ประธานาธิบดีมาริโอ แอบโด เบนิเตซ แห่งปารากวัย พูดตรงๆ ไม่มีอ้อมค้อม บอกไต้หวัน "เอาเงินมา" หรือไม่ก็เสี่ยงที่ประเทศของเขาจะหันไปให้การรับรองทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ ตามรายงานของสำนักข่าวเซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ (2 ต.ค.)
"ไต้หวันลงทุนในประเทศต่างๆ ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราต้องการจากในนั้น จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ มาให้ปารากวัย" เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส "มันจะช่วยเราเพิ่มข้ออ้างเกี่ยวกับความสำคัญของการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับไต้หวัน"
แอบโด เผยว่า เขาต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลให้เอนเอียงบ่ายหน้าเข้าหาจีน "ลองคิดดู ตอนที่พวกผู้ผลิต (ด้านการเกษตร) บอกว่าราคาเนื้อตกต่ำ และพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงจีน พวกเขาถามคุณว่า กรุณาเถิด เราจำเป็นต้องเปิดรับเข้าสู่ตลาดจีน แล้วไต้หวันมอบอะไรแก่เรา ในขณะที่เราเป็นประเทศที่สามารถขายถั่วเหลืองและเนื้อทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่จีน?"
ปารากวัยเป็นหนึ่งใน 14 รัฐที่ยังคงให้การรับรองเกาะไต้หวัน ไม่ใช่จีนแผ่นดินใหญ่ แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมู่เกาะโซโลมอน ปามานา เอลซัลวาดอร์ สาธารณรัฐโดมินิกันและนิการากัว ต่างปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ หันไปเลือกข้างจีนแล้วก็ตาม
การวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศฉบับหนึ่งที่ทำการศึกษาเมื่อปีที่แล้ว ประมาณการว่า ปารากวัย สูญเสียเงินช่วยเหลือและการลงทุนจากจีน คิดเป็นมูลค่าราวๆ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในทุกๆ ปี ระหว่างปี 2005 ถึง 2014 ผลจากการรับรองไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศปารากวัย ออกมาชี้แจงในภายหลัง อ้างว่าคำพูดของ แอบโด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีสิ่งตอบแทนใดๆ แลกเปลี่ยนกับไต้หวัน
แอบโด เปิดเผยระหว่างให้สัมภาษณ์ว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขของเขาเคยพบปะกับกงสุลจีนในบราซิล เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในช่วงเวลาที่โรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดอย่างหนัก ซึ่งกงสุลจีนบอกกับเขาว่า "คุณเป็นคนจีนหรือเปล่า ซึ่งคุณไม่ได้เป็น เป็นพันธมิตรของจีนหรือไม่ ซึ่งคุณไม่ได้เป็น หรือเป็นประเทศยากจนหรือไม่ ซึ่งคุณก็ไม่ได้เป็นเช่นกัน" ทั้งนี้ ดูเหมือนว่า กัวเตมาลาและฮอนดูรัส อีก 2 พันธมิตรของไต้หวันได้รับข้อความแบบเดียวกัน
จีนพยายามเจาะเข้าไปทั่วทั้งอเมริกาใต้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีรายงานว่า ไต้หวันและวอชิงตัน ซึ่งพยายามกดดันประเทศอื่นๆ ที่เหลืออยู่ในละตินอเมริกาและแคริบเบียนไม่ให้เปลี่ยนฝั่ง ต่างรู้สึกกังวลกับคำพูดของ แอบโด ดังนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศปารากวัยจึงได้ออกถ้อยแถลงชี้แจงตามมา
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)