เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - เอเลน เอสเปคต์ ชาวฝรั่งเศส จอห์น เอฟ.เคลาเซอร์ ชาวอเมริกัน และอองตวน ไซลิงเงอร์ ชาวออสเตรีย ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์สำหรับการศึกษาความก้าวหน้าในสาขาควอนตัมฟิสิกส์ โดยคณะกรรมการโนเบลกรุงสตอกโฮล์มประกาศชื่อผู้ชนะวันอังคาร (4 ต.ค.) ชี้ว่า นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงทั้งสามประสบความสำเร็จในการอธิบายปรากฏการณ์พฤติกรรมผิดปกติของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สำเร็จเป็นครั้งแรก เปิดประตูไปสู่ความก้าวหน้าทางซูเปอร์คอมพิวเตอร์และการสื่อสารรหัสลับความปลอดภัยสูง
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (4 ต.ค.) ว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงจากฝรั่งเศส สหรัฐฯ และออสเตรีย เอเลน เอสเปคต์ (Alain Aspect) ชาวฝรั่งเศส จอห์น เอฟ.เคลาเซอร์ (John F.Clauser) ชาวอเมริกัน และอองตวน ไซลิงเงอร์ (Anton Zeilinger) ถูกราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศชื่อในวันอังคาร (4) ให้เป็นผู้ชนะร่วมกันในรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปีนี้ และจะได้รับเงินรางวัลร่วมกันจำนวน 10 ล้านโครนาสวีเดน หรือเกือบ 900,000 ดอลลาร์ สำหรับการวิจัย Quantum Entaglement ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สำเร็จเป็นครั้งแรก
อ้างอิงจากเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ ทางราชบัณฑิตได้แสดงเหตุผลการชนะเลิศครั้งนี้ว่า “สำหรับการทดลองเกี่ยวกับการพัวพันของอนุภาคโฟตอนและส่งผลทำให้เกิดการละเมิดทฤษฎีความไม่เท่าเทียมของเบลล์ (Bell inequalities)และทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ข้อมูลควอนตัม”
ซึ่งการศึกษาของคนทั้งสามนั้นเป็นการศึกษาตามรอยนักฟิสิกส์ชื่อดัง จอห์น สตวร์ต เบลล์ (John Stewart Bell) ซึ่งทฤษฎีของเขาเปลี่ยนความเข้าใจในสาขากลศาสตร์ควอนตัมโดยสิ้นเชิง
สำหรับการวิจัยของคนทั้งสามนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Quantum Entaglement ซึ่งนักฟิสิกส์ชื่อดังผู้ยิ่งใหญ่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เรียกปรากฏการณ์นี้เมื่อปี 1935 ว่า “spooky action at a distance” ของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมในทางควอนตัมฟิสิกส์
โดยเมื่อหลายสิบปีหลังการเสียชีวิตของไอน์สไตน์ การทดลองของแอสเปคต์ เคลาเซอร์ และไซลิงเงอร์ แสดงให้เห็นว่า "ปรากฏการณ์การพัวพันเชิงควอนตัม" ( quantum entanglement) นั้นเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เป็นแค่ทฤษฎีเท่านั้น ราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนแสดงความชื่นชมผลงานความสำเร็จว่า “เป็นการวางรากฐานเทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่”
ซึ่งการพัวพันเชิงควอนตัมซึ่งไอน์สไตน์กล่าวถึง “spooky action at a distance” นั่นเป็นเพราะการโต้ตอบระยะไกลที่ชัดเจนระหว่างอนุภาค 2 ตัวดูจะเข้ากันไม่ได้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของเขา ที่เชื่อว่าความเร็วที่สูงสุดในจักรวาลคือความเร็วแสง แต่การพัวพันเชิงควอนตัมดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่เอาชนะความเร็วแสงได้
ศาตราจารย์อองตวน ไซลิงเงอร์ ประจำมหาวิทยาลัยเวียนนา ออสเตรีย ที่เป็น 1 ใน 3 ผู้ชนะร่วมได้เปิดเผยความรู้สึกกับนักข่าวหลังทราบว่าชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปีนี้ว่า
“ผมรู้สึกค่อนข้างช็อกแต่เป็นการช็อกในด้านดี ผมรู้สึกแปลกใจมากจริงๆ”
ด้านประธานสถาบันฟิสิกส์สหรัฐฯ ไมเคิล โลโลนี (Michael Moloney) แสดงความเห็นกับ CNN ว่า การศึกษาของผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีนี้เป็นการยืนยันได้ว่าสาขากลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) นั้นมีประโยชน์ในโลกความเป็นจริง
เขาชี้ว่า ความสำเร็จการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของนักฟิสิกส์ชื่อดังทั้งสามนี้ “จะสามารถเปลี่ยนโลกของเราในแง่ความเป็นจริงเป็นต้นว่า พวกเราสามารถทำในด้านคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม (Quantum Computer) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยเราตั้งแต่วัคซีนไปจนถึงความก้าวหน้าไฮเทค และการพยากรณ์ทางอากาศ”