เอเจนซีส์ - ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำฝรั่งเศสวานนี้ (14 ก.ย.) สนทนาทางโทรศัพท์ครั้งแรกร่วมกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ทั้งสองผู้นำถวายความอาลับพร้อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันแนบแน่น แต่กลับเป็นเผือกร้อนสำหรับมาครง หลังทวีตสดุดีควีน “ต่อพวกท่านพระองค์คือพระราชินีของพวกท่าน ต่อพวกเราพระองค์คือพระราชินี” พร้อมลดธงฝรั่งเศสครึ่งเสาไว้อาลัย โดนนายกเทศมนตรีสายลิเบอรัลในฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างหนักชี้ “ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ”
CBS News สื่อสหรัฐฯ รายงานวานนี้ (14 ก.ย.) ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน วันพุธ (14) ได้ต่อสายโทรศัพท์ร่วมกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดี (8) ที่ผ่านมา ตามการแถลงของทำเนียบขาว
ในการสรุปจากแถลงการณ์ชี้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถวายความอาลัยแด่กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ พร้อมกันนี้ ยังแสดงความปราถนาถึงการยังคงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต่อไปข้างหน้า
“ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รำลึกถึงความเอื้ออารีและการต้อนรับอย่างเป็นมิตร ซึ่งรวมไปถึงเมื่อครั้งพระองค์ทรงเป็นเจ้าภาพรับรองการเยือนของเขาและสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ภายในพระราชวังวินด์เซอร์เมื่อมิถุนายนปีที่ผ่านมา” รายงานจากแถลงการณ์ของทำเนียบขาว
และในแถลงการณ์ยังระบุว่า “เขายังส่งความปราถนาดีจากประชาชนสหรัฐฯ ที่มีต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ซึ่งสง่างามและแน่วแน่ และทำให้มิตรภาพที่มั่นคงนั้นหยั่งลึกและความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรอังกฤษ”
ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานุแอล มาครง ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ว่า เขาได้สนทนาทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรกร่วมพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อคืนวันพุธ (14)
ดิเอ็กซเพรสสื่ออังกฤษรายงานวันนี้ (15) ว่า มาครงกล่าวผ่านแถลงการณ์มีใจความว่า
“ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ร่วมพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ผมได้ถวายความอาลัยแด่พระองค์ในการสวรรคตของพระราชมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2”
พร้อมกันนี้เขายังกล่าวต่อว่า “ผมจะเดินทางร่วมพระราชพิธีที่กรุงลอนดอนวันจันทร์หน้า”
ดิเอ็กซเพรสกล่าวว่า ในแถลงการณ์ของผู้นำฝรั่งเศสมีใจความต่อว่า “สายใยระหว่างฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรจะไม่มีวันตัดขาด” และเขายังย้ำว่า “เราจะยังคงถักทอไปตามทางที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้ปูไว้”
สื่ออังกฤษรายงานว่า เป็นการทวีตที่ออกมาทั้งในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ และก่อนหน้าเขาได้เคยทวีตแสดงความชื่นชมต่อควีนเอลิซาเบธในการที่พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในภาษาฝรั่งเศส ทรงชื่นชมวัฒนธรรมฝรั่งเศส และเข้าถึงหัวใจของชาวฝรั่งเศส
มาครงกล่าวว่า “ต่อพวกท่านพระองค์คือพระราชินีของพวกท่าน ต่อพวกเราพระองค์คือพระราชินี” (To you, she was your Queen. To us, she was the Queen)
แต่การที่ผู้นำฝรั่งเศสออกมาสดุดีควีนเอลิซาเบธกลับสร้างความไม่พอใจให้บรรดานายกเทศมนตรีสายลิเบอรัลในฝรั่งเศสที่ต่างออกมาต่อต้าน
ดิเอ็กซเพรสชี้ว่า มาครงละเมิดธรรมเนียมปฏิบัติทางการด้วยการออกแถลงการณ์ถวายความอาลัยแด่ควีนเอลิซาเบธ สั่งลดธงชาติฝรั่งเศสครึ่งเสา และสรรเสริญพระองค์ว่า “ชาญฉลาดและเข้าพระทัยผู้อื่น”
และพบว่ามีเพียงธงชาติอังกฤษปรากฏอยู่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในขณะที่ผู้แทนระดับสูงของอังกฤษเข้าพบ
ทั้งนี้ มาครงออกคำสั่งลดธงชาติครึ่งเสาในทุกที่ตั้งทำการรัฐ รวมไปถึงพระราชวังปาแลเดอเลลีเซ ตั้งแต่วันศุกร์ (9) ไปจนถึงวันพระราชพิธีฝังพระบรมศพในวันจันทร์ (19) ที่จะถึง
แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้สร้างความไม่พอใจให้บรรดานายกเทศมนตรีสายลิเบอรัลปีกซ้ายฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก รวมไปถึง ยันน์ กาลุต (Yann Galut) ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคโซเชียลลิสต์ ปาร์ตี (Parti socialiste) และดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบูร์ช (Bourges)
เขาแสดงความเห็นอย่างดุเดือดว่า “คำสั่งนี้มันช่างน่าเหลือเชื่อต่อผม ผมเคารพต่อความเศร้าโศกของเพื่อนชาวอังกฤษของพวกเรา แต่ผมจะไม่ยอมลดธงชาติฝรั่งเศสครึ่งเสาเหนือที่ทำการเมืองบูร์ชเด็ดขาด”
และในภายหลังยังแสดงความเห็นกับสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสช่อง 3 ว่า “พวกเราเป็นประเทศสาธารณรัฐ ทำไมผมต้องไว้อาลัยให้ราชวงศ์ต่างชาติด้วย”
นายกเทศมนตรีสายลิเบอรัลคนนี้ยังวิจารณ์คำสั่งมาครงว่า ไม่สมเหตุผลและมากเกินไป โดยเขาแสดงเหตุผลว่า การลดธงชาติครึ่งเสานั้นสมควรสงวนไว้กับเหตุการณ์สำคัญภายในประเทศและต่อประชาชนฝรั่งเศสเท่านั้น
ดิเอ็กซเพรสรายงานว่า ปาตริค โพรซีย์ (Patrick Proisy) นายกเทศมนตรีเมืองฟาชส์-ทูมีส์นิล (Faches-Thumesnil) ซึ่งมีพรมแดนติดเบลเยียมปฏิเสธที่จะลดธงชาติครึ่งเสาเช่นกัน
เขาแสดงเหตุผลว่า “มันจะมีความสมเหตุสมผลได้อย่างไรในการลดธงชาติครึ่งเสาในโรงเรียนของพวกเราในขณะที่ยังคงใช้คำปฏิญาณว่า "อิสรภาพ ความเท่าเทียม ภราดรภาพ" (liberty, equality, fraternity)
และย้ำว่า “ไม่มีคอนเซ็ปต์ความเท่าเทียมต่ำกว่าของกษัตริย์”