พรรครีพับลิกันพลิกขั้วกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้สำเร็จในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการขับเคี่ยวที่ดุเดือดชนิดที่ต้องลุ้นกันชั่วโมงต่อชั่วโมง ขณะที่ศึกชิงเก้าอี้ในวุฒิสภาผลยังออกมาสูสีกันมาก และประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจต้องเตรียมตัวเผชิญสภาวะ “รัฐบาลเป็ดง่อย” หากสุดท้ายแล้วพรรคเดโมแครตต้องเสียเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา
ศึกเลือกตั้งคราวนี้เป็นการชิงชัยเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 435 ที่นั่ง และ 35 ที่นั่งจากทั้งหมด 100 ที่นั่งในวุฒิสภา โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พรรครีพับลิกันจะสามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส.ได้เพิ่มอย่างน้อยๆ 5 เสียงซึ่งจำเป็นสำหรับการควบคุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ศึกวุฒิสภานั้นคาดว่าจะต้องตัดสินชี้ขาดกันที่รัฐสมรภูมิสำคัญอย่างเช่น เพนซิลเวเนีย เนวาดา จอร์เจีย และแอริโซนา
จากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปจนถึงช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (10) พบว่า พรรครีพับลิกันสามารถกวาด ส.ส. ไปได้แล้วอย่างน้อย 209 ที่นั่ง ขณะที่เดโมแครตได้ไป 191 ที่นั่ง ซึ่งพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.เกิน 218 คนขึ้นไปจะได้ครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ขณะที่ในฝั่งของวุฒิสภานั้นพรรครีพับลิกันคว้าไปอย่างน้อย 49 ที่นั่ง เดโมแครตได้ไป 48 ที่นั่ง ซึ่งหากพรรคใดสามารถเก็บจำนวน ส.ว.ได้ถึง 51 คน จะได้กุมเสียงข้างมากทันที
สนามเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่ยังคงมีการขับเคี่ยวกันอย่างสูสีจนถึงเช้าวันพฤหัสบดี (10) ได้แก่ แอริโซนา และเนวาดา ขณะที่รัฐจอร์เจียจะต้องมีการโหวตรอบ 2 ในวันที่ 6 ธ.ค. เนื่องจากผู้สมัครทั้งฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันต่างได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 50% สำหรับการเป็นผู้ชนะ
ชาวอเมริกันกว่า 46 ล้านคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งผ่านอีเมล หรือลงคะแนนด้วยตนเอง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เลือกตั้งประจำรัฐเตือนว่า พวกเขาคงต้องใช้เวลานับบัตรเลือกตั้งทั้งหมด และอาจจะยังไม่ทราบว่าพรรคใดจะได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาจนกว่าจะทราบผลเลือกตั้งรอบ 2 ของรัฐจอร์เจียในวันที่ 6 ธ.ค.
ไบเดน ได้โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับผู้แทนเดโมแครตกว่า 30 คนที่ชนะการเลือกตั้ง แถมยังกล่าวยกย่องว่า "เป็นวันดีสำหรับประชาธิปไตย" หลังพรรคเดโมแครตของเขาทำผลงานได้ดีอย่างน่าประหลาดใจในศึกเลือกตั้งกลางเทอม แม้รีพับลิกันจะส่อแววครองเสียงข้างมากในสภาล่างก็ตาม
"ผมคิดว่ามันเป็นวันที่ดีสำหรับประชาธิปไตย และผมคิดว่ามันเป็นวันที่ดีสำหรับอเมริกา" ไบเดนกล่าวที่ทำเนียบขาว "ขณะที่สื่อมวลชนและผู้สันทัดกรณีทั้งหลายคาดเดาว่าจะได้เห็นคลื่นสีแดงกวาดชัยชนะ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น"
ผู้ช่วยและพันธมิตรของไบเดน หลายคนเชื่อว่า ความพยายามประธานาธิบดีในการชูเรื่องสิทธิทำแท้ง การต่อต้านแนวคิดการเมืองแบบขวาจัดสุดโต่ง และการส่งเสริมบริการด้านสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสกัดคลื่นสีแดงของรีพับลิกันไม่ให้ซัดกระหน่ำรุนแรงอย่างที่คาด
ไบเดน ออกมาเตือนชาวอเมริกันว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็น “บททดสอบสำหรับประชาธิปไตยอเมริกัน” ในยามที่ฐานเสียงรีพับลิกันจำนวนมากยังคงเชื่อคำกล่าวอ้างของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่าตนเองโดนโกงเลือกตั้งเมื่อปี 2020
อย่างไรก็ดี ผลเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังถือได้ว่าเป็นบทลงโทษสำหรับรัฐบาล ไบเดน ที่ไม่อาจควบคุมภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนมุมมองคนอเมริกันส่วนใหญ่ซึ่งไม่พอใจจุดยืนขัดขวางสิทธิการทำแท้งของพรรครีพับลิกัน
เอ็กซิตโพลของสำนักวิจัยเอดิสันพบว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกลางเทอมให้ความสำคัญกับประเด็นเงินเฟ้อและทำแท้งในระดับต้นๆ โดยมีถึง 1 ใน 3 ระบุว่า หนึ่งใน 2 ประเด็นนี้อยู่ในความกังวลลำดับต้นๆ ของพวกเขา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สมัครรีพับลิกันบางคนที่เป็นพันธมิตรของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ทำผลงานได้ไม่ดีนักในศึกเลือกตั้งคราวนี้ บ่งบอกว่าคนอเมริกันยังรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการบริหารประเทศ และการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านในยุคของทรัมป์ และยังก่อให้เกิดคำถามว่าโอกาสของ ทรัมป์ ที่จะกลับมาคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2024 นั้นมีมากน้อยเพียงใด
นอกจากจะเห็นผู้สมัครตัวเต็งหลายคนที่เขาสนับสนุนประสบความพ่ายแพ้แล้ว ทรัมป์ ยังได้เห็น “รอน ดีแซนทิส” คู่แข่งที่คาดว่าจะแย่งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 คว้าชัยชนะได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาต่ออีกสมัยด้วย
จอห์น เฟตเทอร์แมน จากพรรคเดโมแครตคว้าที่นั่ง ส.ว.รัฐเพนซิลเวเนียได้สำเร็จ โดยเอาชนะ “เมห์เม็ต ออซ” นายแพทย์และพิธีกรชื่อดังจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้พรรคเดโมแครตกุมเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาไว้ได้ต่อไป
ปัจจุบัน พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างครองที่นั่งวุฒิสภาในสัดส่วน 50-50 เท่ากัน แต่เนื่องจากรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จึงมีสิทธิที่จะออกเสียงชี้ขาดได้ในกรณีที่ผลการลงมติออกมาเท่ากัน
ทั้งนี้ หากพรรครีพับลิกันกุมเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้สำเร็จ พวกเขาจะสามารถขัดขวางร่างกฎหมายต่างๆ ที่เดโมแครตให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เช่น สิทธิการทำแท้งและการต่อสู้ภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ รีพับลิกันยังอาจนำมาซึ่งภาวะ “ชัตดาวน์” หน่วยงานรัฐบาลอันเนื่องจากประเด็นโต้เถียงเกี่ยวกับเพดานหนี้ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินสั่นคลอนอีกครั้ง รวมถึงอาจเรียกร้องให้คองเกรสเปิดการสอบสวนรัฐบาลและขุดคุ้ยความผิดของคนในครอบครัว ไบเดน
พรรครีพับลิกันยังอาจใช้อำนาจขัดขวางความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบแก่ยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อศักยภาพในการต่อต้านรัสเซียของกองกำลังเคียฟ กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าที่รีพับลิกันจะเพียงแค่ “ชะลอ” หรือ “เตะถ่วง” ความช่วยเหลือเท่านั้น
ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ซึ่งดูเหมือนจะรับรู้ความเสี่ยงข้อนี้ดี ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอังคาร (8 พ.ย.) ให้บรรดานักการเมืองในสหรัฐฯ ยึดมั่นจุดยืนเดียวกันในการสนับสนุนยูเครน
"ผมขอเรียกร้องให้พวกคุณคงความเป็นหนึ่งเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนเช่นในตอนนี้... จนกว่าเราจะได้ยินคำว่า ท้ายที่สุดก็สามารถกอบกู้สันติภาพคืนมาได้" เซเลนสกี กล่าวในคำปราศรัยระหว่างพิธีรับมอบเหรียญเสรีภาพจากสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน กลุ่มฝักใฝ่เครมลินในรัสเซียก็ออกมาแสดงความคาดหวังว่า พรรครีพับลิกันจะคว้าชัยในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ และก้าวขึ้นมาครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะทำให้ ไบเดน ต้องเผชิญกับงานยาก และต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าเดิมในการผลักดันให้คองเกรสยอมอนุมัติแพกเกจช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน
"แม้ชัยชนะของพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ อาจจะไม่นำไปสู่การปฏิวัตินโยบายต่างประเทศของอเมริกา และไม่ใช่จุดจบของการสนับสนุนที่อเมริกามีต่อยูเครน แต่รัฐบาล ไบเดน ก็จะต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการโน้มน้าวให้สภาคองเกรสอนุมัติความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่เคียฟ และสถานะของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลือยูเครนแบบไม่มีขีดจำกัดก็จะเข้มแข็งยิ่งขึ้น" อเล็กเซ ปุชคอฟ ส.ว.สายเหยี่ยวของรัสเซีย และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศ ให้ความเห็นผ่านทาง Telegram
Tsargrad เว็บไซต์ข่าวออนไลน์และสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับเงินทุนจากคอนสแตนติน มาโลฟีด มหาเศรษฐีรัสเซียชาตินิยมสุดขั้วที่ถูกตะวันตกคว่ำบาตร คาดการณ์ว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้อาจก่อผลกระทบใหญ่หลวงในทางภูมิรัฐศาสตร์ และอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วทางการเมืองและความโกลาหลอันเนื่องจากผลการเลือกตั้ง ซึ่งหากเกิดสถานการณ์วุ่นวายขึ้นในประเทศตัวเองแล้ว สหรัฐฯ ก็คงไม่มีศักยภาพพอที่จะสนับสนุนยูเครนต่อไป
ปิออตร์ อาโคปอฟ (Pyotr Akopov) คอลัมนิสต์ของสำนักข่าว RIA สื่อมวลชนแห่งรัฐรัสเซีย ได้เขียนบทความคาดการณ์ว่ารัสเซียจะเป็น “ผู้ชนะอย่างแท้จริง” ในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ เพราะผลเลือกตั้งจะทำให้อเมริกาเผชิญความแตกแยกทางการเมืองหนักหน่วงขึ้นก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ที่เขาเชื่อว่าอาจจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีกรอบ
"หากยังอยู่รอดในฐานะรัฐเดี่ยว สหรัฐฯ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และจุดยืนในเวทีโลกของพวกเขาจะอ่อนแอลงไม่ว่าจะกรณีใดๆ" Akopov กล่าว "สหรัฐฯ จำเป็นต้องระดมทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วโลกหากคิดจะเผชิญหน้ากับจีน และความสนใจต่อยุโรปจะอ่อนแอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเมื่อปราศจากสหรัฐฯ ตะวันตกก็จะไม่สามารถคงการควบคุมดินแดนต่างๆ ทางตะวันตกของรัสเซียในระยะยาวได้"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดาที่ปรึกษาทำเนียบขาวเริ่ม “เตรียมตัว” รับมือการสอบสวนต่างๆ ของฝ่ายรีพับลิกัน รวมถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาล ไบเดน จะต้องบริหารประเทศในอีก 2 ปีในสภาพของ “เป็ดง่อย” เนื่องจากการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ จะทำได้ยากลำบากขึ้น
ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายสำคัญๆ ของ ไบเดน ถูกขัดขวางโดยสมาชิกสภาฝ่ายรีพับลิกัน รัฐบาลก็มีแผนที่จะใช้ “อำนาจวีโต” ของประธานาธิบดีเข้าสู้ และในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งต้องออกสื่อต่างๆ อยู่เป็นประจำทำให้ ไบเดน ยังสามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนได้
ระยะเวลา 2 เดือนก่อนสิ้นปีนี้ถือเป็นโอกาสทองสำหรับ ไบเดน ที่จะเร่งผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ในช่วงที่พรรคเดโมแครตยังคงกุมเสียงข้างมากทั้ง 2 สภาอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะเน้นผลักดันกฎหมายงบประมาณอุดหนุนหน่วยงานของรัฐ งบประมาณในการต่อสู้โควิด-19 รวมถึงผลักดันให้วุฒิสภาโหวตรับรองคณะผู้พิพากษาที่ตนเป็นผู้เสนอชื่อ
แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำหลายคนตั้งคำถามว่า ไบเดน ซึ่งกำลังจะอายุครบ 80 ปี และถือเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ควรจะลงชิงชัยต่ออีกสมัยในปี 2024 หรือไม่? ทว่าอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ไบเดน ยังทำผลงานในศึกเลือกตั้งกลางเทอมครั้งแรกของเขาได้ดีกว่าอดีตประธานาธิบดี 2 คนจากพรรคเดโมแครตอย่าง บารัค โอบามา และบิล คลินตัน
เมื่อถูกถามเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวในวันพุธ (9 พ.ย.) ไบเดน บอกว่าเขายังคงมีความตั้งใจลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย ทว่าจะตัดสินใจอย่างแน่ชัดในช่วงต้นปีหน้า