ว็อบเก โฮกสตรา (Wopke Hoekstra) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุวานนี้ (12 ธ.ค.) ว่า ประเทศของเขายินดีจะเป็นที่ตั้งศาลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อทำการไต่สวนความผิดของรัสเซียฐานส่งทหารรุกรานยูเครน
เนเธอร์แลนด์ และสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมขอการสนับสนุนและเงินทุนจากนานาชาติเพื่อจัดตั้งศาลดังกล่าว ซึ่งจะทำงานอย่างเป็นเอกเทศ และไม่ก้าวก่ายงานของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่ตั้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์เช่นกัน
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงเมื่อเดือน พ.ย. ว่า ศาลพิเศษแห่งใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลกคือสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าปฏิบัติการสงครามที่รัสเซียกระทำต่อยูเครนซึ่งถือเป็น “อาชญากรรมการรุกราน” (crime of aggression) จะไม่ถูกปล่อยผ่าน
องค์การสหประชาชาติได้ให้คำนิยามการกระทำรุกราน (act of aggression) ไว้ว่าหมายถึงการที่รัฐใดๆ “ใช้กำลังอาวุธกระทำต่ออธิปไตย บูรณภาพดินแดน หรือเอกราชทางการเมืองการปกครองแห่งรัฐอื่น หรือการยึดครองทางทหารในทุกรูปแบบ”
แม้สิ่งรัสเซียทำจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า เขตอำนาจศาล (jurisdiction) ของ ICC จะครอบคลุมเฉพาะรัฐภาคีและรัฐที่ทำข้อตกลงยอมรับในเขตอำนาจศาลเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ยูเครน เป็นต้น ทว่าไม่รวมถึงรัสเซีย
“นานาชาติลงความเห็นเป็นเอกฉันท์มากขึ้นว่าจำเป็นจะต้องมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อไต่สวนการรุกรานและอาชญากรรมแห่งการก่อสงครามของรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ ICC ไม่สามารถทำได้” โฮกสตรา ระบุ
อย่างไรก็ดี การิม ข่าน อัยการของ ICC ออกมาเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วถึง “ความไม่เป็นเอกภาพ” ที่อาจเกิดขึ้น และย้ำว่า ICC คือศาลระหว่างประเทศที่มีอำนาจไต่สวนอาชญากรรมการรุกรานอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐภาคีจะต้องร่วมกันแก้ไข “ช่องโหว่” ที่มีอยู่เท่านั้น
เนเธอร์แลนด์ยังเป็นที่ตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) รวมถึงบรรดาศาลพิเศษต่างๆ ที่ไต่สวนเกี่ยวกับกรณีเลบานอน โคโซโว และอาชญากรรมสงครามในอดีตดินแดนยูโกสลาเวียด้วย
ที่มา : รอยเตอร์