xs
xsm
sm
md
lg

“แซม แบงก์แมน-ฟรีด” เหลือเงินแค่ 1 แสนดอลลาร์หลัง FTX ล้ม อ้างมีหุ้นทวิตเตอร์ 100 ล้านเหรียญ แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นหลัง “มัสก์” เข้าซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - มีรายงาน แซม แบงก์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried) หรือ SBF หลังยื่นเรื่องขอล้มละลาย FTX มีเงินสดติดอยู่ในบัญชีแค่ 100,000 ดอลลาร์ จากแต่เดิมมีความมั่งคั่งที่ 26 พันล้านดอลลาร์ ใช้ชีวิตหรูหรา มีเพื่อนเป็นเซเลบชื่อดังในอเมริกา รวมนักอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง ทอม เบรดี ครั้งหนึ่งเคยถึงกับว่าจ้างเครื่องบินเอกชนขนพัสดุแอมะซอนจากไมอามี มาส่งให้ถึงสำนักงานใหญ่ในบาฮามาสกลางทะเลแคริบเบียน อ้างหุ้นทวิตเตอร์มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หลังเจ้าของคนใหม่ อีลอน มัสก์ เสียงแข็ง แบงก์แมน-ฟรายด์ไม่ได้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแน่นอน

บิสซิเนสอินไซเดอร์ รายงานเมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) ว่า ในการให้สัมภาษณ์กับ Axios ของสหรัฐฯ แซม แบงก์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried) หรือ "SBF" กล่าวยอมรับว่า หลังจากยื่นเรื่องขอล้มละลาย FTX ไปแล้ว เขาไม่รู้ถึงสถานภาพการเงินส่วนบุคคลของตัวเอง

แบงก์แมน-ฟรีด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความร่ำรวยมากถึง 26 พันล้านดอลลาร์ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) ว่า “ผมมีเงิน 100,000 ดอลลาร์ในบัญชีจากการเช็กครั้งสุดท้าย”

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเงินคริปโตฯ ชื่อดังใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกที่เขานั่งเป็นซีอีโอเจอวิกฤตครั้งร้ายแรงมากที่สุดเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ยอดสุทธิความมั่งคั่งของเขาจากแต่เดิม 15.6 พันล้านดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ภายในแค่ 1 วัน หลัง FTX หาทุนสนับสนุนไม่สำเร็จ หลังมีรายงานว่า FTX ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเงินคริปโตฯ  คราเคน (Kraken)

บิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า แพลตฟอร์ม FTX ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าถึง 30 พันล้านดอลลาร์

เขายอมรับกับ Axios ว่าทุกสิ่งที่เขามีได้ถูกผูกไว้กับ FTX ที่ล้มละลาย ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของเขามีความสลับซับซ้อน

ในช่วงที่ชีวิตมีความรุ่งโรจน์พบว่า แบงก์แมน-ฟรีดนั้นใช้ชีวิตอย่างหรูหรา อดีตพนักงาน FTX ได้เปิดเผยกับไฟแนนเชียลไทม์ส ถึง สวัสดิการที่ยอดเยี่ยมที่ซีอีโอใหญ่มอบให้ เป็นต้นว่า พนักงาน FTX ที่อยู่ในสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งหมด 75 คน จะสามารถจะใช้บริการส่งอาหารจากบริการ DoorDash ชื่อดังได้ 200 ดอลลาร์/วัน ตกรวมทั้งหมด 15,000 ดอลลาร์ทุกวัน

ทั้งนี้ พบว่าในเวลาต่อมา FTX ได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากสหรัฐฯ ไปฮ่องกงและย้ายไปที่ประเทศหมู่เกาะบาฮามาสที่สวยงามชื่อดังกลางทะเลแคริบเบียนในกันยายนปี 2011 พนักงานบริษัทในเวลานั้นตระหนักว่า บาฮามาสไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่เว็บไซต์แอมะซอนจะส่งสินค้าไปได้ ส่งผลทำให้ แบงก์แมน-ฟรีดตัดสินใจจ้างเครื่องบินเอกชนให้ขนพัสดุแอมะซอนจากเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ไปถึงบาฮามาสในระยะทาง 180 ไมล์

สวัสดิการของพนักงาน FTX ยังรวมไปถึง การจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน บริการนวด 2 ครั้ง/สัปดาห์ และการเดินทางไปสำนักงาน FTX ที่ใดก็ได้ในโลก

ในการให้สัมภาษณ์กับ Axios แบงก์แมน-ฟรีดยังออกมาโต้ อีลอน มัสก์ เกี่ยวกับการถือครองหุ้นทวิตเตอร์

วันพุธ (23 พ.ย.) ก่อนหน้ามัสก์ยืนยันว่า “เหมือนอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ ไม่ทั้งผมหรือทวิตเตอร์เคยได้รับการลงทุนจาก SBF/FTX (แซม แบงก์แมน-ฟรีด/ FTX)”

และในอีกทวีต มัสก์กล่าวต่อว่า “เขาอาจถือหุ้นทวิตเตอร์ในฐานะบริษัทมหาชน แต่เขาไม่ได้มีหุ้นในนามบริษัทเอกชนอย่างแน่นอน”

ในการให้สัมภาษณ์แบงก์แมน-ฟรีดยืนยันว่า เขามีหุ้นทวิตเตอร์ จำนวน 100 ล้านดอลลาร์อย่างแน่นอน แต่กล่าวต่อว่า เขาไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นเหล่านี้

“ผมเชื่อว่ามันมีเพื่ออลาเมดา (Alameda) ที่จะทำให้มีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น” โดยอ้างไปถึงบริษัท อลาเมดา รีเสิร์ช (Alameda Research) บริษัทการซื้อขายที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งร่วม และย้ำว่า “ผมไม่แน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด”

ผู้ก่อตั้ง FTX เสริมว่า อาจมีหุ้นบางส่วนถูกขายออกไปก่อนที่ทวิตเตอร์จะถูกอีลอน มัสก์ซื้อเมื่อปลายตุลาคม แต่ทว่าเขาไม่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้

ทั้งนี้ ในการสนทนาทางข้อความ แบงก์แมน-ฟรีดได้กล่าวกับมัสก์ซึ่งเป็นเจ้าของทวิตเตอร์รายใหม่ว่า อลาเมดาถือหุ้นทวิตเตอร์อยู่จำนวน 100 ล้านดอลลาร์ แต่ในรายงานไม่ได้กล่าวต่อในรายละเอียดของการสนทนา








กำลังโหลดความคิดเห็น