เอเจนซีส์ - องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรทั้งหมดบนโลกมีทั้งหมด 8 พันล้านคนในวันอังคาร (15 พ.ย.) เป็นย่างก้าวที่สำคัญในการพัฒนามนุษยชาติก่อนอัตราการเกิดจะเริ่มลดลง ขณะที่อินเดียปีหน้าเตรียมขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลกแทนจีน
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (15 พ.ย.) ว่า องค์การสหประชาชาติกล่าวผ่านแถลงการณ์ชี้ว่า มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 1 พันล้านคนเพิ่มเข้าสู่จำนวนประชากรโลกทั้งหมดในช่วงเวลาแค่ 12 ปี
“นี่เป็นการเติบโตที่คาดไม่ถึงเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของอายุขัยของมนุษย์เนื่องมาจากการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข โภชนาการ การแพทย์และสุขลักษณะส่วนบุคคล มันเป็นผลของระดับภาวะเจริญพันธุ์ที่สูงและต่อเนื่องในบางประเทศ”
ทั้งนี้ ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งส่วนใหญ่รวมตัวอยู่ในเอเชียมีสัดส่วนของการเติบโตส่วนใหญ่ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 700 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2011
อินเดียเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอีก 180 ล้านคน และจากการคาดการณ์จะทำให้ในปีหน้าแดนภารตะจะแซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก
แต่ในขณะที่โลกเห็นจำนวนประชากรสูงครั้งใหม่ แต่ทว่า นักประชากรศาสตร์ชี้ว่า อัตราการเติบโตได้ตกลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงน้อยกว่า 1%/ปี และจะทำให้ทั่วโลกจะเห็นจำนวนประชากรโลกแตะ 9 พันล้านคนช้าออกไปจนถึงปี 2037
สหประชาชาติคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะมีจำนวนสูงสุดที่ 10.4 พันล้านคนในราวปี 2080 และจะยังคงอยู่ในระดับนั้นไปจนถึงปี 2100
โดยส่วนใหญ่ของประชากรทั้งหมด 2.4 พันล้านคนที่จะถูกเพิ่มเข้ามาก่อนที่จะสูงสุดที่ 10.4 พันล้านคนนั้น คาดว่าจะเกิดที่ภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Sahara) แอฟริกา อ้างอิงจากการคาดการณ์ของยูเอ็น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่หันเหมาจากอินเดียและจีน
เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตร์เรส กล่าวผ่านแถลงการณ์มีใจความว่า
“ประชากรโลกมาถึงจำนวน 8 พันล้านคนนั้นเป็นโอกาสสำหรับการเฉลิมฉลองความหลากหลายและความก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน ยังพิจารณาถึงการแบ่งปันความรับผิดชอบของมนุษยชาติต่อโลกใบนี้”
ซึ่งการที่มีจำนวนคนเพิ่มมากขึ้นบนโลกจะเป็นการสร้างแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย ขณะเดียวกันการเติบโตอย่างรวดเร็วทางประชากร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลกคาดว่าจะทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่และความขัดแย้งในหลายสิบปีที่กำลังจะมาถึง ผู้เชี่ยวชาญกล่าว