นานาชาติรุมวิจารณ์อิหร่าน กรณีหญิงสาวคนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างถูก “ตำรวจศาสนา” ควบคุมตัวเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจุดชนวนการประท้วงทั่วประเทศจนถึงขณะนี้ พวกองค์กรสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ผู้ประท้วงถูกปราบปรามเสียชีวิตอย่างน้อย 76 คน ขณะที่เตหะรานกล่าวหาวอชิงตันใช้สถานการณ์ความไม่สงบบ่อนทำลายเสถียรภาพอิหร่าน
อิหร่านเดินหน้าปราบปรามการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับจากปี 2019 ครั้งนี้ ซึ่งมีชนวนเหตุจากการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวเคิร์ดวัย 22 ปี เมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา หลังจากถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวภายใต้ข้อหาแต่งตัวไม่เหมาะสม ซึ่งตามกฎที่เข้มงวดของอิหร่านนั้น ผู้หญิงจะต้องคลุมฮิญาบปิดบังใบหน้าและไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปในที่สาธารณะ
การเสียชีวิตของอามินีทำให้อิหร่านถูกประณามอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ ชาวอิหร่านจำนวนมากออกมาประท้วงเรียกร้องให้โค่นล้มอยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดที่ครองอำนาจมากว่า 3 ทศวรรษ ตลอดจนผู้นำทางศาสนาคนอื่นๆ
นักศึกษาคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยทาบริซ ไม่รวมแผนกฉุกเฉิน เข้าร่วมการสไตรก์เมื่อวันจันทร์ (26) และไม่ยอมกลับเข้าเรียน เพื่อประท้วงการจับกุมนักศึกษาและการส่งกองกำลังความมั่นคงเข้าไปในมหาวิทยาลัย
นอกจากนั้น สหภาพครูยังออกคำแถลงทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันอาทิตย์ (25) เรียกร้องให้ครูและนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศหยุดการเรียนการสอนในวันจันทร์และพุธ (26 และ 28) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับจากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ปะทุขึ้น
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดนับจากการประท้วงต่อต้านน้ำมันแพงเมื่อปี 2019 ซึ่งรอยเตอร์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของทางการถึง 1,500 คน
สำหรับครั้งนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนอิหร่าน (ไอเอชอาร์) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 76 คนแล้ว ขณะที่ทางการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิต 41 คน ซึ่งรวมถึงสมาชิกกองกำลังความมั่นคงหลายนาย ขณะที่มีผู้ถูกจับกุมกว่า 1,200 คน
ทางด้านแคนาดา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดว์ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า แคนาดาจะออกมาตรการแซงก์ชันผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบการเสียชีวิตของอามินี ซึ่งรวมถึงพวกตำรวจศาสนาและผู้นำหน่วย
ฝรั่งเศสก็แถลงประณามการใช้ความรุนแรงของกองกำลังความมั่นคงอิหร่านด้วยถ้อยคำรุนแรงที่สุด
เยอรมนีเรียกเอกอัครราชทูตอิหร่านเข้าพบเพื่อเรียกร้องให้เตหะรานยุติการปราบปรามและอนุญาตให้มีการประท้วงอย่างสันติ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเมืองเบียร์ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเพิ่มมาตรการแซงก์ชันเตหะรานว่า รัฐบาลจะพิจารณาตัวเลือกทั้งหมดกับสมาชิกชาติอื่นๆ ของสหภาพยุโรป (อียู)
สัปดาห์ที่แล้ว อเมริกาออกมาตรการแซงก์ชันตำรวจศีลธรรมอิหร่านจากข้อกล่าวหาทำร้ายผู้หญิง พร้อมระบุว่า หน่วยงานนี้ต้องรับผิดชอบต่อการตายของอามินี
ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งโพสต์วิดีโอภาพการประท้วงบนท้องถนนเมื่อคืนวันจันทร์ในสถานที่ต่างๆ ของกรุงเตหะราน โดยมีบางช่วงได้ยินเสียงประชาชนตะโกนออกมาจากบ้านว่า “ไปตายซะ คอเมเนอี”
ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการประท้วงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชน เฮนกอว์ โพสต์วิดีโอภาพผู้ประท้วงในซานันดาจ เมืองเอกของจังหวัดเคอร์ดิสถาน ที่เผยให้เห็นผู้หญิงกลุ่มหนึ่งถอดญิฮาบประท้วง ขณะที่อีกคลิปหนึ่งที่โพสต์หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังและดูเหมือนมีการใช้แก๊สน้ำตา
วิดีโออีกชุดบนโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นกองกำลังความมั่นคงยิงใส่ประชาชนเมื่อคืนวันจันทร์ในเมืองซาร์ดัชต์ ที่มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่จำนวนมาก
องค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ฮาดิส นาจาฟี ผู้ประท้วงวัย 22 ปี เสียชีวิตหลังถูกกองกำลังความมั่นคงจ่อยิงระยะเผาขน โดยกระสุนลูกปรายเจาะเข้าที่ใบหน้า คอ และอก
ทว่า ประธานาธิบดีอิบรอฮิม แรอีซี ยืนยันว่า อิหร่านรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และตนได้สั่งการให้มีการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของอามินีแล้ว
ทางด้านนัสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน แถลงว่า อเมริกาพยายามบ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของอิหร่านมาโดยตลอด แม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
คานานียังกล่าวหาผ่านอินสตาแกรมว่า ผู้นำสหรัฐฯ และบางชาติในยุโรปใช้โศกนาฏกรรมบังหน้าเพื่อสนับสนุนผู้ก่อจลาจล แต่กลับเพิกเฉยต่อคนนับล้านที่ชุมนุมกันบนถนนและตามจัตุรัสต่างๆ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลอิหร่าน
นอกจากนั้นเมื่อวันอาทิตย์ อิหร่านยังเรียกเอกอัครราชทูตอังกฤษและนอร์เวย์เข้าพบเพื่อแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการแทรกแซงและการนำเสนอข่าวเชิงลบเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิหร่าน
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)