xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : โลกอาลัยสิ้น "ควีนเอลิซาเบธที่ 2" อังกฤษผลัดแผ่นดินสู่รัชสมัย "ชาร์ลส์ที่ 3"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ถือเป็นข่าวร้ายที่นำความโศกเศร้าอาลัยมายังผู้คนทั้งโลก และถือเป็นการสิ้นสุดรัชสมัยอันรุ่งเรืองของพระประมุขหญิงที่นำพาอังกฤษและเครือจักรภพฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ มานานถึง 70 ปี ขณะเดียวกัน เป็นการเปิดฉากรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระราชโอรสองค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทมานานถึง 7 ทศวรรษเช่นกัน

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ (เอลิซาเบธ แองเจลา มาร์เกอริต โบวส์-ลีออน) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ปี 1926 ณ บ้านเลขที่ 17 ถนนบรูตัน เมย์แฟร์ กรุงลอนดอน และได้รับการตั้งพระนามว่า “เอลิซาเบธ” ตามพระราชมารดา ทรงมีพระกนิษฐา 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน

เมื่อทรงพระเยาว์ พระประยูรญาติทรงเรียกพระองค์ด้วยพระนามลำลองว่า "ลิลิเบ็ต"

เจ้าหญิงเอลิซาเบธในวัย 21 พรรษา ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเรือโทฟิลลิปส์ เมานต์แบตเทน ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์กรีก-เดนมาร์ก และมีศักดิ์เป็นพระญาติห่างๆ (ต่อมาคือเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ) ในวันที่ 20 พ.ย. ปี 1947 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ และในอีก 5 ปีถัดมาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ ภายหลังการสวรรคตของพระราชบิดา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ปี 1952 ในขณะที่พระองค์และเจ้าชายฟิลลิปอยู่ระหว่างเสด็จฯ เยือนเคนยา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกจัดขึ้นในวันที่ 2 มิ.ย. ปี 1953 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 8,500 คน

สมเด็จพระราชินีนาถ และเจ้าชายฟิลลิป ทรงมีพระราชโอรส-ธิดารวม 4 พระองค์ ได้แก่
- เจ้าฟ้าชายชาร์ลส ทรงพระราชสมภพในปี 1948 และปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น "สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
- เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ประสูติในปี 1950 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสรยศเป็น “ราชกุมารี”
- เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ประสูติเมื่อปี 1960 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ดยุคแห่งยอร์ก" และ
- เจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ประสูติในปี 1964 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น "เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์"

ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นพระประมุขที่คอยค้ำจุนเสถียรภาพของชาติ ขณะที่อังกฤษต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมากมายทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะการสิ้นสุดลงของจักรวรรดิ British Empire

ในเดือน ก.ย. ปี 2015 พระองค์ทรงกลายเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ แซงหน้าสถิติการครองราชย์ 63 ปี กับอีก 7 เดือนของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

รายงานข่าวที่ว่าของสมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระพลานามัยทรุดโทรมลงปรากฏออกมาไม่นานนักหลังเวลาเที่ยงของวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. โดยแพทย์ประจำพระองค์แถลงว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงอยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และเร่งรัดให้พระราชโอรส-ธิดาทั้ง 4 พระองค์ รวมถึงพระราชนัดดาที่เป็นโอรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส ได้แก่ เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี รีบเสด็จไปยังปราสาทบัลมอรัล ซึ่งเป็นพระตำหนักในสกอตแลนด์ เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงพำนักอยู่ที่นั่นมาระยะหนึ่งแล้ว

ด้านนอกพระราชวังบักกิงแฮมมีประชาชนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคน บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบงันเมื่อธงชาติถูกลดลงครึ่งเสา ฝูงชนเริ่มเคลื่อนตัวไปยังประตูพระราชวัง ขณะที่หนังสือประกาศข่าวการเสด็จสวรรคตขององค์พระประมุขที่ชาวสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่รู้จักอยู่เพียงพระองค์เดียวถูกนำมาติดเอาไว้บนบานประตูเหล็กสีดำ

ผลสำรวจโดย YouGov พบว่า คนอังกฤษ 44% “ร้องไห้” เมื่อได้ยินข่าว breaking news ว่าสมเด็จพระราชินีนาถไม่อยู่กับพวกเขาอีกแล้ว

นับตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่แล้ว ควีนเอเลิซาเบธที่ 2 ทรงพระประชวรด้วยอาการที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่าเป็น “ปัญหาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวพระวรกายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ” ทำให้พระองค์ต้องทรงยุติการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทบทั้งหมด ขณะที่ เจ้าชายฟิลลิป พระสวามีของพระองค์ที่ครองคู่กันมาอย่างยาวนาน 73 ปี ก็สิ้นพระชนม์จากไปก่อนแล้วในปี 2021

พระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระราชินีนาถซึ่งปรากฏต่อสาธารณชนคือการที่ทรงแต่งตั้ง ลิซ ทรัสส์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย. หรือก่อนที่จะเสด็จสวรรคตเพียงแค่ 2 วัน


ปฏิบัติการสะพานลอนดอน

ปฏิบัติการสะพานลอนดอน (Operation London Bridge) หรือที่รู้จักกันภายใต้โค้ดลับ "สะพานลอนดอนล่มแล้ว” (London Bridge is down) คือแผนปฏิบัติการที่รัฐบาลอังกฤษได้ตระเตรียมไว้ในกรณีที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต แผนที่ว่านี้ถูกร่างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และมีการปรับปรุงซักซ้อมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจุดประสงค์ก็เพื่อไม่ให้ข่าวการสวรรคตรั่วไหลออกไปก่อนที่สำนักพระราชวังจะออกแถลงการณ์ และนอกจากปฏิบัติการสะพานลอนดอนซึ่งเป็น “แผนหลัก” แล้วยังมีแผนปฏิบัติการย่อยอื่นๆ ที่จะถูกนำมาใช้ควบคู่กัน

ทันทีที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต ปฏิบัติการสะพานลอนดอนก็จะเริ่มต้นขึ้นทันที โดยราชเลขาธิการจะทำหน้าที่โทรศัพท์ไปแจ้งข่าวสำคัญต่อบรรดาผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลตามลำดับ หรือที่เรียกว่า “Call Cascade” ได้แก่ นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง สื่อมวลชน โดยใช้รหัสลับว่า “London Bridge is Down.” หรือแปลว่า “สะพานลอนดอนล่มแล้ว” และยังมีการแจ้งไปยังอีก 14 ประเทศที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงดำรงตำแหน่งประมุขรัฐ

เมื่อหน่วยงานรัฐบาลได้รับทราบโดยทั่วกัน ธงชาติอังกฤษที่ประดับทั่วรัฐสภาถูกลดครึ่งเสาภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที ขณะที่บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงของอังกฤษ หรือ “บีบีซี” ได้รับการแจ้งเตือนผ่านสัญญาณไฟสีน้ำเงินที่รียกว่า ‘ไฟมรณกรรม’ (Obit Light) จากนั้นทางสถานีได้งดรายการความบันเทิงทั้งหมด มีการเปิดเพลง “God Save The Queen” และนำสารคดีและแฟ้มภาพที่จัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้ามาออกอากาศ

ในวันเดียวกัน มีพิธีถวายความอาลัยขึ้นในมหาวิหารเซนต์ปอล โดยมีนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ และรัฐมนตรีอาวุโสจำนวนหนึ่งเข้าร่วม จากนั้นนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งทรงกลายเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ และมีการถ่ายทอดสดแถลงการณ์ของพระองค์ไปทั่วประเทศ

โดยปกติแล้วขั้นตอนต่างๆ จะถูกกำหนดขึ้นโดยถือเอาวันที่สวรรคตเป็น D-Day ทว่าข่าวการสวรรคตของควีนออกมาในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. ปฏิบัติการต่างๆ จึงต้องถูกเลื่อนมาเป็นวันถัดไปก็คือศุกร์ที่ 9 ก.ย. และนับต่อเนื่องไป 10 วัน จนกระทั่งสิ้นสุดพระราชพิธีพระบรมศพในวันที่ 19 ก.ย.

- 9 ก.ย.

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังกรุงลอนดอน และทรงมีพระราชดำรัสแรกต่อประชาชนชาวอังกฤษหลังเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

- 10 ก.ย.

เริ่มต้นแผนปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide) หรือแผนปฏิบัติการสำหรับการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยรัฐสภาจัดให้มีการประชุม ‘สภาสืบราชย์’ (Accession Council) ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ ประธานองคมนตรีอ่านประกาศการสวรรคตของกษัตริย์พระองค์ก่อน และประกาศว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในฐานะรัชทายาทลำดับแรกของการสืบราชสันตติวงศ์ ได้ขึ้นเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร จากนั้นมีการชักธงขึ้นสู่ยอดเสา 24 ชั่วโมง ก่อนกลับมาลดธงลงครึ่งเสาอีกครั้งเพื่อถวายความอาลัย

- 11 ก.ย.

หีบพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถถูกอัญเชิญจากปราสาทบัลมอรัลไปยังพระราชวังโฮลีรูดเฮาส์ (Holyroodhouse) ในเมืองเอดินบะระ ระหว่างทางมีการเคลื่อนพระบรมศพผ่านหมู่บ้านเล็กๆ หลายแห่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสได้ถวายความเคารพ ทั้งนี้ ขั้นตอนการตระเตรียมพระราชพิธีศพในสกอตแลนด์ถูกตั้งชื่อเป็นรหัสลับว่า “ปฏิบัติการยูนิคอร์น” (Operation Unicorn) ซึ่งถือเป็นสัตว์ประจำชาติของสกอตแลนด์

- 12 ก.ย.

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เริ่มเสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็น 4 ชาติที่รวมกันเป็นสหราชอาณาจักร ขณะที่หีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถถูกอัญเชิญจากพระราชวังโฮลีรูดเฮาส์ ไปยังอาสนวิหารนักบุญไจล์ส (St.Giles’ Cathedral)

- 13 ก.ย.

หีบพระบรมศพถูกอัญเชิญขึ้นเครื่องบินลำเลียงมายังกรุงลอนดอน และมีการเคลื่อนพระบรมศพไปยังพระราชวังบักกิงแฮม

- 14 ก.ย.

ขบวนพระบรมศพถูกเคลื่อนจากพระราชวังบักกิงแฮมมายังเวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ (Westminster Hall) ซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาคารรัฐสภา ภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการขนนก” (Operation Feather)

- 15-17 ก.ย.

พระบรมศพถูกประดิษฐานบนแท่นยกสูงที่เรียกว่า catafalque และมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถวายสักการะ

- 18 ก.ย.

รัฐบาลอังกฤษจัดงานเลี้ยงตอนรับแขกผู้มีเกียรติและผู้นำต่างชาติที่เดินทางมาเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพ

- 19 ก.ย.

มีการเคลื่อนพระบรมศพมายังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ใจกลางกรุงลอนดอน โดยใช้รถปืนใหญ่เกียรติยศ (State Gun Carriage) ของราชนาวีอังกฤษ และคาดว่าจะมีสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงทรงพระดำเนินตามหลังหีบพระบรมศพในขบวนด้วย

หลังจากเสร็จพระราชพิธีภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ หีบพระบรมศพจะถูกเคลื่อนต่อไปยังพระราชวังวินด์เซอร์เพื่อประกอบพิธีขั้นสุดท้ายภายในโบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ จากนั้นหีบพระบรมศพจะถูกหย่อนลงสู่ที่เก็บพระศพภายในอนุสรณ์สถานพระเจ้าจอร์จที่ 6 (King George VI memorial chapel) เคียงข้างหีบพระศพของเจ้าชายฟิลลิป พระราชสวามี พระอัฐิของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ (ควีนมัม) และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสแรกถึงประชาชนชาวอังกฤษเมื่อวันที่ 9 ก.ย. หลังเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นประมุขพระองค์ใหม่
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงครองราชย์

ท่ามกลางความโศกเศร้าต่อการสูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ราชบัลลังก์อังกฤษได้รับการสืบทอดต่อไปยังประมุขพระองค์ใหม่โดยทันที นั่นคือ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือการสวมมงกุฎซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดยังไม่มีประกาศชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และคาดว่าจะต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร โดยในคราวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้นทรงสืบราชบัลลังก์ในเดือน ก.พ. ปี 1952 แต่กว่าจะทรงสวมมงกุฎพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการก็อีกปีกว่าๆ คือในเดือน มิ.ย. ปี 1953

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชราชดำรัสแรกต่อพสกนิกรชาวอังกฤษเมื่อค่ำวันที่ 9 ก.ย. โดยทรงให้คำมั่นว่าจะทรงสืบสานตามรอยพระราชมารดาในการทรงงานรับใช้ประชาชน “ตลอดพระชนม์ชีพ” พร้อมทั้งทรงขอบพระทัย “แม่ที่รัก” สำหรับความรักและการอุทิศพระองค์เพื่อราชวงศ์และประเทศชาติมาโดยตลอด

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับ คามิลลา พระราชชายา ซึ่งเวลานี้ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) โดยทรงยกย่องพระนางที่ได้ปฏิบัติภารกิจรับใช้ประชาชนด้วยความสัตย์ซื่อตลอด 17 ปีแห่งการอภิเษกสมรส และทรงเชื่อมั่นว่าพระนาง “จะปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทใหม่ด้วยความทุ่มเทอุทิศตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องพึ่งพาอย่างมาก”

พระองค์ยังทรงสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมขึ้นเป็น “เจ้าชายแห่งเวลส์” และ “ดยุกแห่งคอร์นวอลล์” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์โดยธรรมเนียมสำหรับองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 และทรงมอบหมายให้พระราชโอรสองค์ใหญ่สืบทอดความรับผิดชอบต่อ “ดัชชีแห่งคอร์นวอลล์” (Duchy of Cornwall) ซึ่งเป็นอาณาจักรพระราชทรัพย์มูลค่ากว่า 1,100 ล้านปอนด์ที่ทรงครอบครองมาหลายสิบปี ขณะที่ดัชเชสแคทเธอรีน พระชายาในเจ้าชายวิลเลียม ได้ขึ้นเป็น “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” อันเป็นตำแหน่งเดิมของเจ้าหญิงไดอาน่า

พระองค์ยังตรัสแสดง “ความรัก” ต่อเจ้าชายแฮร์รี พระราชโอรสพระองค์เล็ก และ “เมแกน มาร์เคิล” พระสุณิสา ซึ่งได้สละบทบาทความเป็นสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนนำมาซึ่งความบาดหมางร้าวลึกภายในครอบครัวของพระองค์ และจุดชนวนวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่สำหรับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

มรสุมแห่งรัชสมัย

สื่ออังกฤษคาดการณ์ว่า จุดเริ่มต้นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อาจไม่ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ และมีหลายเรื่องราวที่ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่จะต้องทรงเตรียมตัวรับมือนับจากวันนี้

- บันทึกความทรงจำของเจ้าชายแฮร์รี

คาดกันว่าเจ้าชายแฮร์รีจะทรงตีพิมพ์บันทึกความทรงจำส่วนพระองค์ในช่วงปลายปีนี้ และทางสำนักพิมพ์ เพนกวิน แรนดอม เฮาส์ ที่ว่ากันว่ายอมจ่ายเงินสูงถึง 20 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ได้สิทธิในการตีพิมพ์ ก็ออกมาโฆษณาล่วงหน้าว่า มันจะเป็นหนังสือที่บอกเล่า "ประสบการณ์ การผจญภัย การสูญเสีย และบทเรียนชีวิต" ของเจ้าชายแบบถึงลูกถึงคน

บันทึกความทรงจำเล่มนี้จะครอบคลุมถึงชีวิตในปัจจุบันของเจ้าชายแฮร์รีด้วย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการ "แฉ" ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ทรงอ้างว่าทางวังเลือกปฏิบัติต่อดัชเชสเมแกน ซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งคู่ตัดสินใจสละฐานันดรเจ้าออกไปใช้ชีวิตใหม่แบบ "เซเลบ" ในอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ ยังอาจจะมีการพูดถึงท่าทีของวังตอนที่ "เจ้าหญิงไดอาน่า" สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งตอนนั้นเจ้าชายแฮร์รี พระชนมายุเพียงแค่ 12 ชันษา รวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดา กับคามิลลา ด้วย

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อาจต้องตัดสินพระทัยว่าจะทรงขอ "ตรวจ" ต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ หรือจะทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ "ทนายความ" ในการดูแลปกป้องความลับภายในราชวงศ์

นอกจากปัญหากับสมาชิกราชวงศ์แล้ว เจ้าชายแฮร์รียังทรงมีข้อพิพาทอยู่กับกระทรวงมหาดไทยอังกฤษเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยขณะที่พระองค์และครอบครัวประทับอยู่ในสหราชอาณาจักร โดนทรงยื่นฟ้องต่อศาลสูงว่าไม่ได้รับการอารักขาที่ดีพอ และทรงรู้สึก "ไม่ปลอดภัย" ทั้งที่ได้ยื่นข้อเสนอแล้วว่าพร้อมจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง

- กระแสข่าว “รับเงินบริจาคแลกอวยยศ”

ตำรวจอังกฤษอยู่ระหว่างสอบสวนมูลนิธิของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (The Prince of Wales' Charitable Fund : PWCF) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 องค์กรการกุศลที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ หลังมีข้อครหาว่ามูลนิธิรับเงินบริจาคจากเหล่ามหาเศรษฐีเพื่อแลกกับการพระราชทานบรรดาศักดิ์ (honours) ให้

หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์สของอังกฤษเคยออกมาแฉว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงรับเงินจาก บักร์ บินลาดิน (Bakr bin Laden) และชาฟีก บินลาดิน (Shafiq bin Laden) พี่น้องต่างมารดาของ อุซามะห์ บินลาดิน อดีตหัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ โดยไม่ทรงฟังคำทัดทานจากบรรดาที่ปรึกษา ขณะที่สื่อ BBC ก็ตีแผ่เรื่องที่ PWCF เคยรับเงินจาก ชัยค์ ฮามาด บิน จัสซิม บิน จาเบอร์ อัษ-ษานี อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งกาตาร์ในช่วงปี 2011-2015 รวมถึงจดหมายที่พระสหายคนสนิทของเจ้าฟ้าชายเคยไปให้สัญญากับมหาเศรษฐีซาอุฯ คนหนึ่งว่าจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน (knighthood) หากบริจาคเงินก้อนโตเข้ามูลนิธิของพระองค์

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสฺที่ 3 ทรงปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องเหล่านี้ ทว่า ไมเคิล เฟาเซตต์ ผู้บริหารมูลนิธิและผู้ช่วยส่วนพระองค์ เผชิญกระแสสังคมกดดันจนต้องยอมลาออกจากหน้าที่แล้ว

หลายฝ่ายชี้ว่าพระองค์ควรที่จะทรง "ปลีกตัว" ออกจากมูลนิธิซึ่งพัวพันผลประโยชน์มากมาย และหันไปทรงทุ่มเทให้พระราชภารกิจในฐานะประมุขรัฐแบบเต็มพระองค์เฉกเช่นพระราชมารดา

- เรื่องวุ่นๆ ของ “เจ้าชายแอนดรูว์”

เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชอนุชา ทรงทำข้อตกลงจ่ายเงินชดเชยกว่า 10 ล้านปอนด์ให้แก่ “เวอร์จิเนีย จุฟเฟร” หญิงซึ่งอ้างว่าถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับพระองค์ตอนยังเป็นผู้เยาว์ ขณะที่วังบักกิงแฮมยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกระแสข่าวที่ว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้ “เงินส่วนพระองค์” ที่มาจากอาณาจักรทรัพย์สินในดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) มาช่วยยุติคดีความให้แก่พระราชโอรสองค์รอง

สิ่งที่สังคมอังกฤษอาจทวงถามกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต่อไปก็คือ สถาบันมีส่วนออกเงินช่วยเหลือเจ้าชายแอนดรูว์ให้รอดคดีอื้อฉาวจริงหรือไม่อย่างไร และจะยังทรงอนุญาตให้พระราชอนุชาองค์นี้ประทับอยู่ที่ Royal Lodge คฤหาสน์มูลค่า 30 ล้านปอนด์ ซึ่งเช่ามาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต่อไปหรือไม่ รวมถึงประเด็นความเหมาะสมที่เจ้าชายแอนดรูว์จะยังทรงมีบรรดาศักดิ์เป็น “ดยุกแห่งยอร์ก” ต่อไป

ปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ พระตำหนักที่ประทับแห่งสุดท้ายของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา
- อนาคตของ ‘เครือจักรภพแห่งประชาชาติ’

การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เกิดขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของราชวงศ์อังกฤษในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนของ 15 ราชอาณาจักรเครือจักรภพ (commonwealth realms) ที่พระองค์ทรงมีสถานะเป็นประมุขรัฐ

เครือจักรภพ เป็นองค์กรระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล ประกอบด้วย 56 ชาติสมาชิกซึ่งส่วนมากเป็นอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิบริเตน มีประชากรรวมกันประมาณ 2,500 ล้านคนทั่วโลก โดยล่าสุด “โตโก” และ “กาบอง” เป็น 2 ชาติล่าสุดที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่ในปีนี้ แม้จะไม่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษมาก่อนก็ตาม

ใน 56 ประเทศนี้มีอยู่ 15 ชาติที่เป็นราชอาณาจักรเครือจักรภพซึ่งสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังทรงเป็นประมุขรัฐ ซึ่งนอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว ก็มีแอนทีกาและบาร์บิวดา, ออสเตรเลีย, บาฮามาส, เบลีซ, แคนาดา, เกรเนดา, จาเมกา, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเชีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู

รัฐอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ได้รับเอกราชหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี 1952 และหลายประเทศตัดสินใจยกเลิกระบอบกษัตริย์ไปแล้ว ทว่ายังคงสมัครใจที่จะอยู่ในเครือจักรภพต่อไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ในการประชุมเมื่อปี 2018 ผู้บริหารเครือจักรภพมีมติรับรองว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงสืบทอดตำแหน่งประมุขแห่งเครือจักรภพหลังสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ อย่างไรก็ดี กระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มที่จะดังขึ้นเรื่อยๆ และมีหลายประเทศที่ยอมรับว่ากำลังพิจารณาเปลี่ยนระบอบเป็น “สาธารณรัฐ”

บาร์เบโดสได้ถอดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากการเป็นประมุข และเปลี่ยนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2021 ขณะที่รัฐบาลเบลีซก็มีทีท่าว่าจะทำตาม

นายกรัฐมนตรี แกสตัน บราวน์ แห่งแอนทีกาและบาร์บิวดา ระบุว่า เขามีแผนจัดทำประชามติ “ภายใน 3 ปีข้างหน้า” เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ และถอดกษัตริย์อังกฤษออกจากการเป็นประมุขรัฐหรือไม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ราล์ฟ กอนซัลเวส แห่งเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ก็เคยยื่นข้อเสนอเมื่อเดือน ก.ค. ว่าจะทำประชามติเรื่องนี้เช่นกัน

ผู้นำจาเมกาเคยกราบทูลเจ้าชายวิลเลียมเมื่อเดือน มี.ค. ว่า ประเทศของเขากำลัง “ก้าวไปสู่การเป็นอิสระ” ขณะที่ผลสำรวจเมื่อเดือน ส.ค. พบว่าชาวจาเมกา 56% “สนับสนุน” ให้ถอดกษัตริย์อังกฤษออกจากการเป็นประมุขรัฐ

บาฮามาส, เกรเนดา, เซนต์คิตส์และเนวิส รวมถึงเซนต์ลูเชีย ต่างก็มีกระแสเรียกร้องความเป็นสาธารณรัฐเช่นกัน

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสฺที่ 3 ตรัสระหว่างการประชุมซัมมิตเครือจักรภพเมื่อเดือน มิ.ย. ว่า พระองค์จะ “ไม่ขัดขวาง” ความปรารถนาของรัฐสมาชิก และเป็นสิทธิของพวกเขาที่จะตัดสินใจว่าต้องการคงสถาบันกษัตริย์ไว้หรือไม่

ประเทศในเครือจักรภพที่คาดว่าจะยังถือกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขต่อไป อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดา, ปาปัวนิวกินี, หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู โดยนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น แห่งนิวซีแลนด์แถลงเมื่อวันจันทร์ (12) ว่า รัฐบาลของเธอไม่มีนโยบายเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐหลังการสวรรคตของควีน แม้จะยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้น “ในช่วงชีวิต” ของเธอก็ตาม

- กระแสต่อต้านราชวงศ์

ฝ่ายที่กระตือรือร้นอยากให้อังกฤษเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐคาดหวังกันมานานว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปสู่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะเป็นโอกาสดีที่สุดที่พวกเขาจะรณรงค์ให้คนอังกฤษส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับการล้มราชวงศ์

อย่างไรก็ตาม ความโศกเศร้าอาลัยที่คนอังกฤษมีต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้กระแสต่อต้านราชวงศ์อังกฤษซบเซาลงไปถนัดใจ โดยแม้แต่กลุ่ม Republic ที่ต้องการเปลี่ยนอังกฤษไปสู่ระบอบสาธารณรัฐก็ยังออกมาแสดง “ความเสียใจ” และประกาศงดรณรงค์ล้มเจ้าชั่วคราว

กลุ่มคนที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์อังกฤษยังคงเป็นประชากรส่วนน้อยมาก โดยผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดย YouGov เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ตอบคำถามแค่ 22% เท่านั้นที่อยากจะได้ประมุขรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เทียบกับ 62% ที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไป

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสฺที่ 3 ทรงตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และไม่ได้รับความนิยมจากคนอังกฤษมากเท่าที่ควรจะเป็น โดยสาเหตุประการสำคัญมาจากเรื่องรักอื้อฉาวระหว่างพระองค์กับ “เจ้าหญิงไดอาน่า” อดีตพระชายาซึ่งเป็นพระมารดาในเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี กับ “คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส” คู่รักที่ทรงคบหามาอย่างยาวนาน

นับเป็นข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อผลสำรวจล่าสุดโดย YouGov ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (13) พบว่า ระดับความนิยมในตัวสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 4 เดือนที่แล้ว โดยมีคนอังกฤษมากถึง 63% ที่เชื่อว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ได้ดี จากเดิมที่มีผู้ตอบเช่นนี้แค่ 32% ในเดือน พ.ค.

สมเด็จพระราชินีคามิลลาเองก็ทรงได้รับความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นเช่นกัน โดยคนอังกฤษ 53% เชื่อว่าพระนางจะทรงปฏิบัติหน้าที่พระราชินีได้ดี และมีเพียง 18% เท่านั้นที่ตอบตรงกันข้าม

โรเบิร์ต เฮเซลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจาก University College London มองว่าโอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้มีน้อยมาก “ตราบใดที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ยังไม่ได้ทรงก้าวพลาด”

“ในยุคสมัยใหม่ กระแสเรียกร้องความเป็นสาธารณรัฐในสหราชอาณาจักรยังถือว่าน้อยอยู่ ผลสำรวจความคิดเห็นในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาก็บ่งบอกเช่นนี้”

ผลสำรวจยังพบว่า ชาวอังกฤษ 9 ใน 10 คนเห็นว่ารัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศชาติ และ 87% เห็นว่าทรงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ “ยิ่งใหญ่ที่สุด” ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

– อาร์ชี เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์ และลิลีเบต เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์ พระโอรส-ธิดาในเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ และพระชายาเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์
‘อาร์ชี-ลิลีเบต’ เป็นเจ้าชาย-เจ้าหญิงแล้ว (ในทางเทคนิค)

การขึ้นครองสิริราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีผลทำให้ฐานันดรศักดิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงมีการปรับเปลี่ยนตามกันไป และหนึ่งในนั้นก็รวมถึง “อาร์ชี เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์” และ “ลิลีเบต เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์” โอรสและธิดาของเจ้าชายแฮร์รีกับ เมแกน มาร์เคิล ที่คาดว่าจะพลอยได้รับอานิสงส์ด้วย

ตามกฎเกณฑ์ที่ตราไว้โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เมื่อปี ค.ศ.1917 ฐานันดรศักดิ์แห่งเจ้าชาย-เจ้าหญิงจะสามารถใช้ได้กับ :

1.พระราชโอรส-พระราชธิดาของกษัตริย์

2.พระโอรส-พระธิดาของพระโอรสแห่งกษัตริย์

3.พระโอรสหัวปีของพระโอรสพระองค์โตของเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ (เช่น เจ้าชายจอร์จ พระโอรสของเจ้าชายวิลเลียม)

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยแก้ไขไว้ตั้งแต่ก่อนเจ้าชายจอร์จจะประสูติ โดยทรงขยายสิทธินี้ให้ครอบคลุมถึงพระโอรสและพระธิดาทุกพระองค์ของเจ้าชายวิลเลียมด้วย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าชายแฮร์รีทรงเป็นโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ดังนั้นทั้งอาร์ชี และลิลีเบต จึงไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 3 แต่บัดนี้เมื่อพระบิดาของเจ้าชายแฮร์รีเสด็จขึ้นเป็นคิงแล้ว อาร์ชี และลิลีเบต จึงมีคุณสมบัติที่จะได้รับฐานันดรเจ้าชาย-เจ้าหญิง ตามกฎข้อที่ 2

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งสองจะได้เป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงอย่างเต็มตัวหรือไม่ยังต้องขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และ ณ เวลานี้ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักพระราชวังอังกฤษยังคงระบุคำนำหน้าทั้งสองว่าเป็น “คุณ” (master/miss) เหมือนเดิม ขณะที่ข้อมูลในส่วนของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคต มีการอัปเดตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวเมื่อช่วงปี 2021 ว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีพระประสงค์ที่จะจำกัดจำนวนสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูง และคาดว่าจะไม่พระราชทานยศ “เจ้าชาย” ให้แก่อาร์ชี หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลลิป พระสวามี และพระราชโอรส-พระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงรับและแต่งตั้ง ลิซ ทรัสส์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ ปราสาทบัลมอรัล สกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นับเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคต

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ปี 1996 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


















กำลังโหลดความคิดเห็น