ฮังการี และเซอร์เบียตกลงกันสร้างท่อลำเลียงหนึ่งที่จะป้อนน้ำมันดิบรัสเซียแก่เซอร์เบีย หลังจากมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปจำกัดอุปทานน้ำมันดิบที่ป้อนผ่านโครเอเชีย จากคำแถลงของรัฐบาลฮังการี
ปัจจุบัน เซอร์เบียรับน้ำมันของรัสเซีย จากโครเอเชีย ผ่านท่อลำเลียง JANAF ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อียูกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบที่ขนส่งทางทะเลที่ป้อนสู่ประเทศที่ 3 ส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานมอสโกตอบโต้กรณีรุกรานยุเครน
"ท่อลำเลียงใหม่นี้จะสามารถช่วยให้เซอร์เบียได้รับป้อนอุปทานน้ำมันดิบอูราลในราคาที่ถูกลง และเชื่อมต่อกับท่อลำเลียงเฟรนด์ชิป" โซลตัน โควัคส์ โฆษกรัฐบาลฮังการีเขียนบนทวิตเตอร์
เขากล่าวว่า อุปทานน้ำมันของเซอร์เบีย ส่วนใหญ่ได้รับการป้อนผ่านท่อลำเลียงหนึ่งผ่านโครเอเชีย "แต่มันดูไม่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต เพราะว่าการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร"
ฮังการี วิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรของอียูที่กำหนดเล่นงานรัสเซียมาตลอด โดยนายกรัฐมนตรีวิคตอร์ เออร์บาน บอกว่ามาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นประสบความล้มเหลว เนื่องจากรัฐบาลต่างๆ ในยุโปกำลังพังครืนราวกับโดมิโน
ในเดือนมิถุนายน ฮังการีเตะถ่วงข้อสรุปสุดท้ายมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียแพกเกจหนึ่งของอียู โดยคัดค้านการคว่ำบาตรอัครบิดรคีริลล์แห่งมอสโก (Patriarch Kirill) พระประมุขแห่งคริสตจักรรัสเซียนออร์โธด็อกซ์
ประเทศฮังการีพึ่งพิงน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซียเป็นอย่างมาก และบอกว่ามาตรการคว่ำบาตรต่างๆ นั้นจะยิ่งผลักราคาพลังงานให้พุ่งสูง และก่อวิกฤตพลังงานในยุโรป แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บูดาเปสต์ มีท่าทีอ่อนลงและท้ายที่สุดก็ยอมสนับสนุนแพกเกจคว่ำบาตรดังกล่าว
ขณะเดียวกัน เวลานี้อียูและสหรัฐฯ กำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับพันธสัญญาที่เซอร์เบียเคยประกาศไว้ตอนเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 27 ชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป หลัง เซอร์เบีย ลงนามกับ รัสเซีย สัญญาว่าจะมีการปรึกษาหารือกันในระยะยาวในประเด็นด้านนโยบายต่างประเทศ
ท่อลำเลียงเฟรนด์ชิป เป็นท่อลำเลียงสาขาทางใต้ของท่อลำเลียงดรูซบา ที่ทอดยาวผ่านยูเครนไปยังฮังการี สโลวะเกียและสาธารณรัฐเช็ก มันเป็นแหล่งอุปทานหลักสำหรับบรรดาโรงกลั่นในทั้ง 3 ชาติมานานหลายปี
เอ็นไอเอส คือบริษัทน้ำมันหนึ่งเดียวของเซอร์เบีย และมีก๊าซพรอม เนฟต์ และก๊าซพรอม ของรัสเซีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกัน
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ฮังการีบอกว่าจะจัดหาอุปทานก๊าซธรรมชาติช่วยเหลือเซอร์เบีย หากว่ามีความจำเป็น ด้วยที่ตอนนี้ ฮังการี มีคลังสำรองก๊าซธรรมชาติเพื่อการบริโภคอยู่ได้ราวๆ 5 ถึง 6 เดือน
(อัลจาซีราห์)