xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์จีนแนะรัฐบาล ‘เปลี่ยนชื่อ’ โควิด-19 ให้สอดคล้องกับการ ‘กลายพันธุ์’ และความรุนแรงที่ลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีนออกมาเสนอให้รัฐบาลปักกิ่งเปลี่ยนชื่อเรียกโรคโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับการ “กลายพันธุ์” ของเชื้อไวรัส อีกทั้งเสนอให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยสามารถกักตัวที่บ้านได้

กู่ เสี่ยวหง (Gu Xiaohong) หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อของสมาคมการแพทย์แผนจีนแห่งประเทศจีน (China Association of Chinese Medicine) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ปักกิ่งเดลีซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลว่า ชื่อโรคโควิด-19 ในภาษาจีนซึ่งสื่อความหมายถึงไวรัสที่ทำให้ปอดอักเสบ สมควรถูกเปลี่ยนไปเรียกให้ง่ายขึ้นว่า ไวรัสที่ทำให้ติดเชื้อ (infectious virus)

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังคงเน้นการระดมตรวจเชื้อ และส่งตัวผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกไปยังสถานที่กักกันโรค แต่ กู่ ชี้ว่ารัฐควรเปลี่ยนจากการ “ตรวจเชิงรับ” (passive detection) ไปสู่การ “ป้องกันเชิงรุก” (active prevention) ให้มากขึ้น และอนุญาตให้ผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนักพักรักษาตัวที่บ้านได้

กู่ ระบุด้วยว่า แผนกโรคติดเชื้อของสมาคมการแพทย์แผนจีนแห่งประเทศจีนได้บรรลุฉันทมติที่จะปรับคำอธิบายเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้

คำแถลงของ กู่ สอดคล้องกับท่าทีของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจีน รวมถึงสื่อของรัฐบาลที่เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตกการคุมโควิด-19 ลง

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหลังจากนี้จีนจะเริ่มปรับนโยบายให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น หลังจากที่อยู่ในโหมดคุมเข้มโควิด-19 มานานถึง 3 ปีเต็ม

เจ้าหน้าที่จีนหลายคนเริ่มออกมายอมรับว่าโควิด-19 มีอันตรายน้อยลง โดยเมื่อวันจันทร์ (5) สำนักข่าวซินหวารายงานว่า “ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดได้ผ่านไปแล้ว” โดยอ้างถึงความสามารถในการก่อโรค (pathogenicity) ที่ลดลงของเชื้อไวรัส อีกทั้งจีนยังคงรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ได้ถึงเป้าหมาย 90% ของประชากรทั้งหมด

รัฐบาลจีนเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ประชากรที่อายุเกิน 80 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 โดสแล้ว 65.8% ทว่ายังมีเพียง 40% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

เหลียง ว่านเหนียน (Liang Wannian) หัวหน้าคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ของจีน ยอมรับกับ BBC ว่า การที่ผู้สูงอายุมักกังวลและไม่กล้าเข้ารับวัคซีนถือเป็นเรื่องใหญ่

“ผู้สูงอายุส่วนมากจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และพวกเขาคิดว่าถ้าฉีดวัคซีนอาจจะไม่ปลอดภัย ทว่าในความเป็นจริงแล้วมันปลอดภัย” เขากล่าว

จีนตั้งเป้าหมายรณรงค์ให้ประชากรที่อายุเกิน 80 ปีเข้าฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส หรือไม่ก็ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ถึง 90% ภายในเดือนสิ้นเดือน ม.ค. ปี 2023

ที่มา : รอยเตอร์, BBC
กำลังโหลดความคิดเห็น