xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : กลางมรสุม! มหามิตร “ไบเดน” ออกโรงเตือนคู่หู “นายกฯ อังกฤษ” ชี้ "นโยบายลดภาษีคนรวย" พลาดอย่างแรงท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน กระโดดออกมาแสดงความเห็นวันเสาร์ (15 ต.ค.) เกี่ยวกับความโกลาหลตลาดการเงินอังกฤษ ผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนงบประมาณฉบับย่อที่เสนอออกมาเป็นครั้งแรกก่อนที่จะยอมยูเทิร์นของนายกรัฐมนตรีหญิงแดนผู้ดี ลิซ ทรัสส์ ว่า “เป็นความผิดพลาด” แต่ออกตัวมันต้องขึ้นกับอังกฤษที่ต้องตัดสินใจ พร้อมโวเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งมาก

รอยเตอร์รายงานวานนี้ (16 ต.ค.) ว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ กำลังพยายามอย่างหนักในเวลานี้ที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปหลังจากพยายามดับชนวนการก่อกบฏภายในพรรคคอนเซอร์เวทัฟของตัวเองด้วยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังอังกฤษเป็น เจเรมี ฮันท์ (Jeremy Hunt) ในวันศุกร์ (14) หลังจากกลับลำยกเลิกมาตรการลดภาษี 45 พันล้านปอนด์ (50 พันล้านดอลลาร์) ที่ต้องใช้เงินส่วนใหญ่จากการกู้ยืม

มาตรการลดภาษีครั้งมโหฬารนี้จะให้ประโยชน์กับกลุ่มมหาเศรษฐีซ๔เปอร์ริชจากการที่ลดภาษีสำหรับบุคคลที่มีรายได้เกินกว่า 150,000 ปอนด์สเตอร์ลิง/ปี หรือราว 167,770 ดอลลาร์ ที่เรียกว่าอัตราภาษี “45p” (อัตราภาษี 45%) ในอังกฤษ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ในวันเสาร์ (15) ระหว่างการหาเสียงให้พรรคเดโมแครต ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ออกมาแสดงความเห็นถึงสถานการณ์ความผกผันล่าสุดในอังกฤษที่เกิดขึ้นกับผู้นำหญิง ลิซ ทรัสส์ ว่า เขาไม่ใช่เพียงคนเดียวที่คิดว่า แผนเศรษฐกิจครั้งแรกของทรัสส์ที่นำไปสู่การตกของค่าสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงตกครั้งประวัติศาสตร์นั้น “เป็นความผิดพลาด”

เขากล่าวว่า “มันคาดการณ์ได้ ผมหมายความว่าผมไม่ใช่เพียงคนเดียวที่คิดว่ามันเป็นความผิดพลาด” เกิดขึ้นระหว่างที่ไบเดนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการกลับลำแบบ 360 องศาของทรัสส์ในแผนการเศรษฐกิจหลังจากตลาดการเงินอังกฤษเกิดความปั่นป่วน

ไบเดนซึ่งเดินทางมาหาเสียงให้ ทีน่า โคเท็ก (Tina Kotek) ซึ่งลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐโอเรกอน แสดงความเห็นต่อว่า “ผมคิดว่า แนวความคิดการลดภาษีกลุ่มพวกคนรวยซูเปอร์ริชในเวลาที่..อย่างไรก็ตามผมคิดว่า ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบาย”

ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า “แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันต้องขึ้นกับสหราชอาณาจักรอังกฤษที่จะเป็นผู้ต้องตัดสินใจเองไม่ใช่ผม”

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ แสดงความเห็นว่า การออกมาแสดงทัศนะถึงสถานการณ์ในอังกฤษของผู้นำทำเนียบขาวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยครั้งในการเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในทางการตัดสินใจทางนโยบายของหนึ่งในชาติที่ถือว่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดมากที่สุดของสหรัฐฯ

ฟ็อกซ์นิวส์รายงานว่า และเมื่อไบเดนถูกถามเกี่ยวกับการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันจันทร์ (17) ตกอยู่ที่ 1 ปอนด์ ต่อ 1.13 ดอลลาร์ต่อ นั้นไบเดนซึ่งมีภาพการแวะหยุดซื้อไอศกรีมโคนระหว่างทางและใช้เงินสดจ่ายแทนที่จะเป็นบัตรเครดิตกล่าวแสดงความเห็นว่า

“ผมไม่ให้วิตกกังวลต่อความแข็งของค่าสกุลเงินดอลลาร์ แต่ผมวิตกต่อทั่วทั้งโลก” และกล่าวต่อว่า “ปัญหาคือการขาดการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและนโยบายที่สมเหตุสมผลในประเทศอื่นๆ” พร้อมกับย้ำว่า “มันเกิดวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลกนั่นเป็นผลที่ตามมา”

นิวยอร์กโพสต์กล่าวว่า ไบเดนตอบคำถามเรื่องการแข็งตัวของค่าสกุลเงินดอลลาร์มากขึ้นที่มีการวิตกว่าจะยิ่งเป็นการเร่งการเพิ่มขึ้นของวิกฤตเงินเฟ้อโลกหรือไม่ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวตอกย้ำในประเด็นนี้ว่า “เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งมาก”

ฟ็อกซ์นิวส์รายงานว่า ซึ่งการกลับหันหลังกลับทางนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ประสบความสำเร็จ ช่วยทำให้ค่าเงินสกุลปอนด์ต่อดอลลาร์ดีขึ้นจาก 1 ปอนด์ ต่อ 1.03 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.12 ดอลลาร์










กำลังโหลดความคิดเห็น