สื่อเกาหลีเหนือเผย ผู้นำ คิม จองอึน ได้เดินทางไปชมการทดสอบยิงขีปนาวุธร่อนทางยุทธศาสตร์พิสัยไกล (long-range strategic cruise missiles) จำนวน 2 ลูก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือและศักยภาพในการปฏิบัติการของขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ (nuclear-capable weapons) ที่ประจำการอยู่ตามกรมกองต่างๆ
สำนักข่าว KCNA รายงานวันนี้ (13 ต.ค.) ว่า การยิงทดสอบดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (12) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับศักยภาพและพลังในการโจมตีของขีปนาวุธร่อนที่สามารถรองรับปฏิบัติการของระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (tactical nukes)
KCNA อ้างคำพูดของผู้นำโสมแดงที่ระบุว่า การทดสอบขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลคราวนี้ถือเป็น “สัญญาณเตือนที่ชัดเจน” ไปยังบรรดาศัตรู และย้ำว่าเกาหลีเหนือ “จะยังคงขยายขอบเขตปฏิบัติการของกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์เพื่อป้องปรามวิกฤตการณ์ทางทหารและสงครามในทุกๆ เมื่อ และมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้”
ก่อนหน้านี้ สื่อเปียงยางรายงานเมื่อวันจันทร์ (10) ว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำคิมได้ไป “มอบคำแนะนำ” ในการทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี โดยจำลองสถานการณ์การยิงถล่มเป้าหมายต่างๆ ในเกาหลีใต้ เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เปิดการซ้อมรบทางทะเลครั้งใหญ่ และมีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาในภูมิภาค
KCNA ระบุว่า ขีปนาวุธร่อน 2 ลูกที่ยิงเมื่อวันพุธ (12) พุ่งโจมตีเป้าหมายซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 2,000 กิโลเมตรได้อย่างแม่นยำ โดยใช้ระยะเวลาเดินทาง 10,234 วินาที
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ และย้ำว่าวอชิงตันยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
เปียงยางยิงทดสอบขีปนาวุธร่อนทางยุทธศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2021 ซึ่งในตอนนั้นนักวิเคราะห์เชื่อว่า มันน่าจะเป็นขีปนาวุธตัวแรกของเกาหลีเหนือที่มีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ได้
แม้การยิงทดสอบเมื่อวานนี้ (12) จะเป็นเครื่องยืนยันว่า เกาหลีเหนือตั้งใจใช้ขีปนาวุธรุ่นนี้เพื่อติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ และบอกให้รู้ว่ามันถูกส่งเข้าประจำการแล้ว แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าพวกเขาสามารถผลิตหัวรบนิวเคลียร์ย่อส่วนเพื่อติดตั้งบนขีปนาวุธร่อนได้แล้วจริงหรือไม่
ขีปนาวุธร่อนเป็นหนึ่งในบรรดาอาวุธขนาดเล็กที่เกาหลีเหนือมุ่งมั่นพัฒนาในระยะหลังๆ มานี้ เนื่องจากสามารถบินในระดับต่ำ และหลบหลีกระบบป้องกันภัยทางอากาศได้ดีกว่า
ผู้นำ คิม เคยประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่า การสร้างหัวรบที่มีขนาดเล็กลงคือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่สุดของเกาหลีเหนือ ขณะที่เจ้าหน้าที่โซลก็เตือนว่า หากโสมแดงรื้อฟื้นการทดสอบนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ การผลิตหัวรบย่อส่วนก็น่าจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของพวกเขา
ทั้งนี้ ขีปนาวุธร่อนของเกาหลีเหนือได้รับความใส่ใจจากนานาชาติน้อยกว่าขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) เนื่องจากไม่ได้ถูกแบนอย่างชัดเจนตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่กระนั้นนักวิเคราะห์ก็เตือนว่า ขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้ที่สามารถติดตั้งหัวรบแบบดั้งเดิม หรือหัวรบนิวเคลียร์ได้นั้น “มีความน่ากลัว” มากกว่าหากเกิดสงครามขึ้น เพราะยากที่จะรู้ได้ว่ามันติดหัวรบชนิดใดกันแน่
รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกมาแถลงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติในวันพุธ (12) โดยมีการเอ่ยถึงเกาหลีเหนือน้อยมาก ซึ่งสะท้อนว่าวอชิงตันมีทางเลือกค่อนข้างจำกัดในการที่จะควบคุมโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
แดเนียล รัสเซลล์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในยุคของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ชี้ว่า เรื่องนี้ไม่เพียงน่าตกใจในแง่ที่ว่ารัฐบาล ไบเดน เอ่ยถึงภัยคุกคามเกาหลีเหนือแบบผิวเผิน แต่รวมถึงการที่สหรัฐฯ ยังคงวางกรอบยุทธศาสตร์เดิมๆ คือ “แสวงหาแนวทางการทูตที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์” ในขณะที่รัฐบาล คิม จองอึน ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการเจรจาด้วย
ที่มา : รอยเตอร์