ่งก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสไตล์การบริหารของเขา

เรื่องนี้ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเทสลา (Tesla) ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของมัสก์ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มกังวลที่เห็น มัสก์ ทุ่มเททั้งเงินทุน เวลา และความสนใจให้ทวิตเตอร์มากเกินไป

ที่ผ่านมา มัสก์ ได้เข้าไปมีส่วนตัดสินใจในระดับคณะทำงานของเทสลา ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้า เรื่อยไปจนถึงการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

เขาประกาศเมื่อเดือน พ.ย. ว่าจะ “ให้เวลากับทวิตเตอร์น้อยลง” และจะสรรหาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นผู้บริหารแทนในที่สุด

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น