xs
xsm
sm
md
lg

ซะงั้น!! “เกรียตา ทุนแบร์ย” เปิดประเด็นโจมตีเมืองเบียร์คิดผิดถ้าปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ชี้ “นิวเคลียร์” ปลอดภัยกับโลกกว่าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี/MGRออนไลน์ - เกรียตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกชื่อดังสวีเดน วัย 19 ปี ออกมาวิพากษ์รัฐบาลเยอรมนี ว่าเป็นความผิดพลาดในนโยบายปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และจะทำให้เยอรมนีที่กำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาวต้องพึ่งพลังงานถ่านหินที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมโลก

เอพีรายงานวานนี้ (12 ต.ค.) ว่า ในขณะที่รัฐบาลเยอรมนีของของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ กำลังดีเบตถึงผลได้ผลเสียต่อการปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ท่ามกลางประเทศกำลังย่างสู่ฤดูหนาว และสงครามยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลร้ายต่อวิกฤตพลังงานประเทศ

เกรียตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกชื่อดังสวีเดน วัย 19 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเยอรมนีชื่อดัง ARD ถึงเรื่องนี้ว่า

“เป็นความคิดที่แย่มากที่ให้ความสนใจต่อถ่านหินในเมื่อสิ่งนี้ (พลังงานนิวเคลียร์) มันมีอยู่แล้ว”

แต่ทว่าในการให้สัมภาษณ์ซึ่งออกอากาศในวันพุธ (12) ทุนแบร์ย ยอมรับว่ามีการโต้เถียงอย่างสูงในเรื่องนี้ที่เยอรมนี

โดยในคำถามระบุว่า จะดีกับโลกมากกว่าหากว่าเยอรมนียังคงเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 โรงต่อไป “หากว่าพวกเราได้เปิดใช้มันอยู่แล้ว ดิฉันคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดที่จะปิดพวกมันเพื่อให้ความสนใจกับถ่านหิน”

พิธีกรผู้สัมภาษณ์ ซานดรา ไมชแบร์การ์ (Sandra Maischberger) ถามทุนแบร์ย์ต่อว่า เธอคิดหรือไม่ว่าสมควรที่จะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยเร็วที่สุดหลังจากวิกฤตพลังงานยุโรปได้ผ่านพ้นไป แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมโลกชาวสวีเดนตอบกลับมาว่า “มันก็ขึ้นอยู่ว่า..เพราะพวกเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้”

เอพีรายงานว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี โรเบิร์ต ฮาเบค (Robert Habeck) ซึ่งสังกัดพรรคกรีนของเยอรมนีที่มีนโยบายต่อต้านนิวเคลียร์แสดงความเห็นว่า หากจะยังคงปล่อยให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทำงานต่อไปนั้นจะไม่ช่วยมากนักต่อการขาดแคลนพลังงานของเยอรมนี

ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ฮาเบคได้แสดงความเห็นว่า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรงจากทั้งหมดสามารถอนุญาตให้ยังเปิดทำการได้ต่อไปจนถึงเมษายนปีหน้า แต่คัดค้านที่จะปล่อยให้เปิดทำการนานกว่านั้นเนื่องมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

นอกเหนือจากนี้ พบว่า ฮาเบคได้อนุญาตให้โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและเชื้อเพลิงไม่กี่แห่งสามารถกลับมาปฏิบัติการได้อีกครั้งเพื่อป้อนพลังงานให้เยอรมนี เกิดขึ้นหลังรัสเซียสั่งหยุดการป้อนก๊าซธรรมชาติให้ยุโรปท่ามกลางสงครามยูเครนที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ทว่าบรรดานักเคลื่อนไหวทางสภาวะอากาศโลกต่างออกมาเตือนเบอร์ลินว่า เสี่ยงที่จะล้มลายต่อเป้าหมายทางสภาพอากาศโลกหากยังเดินหน้าเผาพลังงานฟอสซิลต่อไปขณะที่นักการเมืองสายอนุรักษ์เยอรมนี ชี้ว่า รัฐบาลผสม 3 พรรคของชอลซ์สมควรใช้ทุกหนทางที่มีเพื่อแจกจ่ายพลังงานโดยอ้างไปถึงสถานการณ์ที่ตึงเครียดของซัปพลายเชื้อเพลิงและราคาที่สูง

การแสดงความเห็นเกี่ยวกับนิวเคลียร์ของทุนแบร์ย นั้นได้รับการต้อนรับจากนักการเมืองสายลิเบอแทเรียน และนักการเมืองปีกขวาเยอรมนี ที่ก่อนหน้าเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การรณรงค์สภาพอากาศโลกของนักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน

ทั้งนี้ อ้างอิงจากสื่อ the coldwire พบว่า “ลิเบอแทเรียน” (libertarian) เป็นแนวคิดทางการเมืองที่เชื่อว่ารัฐบาลควรเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุดทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และแตกต่างจาก “ลิเบอรัล” (Libera) ที่แนวคิดเชื่อว่ารัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ประชาชนบรรลุเป้าหมายด้านความเท่าเทียมและเสรีภาพ

ทุนแบร์ยซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายหลังจากหยุดพักไป 1 ปี เพื่อรณรงค์ล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 2019 วิจารณ์ว่า การตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมนีในการพึ่งพาพลังงานถ่านหินนั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า

“เกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณต้องติดกับพลังงานฟอสซิลพวกนี้” และเธอยังประณามต่อถึงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานถ่านหินใหม่ของเมืองเบียร์ และชี้ว่าในความเป็นจริงเยอรมนีสมควรให้ความสนใจในการขยายพลังงานหมุนเวียน

แต่รัฐบาลเยอรมนียืนยันว่าโรงงานก๊าซแห่งใหม่ต้องมีความสามารถใช้พลังงานไฮโดรเจนสะอาดได้และมันจะช่วยกระตุ้นการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้

ในรายงานทุนแบร์ยที่ในเวลานี้อยู่ระหว่างการโปรโมตหนังสือเล่มใหม่ชื่อ The Climate Book ที่คาดว่าจะวาางแผงได้ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ แสดงความเห็นยืนยันว่า เธอไม่เชื่อว่าการแก้ปัญหาจะใช้ได้ด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว และยืนยันว่า เธอมองโลกในความเป็นจริง แต่ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกคนคือการต้องตระหนักมหันตภัยใหญ่หลวงของวิกฤตที่มนุษยชาติกำลังเผชิญหน้ากับอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูง

“ดิฉันรู้ว่าที่เยอรมนีผู้คนกำลังพูดคุยถึงการประหยัดพลังงาน” และชี้ว่า “แต่ในสวีเดนมันเป็นสิ่งต้องห้ามโดยสิ้นเชิงในการพูดถึงการใช้พลังงานให้น้อยลง เป็นเพราะผู้คนพากันกล่าวว่า “โอ ไม่นะนี่มันเป็นลัทธิสังคมนิยมและอื่นๆ มันบ้าสิ้นดี”




กำลังโหลดความคิดเห็น