รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดรัฐพิธีศพให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ในวันนี้ (27 ก.ย.) โดยมีการระดมกำลังตำรวจราว 20,000 นาย รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดในกรุงโตเกียวเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านรัฐพิธีศพ ขณะที่ชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนมากยืนต่อคิวเพื่อนำช่อดอกไม้ไปวางไว้อาลัยให้แก่อดีตผู้นำที่บริเวณสวนสาธารณะคุดันซากะ (Kudanzaka Park) ใกล้กับสนามกีฬา นิปปอน บูโดกัง ซึ่งเป็นสถานที่จัดรัฐพิธีศพของอาเบะ
รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส แห่งสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย นายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส แห่งออสเตรเลีย และผู้นำต่างชาติอีกหลายคนเป็นหนึ่งในบรรดาแขกผู้มีเกียรติราว 4,300 คนที่เดินทางมาร่วมพิธี ในขณะที่ ส.ส.จากพรรคฝ่านค้านหลักของญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมด้วย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าพิธีในวันนี้ทำให้หวนนึกถึงรัฐบาลในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มักใช้รัฐพิธีศพเป็นเครื่องมือจุดกระแสชาตินิยม
นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ยืนยันว่า อาเบะ ซึ่งเป็นอดีตนายกฯ ที่รั้งเก้าอี้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น “คู่ควร” ที่จะได้รับเกียรตินี้ และรัฐบาลไม่ได้มีเจตนา “บังคับ” ให้ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันเชิดชู อาเบะ
กระนั้นก็ตาม ฝ่ายบริหารประจำจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่นจะมีการลดธงครึ่งเสา และยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยให้อดีตนายกฯ ในช่วงที่จัดพิธีด้วย
เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะยืนเรียงแถวบนถนนรอบๆ สนามกีฬานิปปอนบูโดกัง และ 20 นายจะทำหน้าที่เป็น “กองอารักขาเกียรติยศ” ระหว่างที่ครอบครัวของ อาเบะ เดินทางออกจากบ้านพัก จากนั้นจะมีการยิงสลุต 19 นัดเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึง
พิธีการเริ่มขึ้นเมื่อนาง อากิเอะ อาเบะ ภรรยาม่ายของอดีตนายกฯ เดินเข้าสู่พิธีพร้อมกับโถบรรจุอัฐิที่บรรจุอยู่ในกล่องไม้ จากนั้นผู้แทนรัฐบาล รัฐสภา และฝ่ายตุลาการ ซึ่งรวมถึงตัวนายกฯ คิชิดะ จะขึ้นกล่าวคำอาลัย ตามมาด้วยนาง อาเบะ
ทั้งนี้ ศพของ อาเบะ ได้รับการฌาปนกิจที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวไปแล้ว เพียงไม่กี่วันหลังจากที่เขาถูกคนร้ายลอบสังหารเมื่อวันที่ 8 ก.ค.
สัปดาห์นี้ คิชิดะ ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับผู้นำต่างชาติหลายคนโดยเรียกมันว่าเป็น “การทูตผ่านรัฐพิธีศพ” (funeral diplomacy) และหวังจะใช้โอกาสนี้กระชับความร่วมมือกับนานาชาติในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นเองกำลังเผชิญปัญหาท้าทายหลายด้าน ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามจากจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ
คิชิดะ มีกำหนดหารือร่วมกับผู้นำต่างชาติราว 40 คนไปจนถึงวันพุธนี้ (28) ทว่าไม่มีผู้นำจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7
นายกฯ ญี่ปุ่นถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่ดึงดันจะจัดรัฐพิธีศพให้ได้ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งรัฐบาลยังเผชิญข้อครหาเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) หรือลัทธิมุนนีส์ จากเกาหลีใต้ ซึ่งถูกมองว่ามีพฤติกรรม “ล้างสมอง” เหล่าสาวกเพื่อเรียกเก็บเงินบริจาคจำนวนมหาศาล
มือปืนที่ยิงสังหาร อาเบะ รับสารภาพกับตำรวจว่า เขารู้สึกโกรธแค้นที่ที่มารดานำเงินไปบริจาคให้โบสถ์แห่งความสามัคคีจนตัวเองและคนในครอบครัวต้องเดือดร้อนแสนสาหัส และเชื่อว่า อาเบะ มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมของโบสถ์แห่งนี้
“ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) กับโบสถ์แห่งความสามัคคี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดจนอาจแทรกแซงนโยบายของรัฐได้ คือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นมองว่าอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่าการลอบสังหาร อาเบะ เสียอีก” จิโระ ยามากูชิ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโฮเซ (Hosei University) เขียนไว้ในบทความที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้
อดีตนายกรัฐมนตรี โนบุสุเกะ คิชิ ซึ่งเป็นคุณตาของอาเบะ มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือให้โบสถ์แห่งความสามัคคีเข้ามาขยายสาขาในญี่ปุ่น และถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในกรณีอื้อฉาวนี้ ดังนั้น ฝ่ายที่ต่อต้านจึงมองว่าการจัดรัฐพิธีศพให้ อาเบะ เท่ากับเป็นการ “รับรอง” ความสัมพันธ์ระหว่างพรรครัฐบาลญี่ปุ่นกับโบสถ์นั่นเอง
ที่มา : AP