xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่านประท้วงเดือดตายกว่า 200 ศพ นักศึกษาร่วมม็อบถูกจับส่ง ‘สถาบันจิตเวช’ เพื่อปรับทัศนคติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าหน้าที่อิหร่านยอมรับเมื่อวันอังคาร (11 ต.ค.) ว่ามีนักเรียนนักศึกษาถูกจับ และส่งไปปรับทัศนคติที่ “สถาบันจิตเวช” หลังออกมาร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลกรณี “มาห์ซา อามินี” ที่เสียชีวิต หลังโดนตำรวจศีลธรรมจับกุมฐานไม่คลุมฮิญาบให้เรียบร้อย ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนเผยยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงในอิหร่านพุ่งเกิน 200 ศพแล้ว

ยูเซฟ นูรี (Yousef Nouri) รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาของอิหร่าน ยอมรับกับหนังสือพิมพ์สายปฏิรูปฉบับหนึ่งว่า นักเรียนที่ออกมาประท้วงบางคนถูกจับกุม และส่งตัวไปยังสถานที่ที่เขาเรียกว่า “สถาบันทางจิตเวช” (psychological institutions) ซึ่งจะทำการ “ปรับทัศนคติและให้การอบรม” นักศึกษาเหล่านี้เสียใหม่ ไม่ให้แสดง “พฤติกรรมต่อต้านสังคม” อีก

“นักศึกษากลุ่มนี้อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม เราจึงต้องการที่จะเปลี่ยนแนวคิดของพวกเขา”
ยูเซฟ บอกกับหนังสือพิมพ์ Shargh พร้อมยืนยันว่า เยาวชนกลุ่มนี้จะได้รับอนุญาตให้กลับไปเรียนหนังสือตามปกติ หลังจากที่ “เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว”

เหตุประท้วงใหญ่ในอิหร่านเริ่มต้นเมื่อเกือบ 1 เดือนที่แล้ว หลังจาก มาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงสาววัย 22 ปี ถูกตำรวจศีลธรรมของอิหร่านจับกุมฐานทำผิดกฎการสวมฮิญาบ โดยปล่อยให้มีเส้นผมโผล่ออกมาให้เห็น

อามินี ถูกตำรวจพาตัวไปยังศูนย์ควบคุม และเสียชีวิตลงในอีก 3 วันต่อมา โดยทางตำรวจอ้างว่าเธอเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะที่ทางครอบครัวระบุว่า เจ้าหน้าที่มีการใช้กระบองตีที่ศีรษะของหญิงสาว และยังจับศีรษะเธอโขกกับรถตำรวจด้วย

การตายของ อามินี ทำให้ชาวอิหร่านจำนวนมากโกรธแค้นการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ที่ลุกลามไปทั่วประเทศ

รัฐมนตรีผู้นี้ปฏิเสธที่จะระบุจำนวนนักศึกษาที่ถูกจับกุม โดยบอกแต่เพียงว่า “มีไม่เยอะ”

เด็กผู้หญิงและสตรีอิหร่านกลายเป็นพลังสำคัญในการชุมนุมประท้วงซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือบนท้องถนน ภาพและคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นผู้หญิงและเด็กสาวจำนวนมากตะโกนไล่ “เผด็จการไปตายเสีย” และบ้างก็ตัดผม หรือถอดผ้าคลุมฮิญาบนำมาจุดไฟเผาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของสตรี

เมื่อวันอังคาร (11) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ออกมาเรียกร้องขอการปกป้องเด็กๆ และวัยรุ่นในอิหร่าน ท่ามกลางสถานการณ์จลาจลที่ยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3

องค์กร Iran Human Rights ซึ่งมีฐานอยู่ที่นอร์เวย์ ระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงใหญ่ในอิหร่านไม่ต่ำกว่า 201 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 23 คน ขณะที่รัฐบาลอิหร่านอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิตไปราวๆ 20 นาย และกล่าวหาบรรดาชาติศัตรูรวมถึงสหรัฐฯ ว่าจงใจปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบขึ้นในอิหร่าน

ที่มา : CNN, รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น