เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - รัฐบาลอังกฤษถึงทางตัน นายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ วันนี้ (3 ต.ค.) ประกาศยอมถอยไม่เดินหน้าใช้มาตรการลดภาษีคนรวยสำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี หลังสุดสัปดาห์ประชาชนอังกฤษทนไม่ไหวรวมตัวเปิดฉากการประท้วงต่อต้านวิกฤตค่าครองชีพตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ฮือฮาคำร้องล่ารายชื่อได้เกือบ 400,000 คน ร่วมกดดันทรัสส์ให้ประกาศจัดเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่
ยูพีไอรายงานวันนี้ (3 ต.ค.) ว่า ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ รัฐบาลอังกฤษวันจันทร์ (3) ประกาศยอมถอยจะไม่เดินหน้าตามแผนการลดภาษีอัตรา 45% สำหรับกลุ่มคนรวยที่สุดในอังกฤษที่มีรายได้มากกว่า 150,000 ปอนด์ หรือราว 168,000 ดอลลาร์ต่อปี
อ้างอิงจากสื่อโพลิติกส์ของอังกฤษที่รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.พบว่า นายกฯ อังกฤษ ลิซ ทรัสส์ มีรายได้ประจำปีในฐานะนายกรัฐมนตรีตกอยู่ที่ 164,080 ปอนด์ต่อปี
ยูพีไอชี้ว่า คำประกาศยกเลิกอ้างว่ามันเป็นการออกห่างจากภารกิจของเราในการทำให้อังกฤษเดินหน้าต่อไป
“เป้าหมายของเราเวลานี้คือสร้างความเติบโตสูงทางเศรษฐกิจที่เป็นผู้ให้เงินแก่ระบบการบริการสาธารณะระดับเวิลด์คลาส เพิ่มค่าแรงและสร้างโอกาสทั่วประเทศ” รายงานจากแถลงการณ์
ซึ่งนอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภายในประเทศเองแล้ว พบว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังได้ออกมาเตือนทรัสส์ว่าแผนของเธออาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้น
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษกล่าวว่า รัฐมนตรีคลังอังกฤษคนใหม่ ควาซี กวาร์เต็ง (Kwasi Kwarteng) ในวันจันทร์ (3) ออกมายืนยันผ่านทางทวิตเตอร์ว่า
“เราเข้าใจแล้วและเราได้รับฟัง”
และชี้ว่า การตัดสินใจในการลดภาษีสำหรับกลุ่มรายได้ 150,000 ปอนด์ หรือสูงกว่านั้นได้กลายเป็นการออกห่างจากเป้าหมายสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาความท้าทายที่ประเทศของเรากำลังเผชิญ
ในทวิตเตอร์ กวาร์เต็งยืนยันว่า “ผลจากมันผมขอประกาศว่าเราจะไม่เดินหน้ายกเลิกภาษีอัตรา 45%”
กวาร์เต็งถูกตั้งคำถามจากบีบีซีถึงแพกเกจงบประมาณประจำปีที่รวมไปถึง 45 พันล้านปอนด์ในการลดหย่อนภาษีที่ไม่มีการอุดหนุนนั้นเป็นความผิดพลาด แต่เขาได้กล่าวปกป้องอย่างหนักแน่นว่า “ผมไม่รับรู้โดยสิ้นเชิง พวกเรากำลังทำอย่างรวดเร็วมาก”
นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังอังกฤษยืนยันว่า ความปั่นป่วนของตลาดส่วนใหญ่มาจากปัจจัยระหว่างประเทศและปฏิเสธที่จะขออภัยซ้ำ
“มีความน่าอับอายและความเสียใจที่ผมรู้สึกยินดีที่จะได้รับ” เขากล่าว
การออกมาประกาศหันหลังกลับครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างในช่วงสุดสัปดาห์ประชาชนอังกฤษจำนวนมากในหลายเมืองทั่วประเทศออกมาประท้วงวิกฤตค่าครองชีพกดดันรัฐบาลทรัสส์
บิสซิเนสมิเรอร์รายงานว่า เมื่อวันเสาร์ (1) การประท้วงวิกฤตค่าครองชีพเกิดขึ้นตั้งแต่ที่กรุงลอนดอน เมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์ เมืองสวอนซี (Swansee) และเมืองลิเวอร์พูล เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษให้ความช่วยเหลือในการขึ้นเงินเดือน ลดราคาน้ำมัน และเก็บภาษีคนรววยหลังจากประชาชนหาเช้ากินค่ำต่างต้องเผชิญกับราคาสินค้าต่างพากันขึ้นราคาอย่างหนัก อ้างอิงจากคำประกาศของผู้จัดการเดินขบวน "Enough is Enough" ที่แถลงบนเว็บไซต์ของตัวเอง
มีราว 10,000 คนรวมตัวประท้วงในกรุงลอนดอน เดอะการ์เดียน รายงานว่า การประท้วงวันเสาร์ (1) นั้นเป็นผลมาจากวิกฤตค่าครองชีพอังกฤษและปัญหาฉุกเฉินทางการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิต
หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประท้วง ดนีเปอร์ ครูซ (Dnieper Cruz) วัย 32 ปี อาชีพครูกล่าวว่า “มันค่อนข้างน่ากลัวในเวลานี้ ทุกอย่างขึ้นอย่างรวดเร็ว” พร้อมกับหันไปมองลูกสาวตัวน้อย ลูมี (Lumi) วัยเกือบ 3 ขวบ พร้อมกับกล่าวว่า “พวกเราแค่ต้องการอนาคตที่ดีกว่าสำหรับรุ่นของพวกเธอ”
ขณะที่คู่ชีวิตวัย 32 ปี อาชีพทนาย ลิซซี แมนเชสเตอร์ (Lizzie Manchester) แสดงความเห็นว่า “มันถึงเวลาแล้วสำหรับครอบครัวที่ต้องออกมาแสดงความเห็น”
ขณะที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ พบว่า มีผู้ประท้วงจำนวนมากต่างรวมตัวอยู่บริเวณขั้นบันไดด้านหน้าบูคาแนนแกลเลอรี (Buchanan Galleries) ต่างตะโกนว่า “ทอรีส์ ทอรีส์ ทอรีส์ ออกไป” และ “แรงงานรวมตัวไม่มีวันพ่ายแพ้”
ทั้งนี้ ดิอินดีเพนเดนท์รายงานวันอาทิตย์ (2) ว่า คำร้องล่ารายชื่อเพื่อขอให้มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าทั่วไปนั้นสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยได้เกือบ 400,000 รายแล้ว
โดยผู้จัดทำก่อนที่รัฐมนตรีคลังอังกฤษจะประกาศแผนงบประมาณฉบับเล็กในวันศุกร์ (30 ก.ย.) ซึ่งส่งผลทำให้ค่าสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงตกลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องออกมาแทรกแซงเพื่อสร้างเสถียรภาพ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศถึงกับนขึ้ออกคำเตือน
ดาร์ริน ชาร์ลส์เวิร์ธ (Darrin Charlesworth) ออแกไนเซอร์ผู้จัดคำร้องเลือกตั้งล่วงหน้าอังกฤษกล่าวว่า “ความโกลาหลที่กำลังเกิดขึ้นต่อรัฐบาลอังกฤษเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”