เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แถลงวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) มะนิลาจะหาหนทางสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ ไม่สนว่าจะต้องมีข้อตกลงกับปักกิ่งหรือไม่ ย้ำฟิลิปปินส์มีสิทธิ ด้านรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด จัดหนักแถลงปลายเดือนพฤศจิกายนเล็งส่งเรือรบและกำลังทหารแคนาดาเข้าอินโด-แปซิฟิก ชี้เป็นตลาดสำคัญส่งออกสำคัญอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่ต้องปกป้อง
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) ว่า ในการแถลงวันนี้ (1) ของผู้นำฟิลิปปินส์นั้น ประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ยืนยันว่า ฟิลิปปินส์มีสิทธิในการค้นหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติภายในทะเลจีนใต้ที่ยังคงอยู่ในการพิพาทที่ปักกิ่งใช้แผนที่ประ 9 เส้นประกาศถือสิทธิครอบครอง
มาร์กอส จูเนียร์ แถลงว่า “นี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเรานี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราจำเป็นต้องสู้ (ต่อในสิ่งที่เป็นของพวกเรา) และหาประโยชน์หากว่ามันมีน้ำมันอยู่ที่นั่นจริง”
ทั้งนี้ การเจรจาสำหรับการสำรวจร่วมกันทางพลังงานระหว่างมะนิลาและปักกิ่งในทะเลจีนใต้ได้ยกเลิกไป รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต แถลงเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างไปถึงข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญและอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ
มาร์กอส จูเนียร์ แถลงว่า “มันมาถึงทางตัน มันยากที่จะเห็นว่าพวกเราจะสามารถแก้ไข ผมคิดว่ามันอาจจะมีทางอื่นที่มันไม่จำเป็นต้องแบบจี-ทู-จี หรือรัฐต่อรัฐ”
การออกมาแสดงความเห็นของผู้นำมะนิลามีขึ้นหลังรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงก่อนหน้าเมื่อสิงหาคมว่า มะนิลาเปิดกว้างที่จะเจรจารอบใหม่กับจีนในเรื่องการสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือข้อตกลงอื่นร่วมกับชาติอื่นๆ แต่จำเป็นต้องทำตามกฎหมายฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์พึ่งพาอย่างหนักต่อนำเข้าพลังงานธรรมชาติและผลจากประสบปัญหาต่อการขาดแคลนซัปพลายและราคาเชื้อเพลิงพุ่ง ส่งผลทำให้มะนิลาต้องพบกับอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี
มะนิลาในสมัยของมาร์กอส จูเนียร์ หันหน้าเข้าหาตะวันตกมากขึ้น ต่างจากรัฐบาลมะนิลาชุดก่อนหน้า ตลอดระยะเวลา 3 วันของการเยือนฟิลิปปินส์ของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กมลา แฮร์ริส หลังเสร็จสิ้นการร่วมงานเอเปกที่กรุงเทพฯ เธอให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะให้การปกป้องทางการทหารต่อฟิลิปปินส์
โดยในวันพฤหัสบดี (1) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศว่า จะมีสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นต่อการประกาศภายในต้นปีหน้าเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการเข้าใช้ฐานทัพฟิลิปปินส์ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือทางการทหารแบบก้าวหน้า EDCA ปี 2014 (Enhanced Defence Cooperation Agreement)
วอชิงตันได้เสนอเพิ่มเติมจำนวนฐานทัพเข้ามาจากของเดิมภายใต้ข้อตกลง EDCA ปี 2014 ที่อนุญาตให้กำลังทหารสหรัฐฯ สามารถเข้ามาใช้ได้ 5 แห่งสำหรับกองกำลังแบบหมุนเวียนของสหรัฐฯ ได้แก่ เรือรบสหรัฐฯ และเครื่องบินรบสหรัฐฯ
นอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่กลับมาใกล้ชิดฟิลิปปินส์อีกครั้ง พบว่า แคนาดานั้นดูเหมือนมีความใกล้ชิดกับฟิลิปปินส์เช่นกันเพราะ "มะนิลา" ถูกเอ่ยชื่อในแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกใหม่ของนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด ที่มีเป้าหมายเพื่อถ่วงดุลการแผ่อิทธิพลของปักกิ่งภายในภูมิภาค
ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างแคนาและจีนเสื่อมทรามอย่างหนักหลังการจับกุมตัวบุตรสาวเจ้าของบริษัทหัวเว่ย "เมิ่งหว่านโจว" ภายใต้คำขอของสหรัฐฯ และการประชุมเอเปกบาหลียังปรากฏภาพวิดีโอคลิปให้เห็นประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง แสดงความก้าวร้าวเข้าไปต่อว่าทรูโดที่นำเรื่องที่หารือในการเจรจาไปเปิดเผยต่อนักข่าว
อ้างอิงจากแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลแคนาดาลงวันที่เผยแพร่วันที่ 27 พ.ย. หนึ่งในหัวข้อภายใต้การลงทุนและการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน พบว่าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีอินโด-แปซิฟิกนี้ระบุงบ 74.6 ล้านดอลลาร์แคนาดาเพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินการทางวีซ่าภายในเครือข่ายศูนย์กลางของตัวเอง ที่ยังรวมไปถึงในกรุงนิวเดลี เมืองชานดิการ์ (Chandigarh) ของอินเดีย และกรุงมะนิลาเพื่อเพิ่มการติดต่อระหว่างกัน
ในแผนยังให้ความสำคัญต่อสิทธิสตรีที่ถือเป็นประเด็นใหญ่โดยจัดงบ 100 ล้านดอลลาร์แคนาดาสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและการทำให้หญิงมีความเท่าเทียมกับชายภายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ในแผนยังกล่าวไปถึงการแก้ปัญหาการทำประมงเถื่อนในอินโด-แปซิฟิกที่กระทบไปถึงปักกิ่ง ออตตาวาจะให้ความช่วยเหลือราว 84.3 ล้านดอลลาร์แคนาดา เป็นต้น
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ รัฐบาลแคนาดาระบุว่า แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีนั้นประกอบไปด้วยบการลงทุนเกือบ 2.3 พันล้านดอลลาร์แคนาดาตลอดระยะ 5 ปีให้เกิดขึ้นภายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยชี้ว่าจากการที่ภูมิภาคนี่ถือว่ามีความสำคัญในฐานะตลาดส่งออกใหญ่ของแคนาดาเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่จากสหรัฐฯ
รัฐบาลแคนาดากล่าวว่า ออตตาวามองภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความสำคัญและมีบทบาทต่ออนาคตของประเทศ โดยแคนาดาจะยืนยันในจุดยืนคุณค่าของประเทศผ่านยุทธศาสตร์โดยเฉพาะทางด้านความมั่นคงและเสถียรภาพ
ที่จะเห็นการนำเรือรบและกำลังทหารเข้าสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกโดยมีนัยไปถึงการต้านทานการแผ่อิทธิพลของปักกิ่ง ออตตาวาประกาศงบประมาณ จำนวน 720.6 ล้านดอลลาร์แคนาดาสำหรับทางด้านความมั่นคงที่ประกอบไปด้วย 492.9 ล้านดอลลาร์แคนาดาเพื่อส่งเรือรบแคนาดาเข้ามาในภูมิภาค และเพิ่มความร่วมมือทางกองทัพในการซ้อมรบร่วมในระดับภูมิภาค เป็นต้น
นอกจากนี้ แคนาดายังจะใช้เงิน 47.4 ล้านดอลลาร์แคนาดาช่วยพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์ที่มีความสำคัญโดยจะร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคที่ทางแคนาดาเลือกสรร
ในแถลงการณ์รัฐบาลยังกล่าวไปถึงการขยายความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และความยืดหยุ่นทางซัปพลายเชนโดยมีการจัดงบให้ราว 244.6 ล้านดอลลาร์แคนาดา
ด้านหนังสือพิมพ์โทรอนโตสตาร์ ของแคนาดารายงานวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) ว่า อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยออตตาวา และสมาชิกคณะกรรมาธิการแคนาดา-สหรัฐฯด้านจีนและมีบทบาทด้านยุทธศาสตร์จีนมาอย่างยาวนาน มาร์กาเรต แม็คเคก-จอห์นสัน (Margaret McCuaig-Johnston) แสดงความเห็นวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) ว่า แผนการยุทธศาสตร์นี้แสดงให้เห็นว่า แคนาดายอมรับความจริงที่ว่า "จีนเปลี่ยนไปแล้ว"
"ดิฉันคิดว่าเป็นเวลาหลายปีแล้วที่รัฐบาลทรูโดยังคงติดอยู่กับภาพเก่าที่พวกเขาเห็นจีนเมื่อครั้งการค้ายังคงเป็นไปได้ดี"