xs
xsm
sm
md
lg

‘โบอิ้ง’ อ่วม! ยอมถูกปรับอีก $200 ล้าน จบคดี ‘ให้ข้อมูลบิดเบือน’ เรื่องความปลอดภัย 737 MAX

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท โบอิ้ง (Boeing) ค่ายอากาศยานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีแพ่งที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (U.S. Securities and Exchange Commission : SEC) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องฐานทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ซึ่งเคยประสบอุบัติเหตุตก 2 ครั้งซ้อน จนถูกระงับใช้งานทั่วโลกนาน 20 เดือน

SEC แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทางโบอิ้ง “ทราบดี” ว่าอุบัติเหตุครั้งแรกเกิดจากระบบควบคุมการบินมีปัญหา ทว่ายังออกมาพูดให้สาธารณชนเชื่อมั่นว่าเครื่องบินลำดังกล่าว “ปลอดภัยพอๆ กับเครื่องบินทุกรุ่นที่ใช้งานกันอยู่”

เดนนิส มุยเลนเบิร์ก อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารโบอิ้ง ยินยอมที่จะจ่ายค่าปรับ 1 ล้านดอลลาร์เพื่อจบข้อครหานี้เช่นกัน

แกรี เกนสเลอร์ (Gary Gensler) ประธาน SEC ระบุว่า “ในช่วงเวลาวิกฤตที่เกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้า เป็นสิ่งสำคัญมากที่บริษัทและผู้บริหารจะต้องออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจนและโปร่งใสต่อนักลงทุน” ทว่า โบอิ้ง และมุยเลนเบิร์ก “กลับใช้คำพูดที่ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตกของเครื่องบินโบอิ้ง 2 ลำในปี 2018 และ 2019”

การชำระค่าปรับครั้งนี้ถือเป็นความเสียหายล่าสุดที่ โบอิ้ง ได้รับจากกรณีเครื่องบินไลอ้อนแอร์อินโดนีเซียประสบอุบัติเหตุตกทะเลเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2018 และตามมาด้วยโศกนาฏกรรมสายการบิน เอธิโอเปียน แอร์ไลน์ เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2019 ซึ่งคร่าชีวิตลูกเรือและผู้โดยสารไปทั้งสิ้น 346 คน

ผลการสอบสวนพบว่าทั้ง 2 กรณีเกิดจากความบกพร่องของระบบควบคุมการบิน MCAS (Maneuvering Characteristics Augmentation System) ในเครื่อง 737 MAX

โบอิ้ง ซึ่งไม่ได้ “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” ผลการตรวจสอบของ SEC ยืนยันว่าทางบริษัท “ได้แก้ไขปรับปรุงถึงระดับฐานราก” เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้โบอิ้ง 737 MAX และข้อตกลงยุติคดีครั้งนี้ถือเป็นความพยายามส่วนหนึ่งที่จะจบปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทั้ง 2 ครั้ง

ปีที่แล้ว โบอิ้งได้บรรลุข้อตกลงจ่ายเงินชดเชยให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ของสายการเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สตกเมื่อต้นปี 2019 และยอมแสดงความรับผิดต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) กำหนดให้นักบิน 737 MAX ทุกคนต้องเข้ารับการฝึกใช้ระบบควบคุม MCAS ใหม่ รวมถึงให้โบอิ้งต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยและปรับปรุงซอฟต์แวร์เพิ่มเติม ก่อนจะไฟเขียวให้เครื่องบินรุ่นนี้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

สำหรับโบอิ้ง 737 MAX เป็นเครื่องบินพิสัยกลางรุ่นใหม่ที่พัฒนาปรับปรุงมาจากรุ่น 737 เดิมที่ขึ้นบินเป็นครั้งแรกในปี 1967 ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้บั่นทอนชื่อเสียงของโบอิ้งไปไม่น้อย และทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น