รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - อัยการสหรัฐฯ วานนี้ (1 ธ.ค.) ขอศาลแขวงสหรัฐฯ ในบรุคลินสั่งยุติคดีเมิ่ง หว่านโจว บุตรสาวผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ฐานแอบปกปิดการธุรกรรมลับกับอิหร่าน ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ตามส่วนหนึ่งของข้อตกลงปล่อยตัวจากแคนาดากลับจีน เมิ่งยอมรับว่าตัวเองทำให้เกิดการสำคัญผิดเกิดขึ้นต่อธนาคาร HSBC หวังเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของวอชิงตัน ขณะเดียวกัน ปักกิ่งออกโรงเตือนรัฐบาลไอร์แลนด์อย่าเดินตามก้นวอชิงตัน สั่งแบนหัวเว่ยจากระบบเครือข่ายคมนาคมไอริช ชี้กระทบความสัมพันธ์ทางการค้าแน่
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (2 ธ.ค.) ว่า ประธานเจ้าหน้าที่การเงินหัวเว่ย CFO เมิ่ง หว่านโจว (Meng Wanzhou) และบุตรสาวเหริ่น เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งบริษัทโทรคมนาคมหัวเว่ยยักษ์ใหญ่ของจีน
ทั้งนี้ พบว่า เมิ่งบรรลุข้อตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ DOJ ในปีที่ผ่านมาที่จะนำไปสู่การถอนฟ้องคดีฉ้อโกงและคดีอื่นๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกกับการที่เมิ่งจะสามารถเดินทางจากแคนาดาเพื่อกลับไปจีน หลังจากที่เธอถูกทางการแคนาดาจับกุมตัวตามการร้องขอของรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
โดยเธอถูกปล่อยตัวเป็นอิสระจากแคนาดาเดินทางกลับบ้านในปีที่ผ่านมา
อัยการบรุคลิน แคโรลิน โพคอร์นีย์ (Carolyn Pokorny) กล่าวในหนังสือที่ลงวันที่ 1 ธ.ค. ที่ยื่นต่อผู้พิพากษาศาลแขวงรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แอน ดอนเนลลี (Ann Donnelly) ระบุว่า ในขณะที่ไม่มีข้อมูลว่าลูกสาวหัวเว่ยละเมิดข้อตกลง รัฐบาลสหรัฐฯ ขอทำการร้องขอต่อศาลให้ถอนคดีฉ้อโกงธนาคารและคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อจำเลย เมิ่ง หว่านโจว
อย่างไรก็ตาม "บริษัทหัวเว่ย" (Huawei) ที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นภัยทางความมั่นคงสหรัฐฯ ยังคงถูกฟ้องในคดีที่ยังคงค้างอยู่ที่ศาลแขวงรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในเมืองบรุคลิน รัฐนิวยอร์ก และยังไม่มีกำหนดวันไต่สวนออกมา แต่ทว่าสถานะของการหารือทางคดีความถูกได้กำหนดขึ้นในวันที่ 7 ก.พ.
รอยเตอร์ชี้ว่า การที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ DOJ ออกมาดำเนินการถอนฟ้องตามที่เคยมีการคาดหมายไว้ก่อนหน้า ซึ่งคดีนี้ทำให้แคนาดาเข้ามาอยู่ระหว่างการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างช่วยไม่ได้
ทั้งนี้ เมิ่งถูกกล่าวหาฉ้อโกงธนาคารและการกระทำผิดทางอาญาอื่นๆ ในการทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่ชื่อดัง HSBC สำคัญผิดเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจของบริษัทในอิหร่าน เพื่อให้ได้การบริการทางธนาคารและเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ
และส่วนหนึ่งของข้อตกลง ลูกสาวหัวเว่ยต้องยอมรับว่าตัวเองทำให้เกิดการสำคัญผิดเกิดขึ้นต่อธนาคาร HSBC เกี่ยวกับการทำธุรกิจของหัวเว่ยในอิหร่านระหว่างการประชุมร่วมกับผู้บริหารธนาคาร HSBC ในปี 2013
ความผิดทางอาญาของบริษัทหัวเว่ยตามการกล่าวหาของสหรัฐฯ มีตั้งแต่ฉ้อโกงธนาคาร ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของวอชิงตัน ไปจนถึงการสมคบคิดการขโมยความลับทางการค้าของสหรัฐฯ จากบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน และขัดขวางกระบวนการทางยุติธรรม แต่ทางบริษัทปฏิเสธไม่ยอมรับในความผิด
ทั้งนี้ หัวเว่ยเป็นหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมชื่อดังของจีน ที่ล่าสุดเดือนที่ผ่านมาถูกคณะกรรมการโทรคมนาคมสหรัฐฯ FCC (Federal Communications Commission) สั่งห้ามจำหน่ายและนำเข้าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เป็นต้นว่า ระบบทีวีวงจรปิด และระบบวิทยุสื่อสาร 2 ทิศทางภายในสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงประเทศ บีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 26 พ.ย.
ในขณะเดียวกัน อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไอริชไทม์สรายงานเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ปักกิ่งออกมาข่มขู่รัฐบาลดับลิน ชี้การตัดหัวเว่ยออกจากระบบเครือข่ายโทรคมนาคมประเทศอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ
โดยในรายงานเปิดเผยว่า ปักกิ่งชี้ช่องถึงแรงจูงใจของดับลินได้รับผลกระทบจากภายนอกไอร์แลนด์เป็นสำคัญ โดยโยงไปถึงความเคลื่อนไหวการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า่ประกาศสั่งแบนอุปกรณ์ของหัวเว่ย โดยอ้างว่า "เป็นความเสี่ยงทางความมั่นคงที่ไม่สามารถยอมรับได้"
สถานทูตจีนประจำไอร์แลนด์กล่าวผ่านแถลงการณ์ชี้แจงว่า "ประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยของตัวเองย่อมมีสิทธิอย่างชอบธรรมในการปกป้องความมั่นคงทางไซเบอร์ของตัวเอง แต่นิยาม "ผู้ขายความเสี่ยงสูง" (high-risk vendor) ที่มอบให้นั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตั้งอยู่บนเหตุผลที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยบางคนจากนอกประเทศไอร์แลนด์เพื่อต้องการกีดกันบริษัทไฮเทคของจีน"
ทั้งนี้ บริษัทหัวเว่ยไม่ได้มีชื่อถูกระบุในกฎหมายกำกับการสื่อสารไอร์แลนด์ฉบับแก้ไข (Communications Regulation Bill) ที่เสนอโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม อากาศ และการสื่อสารไอร์แลนด์ ซึ่งได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีสามารถแบนอุปกรณ์จากบริษัทผู้ขายความเสี่ยงสูงได้ แต่ทว่าทั้งหัวเว่ยที่มีพนักงานในไอร์แลนด์ราว 510 คน และบริษัทอื่นที่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยต่างเชื่อว่า "หัวเว่ย" ตกเป็นเป้าโจมตี