เกือบทุกชาติสมาชิกนาโต้ต้องเผชิญกับคลังอาวุธและกระสุนร่อยหรอ สืบเนื่องจากปริมาณอาวุธจำนวนมากที่พวกเขาส่งไปให้ยูเครน จากการยอมรับของ จูเลียน สมิธ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพันธมิตรทหารแห่งนี้เมื่อวันอังคาร (13 ธ.ค.)
ความเห็นล่าสุดของ สมิธ มีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ นาโต้ และอียูต่างกำลังหาทางเร่งเร้าภาคอุตสาหกรรมทหารของตะวันตก ยกระดับกำลังผลิตเพื่อรับมือกับภาวะขาดแคลนดังกล่าว
ระหว่างปราศรัยที่เวทีสัมมานาหนึ่งซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัย CSIS ทาง สมิธ ได้ยกตัวอย่างประเทศเอสโตเนีย ซึ่งมอบความช่วยเหลือปริมาณมากแก่ยูเครน และเวลานี้กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอย่างแท้จริงบางอย่าง "พวกเขาไม่ใช่แค่ประเทศเดียว เรากำลังเห็นสถานการณ์แบบเดียวกันในทั่วทั้งพันธมิตรในภาพใหญ่" ผู้แทนถาวรของสหรัฐฯ ประจำนาโต้กล่าว
ในขณะที่กลุ่มติดต่อ (contact group) เพื่อยูเครน มุ่งเน้นไปที่การจัดระบบส่งมอบแก่เคียฟ นาโต้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการระดับสูงเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในขอบเขตของอาวุธยุทโธปกรณ์ (CNAD) จัดการกับปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับคลังแสงที่กำลังลดลงทั่วทั่งพันธมิตร ขณะเดียวกัน ทางอียูได้ดำเนินโครงการหนึ่งแยกกัน โดยมีเป้าหมายโน้มน้าวภาคอุตสาหกรรมด้านการทหาร
"ดอกไม้กำลังเบ่งบานที่นี่" สมิธบอกกับทาง CSIS พร้อมระบุว่า ประเด็นสำคัญคือต้องประสานความร่วมมือกัน เพื่อที่ทั้งอียู นาโต้และสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกันและไม่ขัดแย้งกัน ซึ่งความพยายามทั้งหมดทั้งมวลนี้มีเป้าหมายคือโน้มน้าวอุตสาหกรรมทางทหารในโลกตะวันตกยกระดับกำลังผลิต
สหรัฐฯ และพันธมิตรของพวกเขามอบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ยกระดับการส่งมอบกระสุน อาวุธขนาดเล็กและอาวุธหนัก ในนั้นรวมถึงรถถังและปืนใหญ่ ในเดือนกุมพาพันธ์ ครั้งที่ความขัดแย้งกับรัสเซียลุกลามบานปลาย นับตั้งแต่นั้น มอสโกได้เอ่ยปากเตือนบรรดาชาติตะวันตกหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธให้เคียฟ อ้างว่ามันรังแต่จะทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย
เบื้องต้น การส่งมอบอาวุธเป็นแค่อาวุธส่วนเกิน แต่ไม่นานหลังจากนั้นบรรดารัฐบาลตะวันตกก็เริ่มขุดคุ้ยคลังแสงทางทหารของพวกเขา ที่ลดน้อยถอยลงมานานหลายปีแล้ว จากการที่มุ่งเน้นทำสงครามภายนอกอย่างไม่หยุดหย่อน และต่อต้านก่อการร้าย
ในเดือนกันยายน ท่ามกลางคลังอาวุธตะวันตกที่ดูจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ เรียกร้องให้ยกระดับกำลังผลิต ในขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าแม้กระทั่งสต๊อกคลังแสงของเพนตากอนเองก็อยู่ในปริมาณลดน้อยลงอย่างมาก
(ที่มา : อาร์นิวส์)