xs
xsm
sm
md
lg

ทุบสถิติโลก! ผัวเมียสหรัฐฯ ได้ ‘ลูกแฝด’ จากตัวอ่อนที่ถูก 'แช่แข็ง' ไว้นานกว่า 30 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คู่รักชาวอเมริกันให้กำเนิด “ลูกแฝด” ซึ่งเกิดจากตัวอ่อน (embryos) ที่ถูกแช่แข็งมานานกว่า 30 ปี ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นตัวอ่อนมนุษย์ที่ถูกแช่แข็งนานที่สุดที่ประสบความสำเร็จในการถือกำเนิดเป็นทารก

ลีเดีย แอนน์ และทิโมธี โรนัลด์ ริดจ์เวย์ เกิดจากตัวอ่อนที่สามีภรรยาคู่หนึ่งได้บริจาคไว้ให้ศูนย์บริจาคตัวอ่อนแห่งชาติ (NEDC) ในรัฐเทนเนสซี โดยตัวอ่อนมนุษย์ทั้งสองถูกแช่แข็งในไนไตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -128 องศาเซลเซียสมาตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. ปี 1992

ราเชล ริดจ์เวย์ ซึ่งเป็นคุณแม่ลูก 4 จากรัฐออริกอน ให้กำเนิดทารกทั้งสองเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่คุณพ่อ ฟิลิป ริดจ์เวย์ ยอมรับว่า มันเป็นประสบการณ์ที่ “เหลือเชื่อ” สำหรับพวกเขา

NEDC ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ช่วยเหลือด้านการให้กำเนิดทารกจากตัวอ่อนที่รับรับบริจาคมาแล้วมากกว่า 1,200 คน ระบุว่า ฝาแฝดคู่นี้ได้สร้างสถิติโลกใหม่ โดยทำลายสถิติของหนูน้อย “มอลลี กิ๊บสัน” ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 2020 จากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งนานเกือบ 27 ปี

รายงานระบุว่า ตัวอ่อนทั้งสองถูกสร้างขึ้นสำหรับคู่สามีภรรยานิรนามที่ได้มาทำ IVF ไว้ โดยฝ่ายชายอายุ 50 ปีเศษ และอาศัยไข่ของผู้บริจาคหญิงที่อายุ 34 ปี

ตัวอ่อนทั้งสองถูกเก็บไว้ที่ห้องปฏิบัติการด้านการเจริญพันธุ์ที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ จนถึงปี 2007 ก่อนที่คู่สามีภรรยานิรนามจะบริจาคมันให้ NEDC ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองน็อกซ์วิลล์ รัฐเทนเนสซี เพื่อให้คู่รักอีกคู่ได้นำไปใช้แทน

นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจากคลินิก Southeastern Fertility ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับ NEDC รับหน้าที่ในการนำตัวอ่อนทั้งสองใส่เข้าไปในมดลูกของ ราเชล ริดจ์เวย์ เมื่อต้นปีนี้

NEDC ระบุว่า ทางศูนย์หวังว่าข่าวดีของครอบครัว ริดจ์เวย์ “จะเป็นแรงบันดาลใจให้คู่รักคู่อื่นๆ ที่อยากสัมผัสประสบการณ์ความสุขในการรับบริจาคตัวอ่อน”

ทั้งนี้ ครอบครัวริดจ์เวย์ เคยมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมาแล้ว 4 คน โดยอายุระหว่าง 1-8 ขวบ

“ผมเพิ่งอายุ 5 ขวบ ตอนที่พระเจ้าได้ให้ชีวิตกับ ลีเดีย และทีโมธี และพระองค์ได้ทรงเก็บรักษาชีวิตพวกเขาไว้ตั้งแต่นั้นมา” ฟิลิป ให้สัมภาษณ์กับ CNN

“จะว่าไปแล้ว พวกเขาต้องถือว่าเป็นลูกคนโตสุดของเราด้วยซ้ำ ถึงแม้จะตัวเล็กสุดก็ตาม”

ที่มา : BBC
กำลังโหลดความคิดเห็น