xs
xsm
sm
md
lg

‘ควีนเอลิซาเบธ’ เริ่มต้น ‘การเดินทางครั้งสุดท้าย’ สู่พระราชพิธีศพวันจันทร์หน้า พสกนิกรส่งเสด็จด้วยความอาลัยรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระบรมศพของควีนเอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักร เคลื่อนอย่างช้าๆ ออกจากปราสาทบัลมอรัล ที่ประทับช่วงฤดูร้อนของพระองค์ในที่ราบสูงสกอตแลนด์ ไปยังเมืองเอดินบะระ เมื่อวันอาทิตย์ (11 ก.ย.) ในวันแรกของการเสด็จพระราชดำเนินครั้งสุดท้ายของพระองค์ โดยที่สองข้างทางมีประชาชนหลายหมื่นคน ออกมาส่งเสด็จแสดงความอาลัยรัก ขณะที่ก่อนหน้านั้นในวันเสาร์ (10) พระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ โดยมีพระนามกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชนัดดาคือ เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ตลอดจนถึงพระชายาของทั้งสองพระองค์ ได้ใช้เวลาร่วมกันสั้นๆ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินผ่านพสกนิกรที่ไปร่วมถวายความอาลัย และทำให้เกิดกระแสข่าวลือว่า สัมพันธภาพของเจ้าชายทั้งสองพระองค์อาจได้รับการเยียวยา

พระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งถือเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร ในหีบพระบรมศพไม้โอ๊คถูกอัญเชิญจากปราสาทบัลมอรัล ผ่านหมู่บ้านและเมืองต่างๆ ไปยังพระราชวังโฮลีรูดในเมืองเอดินบะระ เมืองเอกของสกอตแลนด์ โดยใช้เวลา 6 ชั่วโมง และจะประดิษฐานที่พระราชวังโฮลีรูด 2 วันเพื่อให้ประชาชนเข้าถวายความอาลัย

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีหมายกำหนดการเสด็จไปยังเอดินเบอระในวันจันทร์ (12) เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ก่อนเคลื่อนพระศพของพระราชินีที่เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลติมอร์เมื่อวันพฤหัสฯ (8) ด้วยพระชนมายุ 96 พรรษา กลับคืนกรุงลอนดอนในวันอังคาร (13) ด้วยเครื่องบินจากสนามบินเอดินบะระ สู่ฐานทัพอากาศอาร์เอเอฟ นอร์ทโฮลท์ ก่อนมุ่งหน้าสู่พระราชวังบัคกิ้งแฮม

หลังจากนั้นในวันพุธ (14) จะมีการเคลื่อนพระบรมศพไปประดิษฐานที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ภายในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ และนับจากวันพฤหัสฯ (15) จะมีพิธีประดิษฐานพระบรมศพนาน 4 วันเพื่อให้ประชาชนเข้าถวายความอาลัยครั้งสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านคนเดินทางไปเคารพพระบรมศพ ก่อนถึงพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่จะจัดขึ้นในวันจันทร์ (19) เวลา 11.00 น. (18.00 น. ตามเวลาไทย) ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมพระราชพิธี ซึ่งหนึ่งในผู้นำที่ประกาศว่าจะไปร่วมแล้ว ได้แก่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา


การเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระชนมายุ 73 พรรษา ได้สืบทอดพระราชบัลลังก์โดยอัตโนมัติโดยมีพระนามพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แต่ทว่าพระราชพิธีประกาศขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการเพิ่งมีขึ้นในวันเสาร์ (10) หลังจากสภาเพื่อการขึ้นครองราชย์กราบบังคมทูลเชิญพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอย่างเป็นทางการ และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรที่มีการถ่ายทอดสดพิธีอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ที่จัดขึ้นที่สีหบัญชรของพระราชวังเซนต์เจมส์ในลอนดอน

พระเจ้าชาร์ลส์ ตรัสต่อสภาเพื่อการขึ้นครองราชย์ว่า พระองค์ตระหนักอย่างลึกซึ้งถึงการสืบทอด ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบหนักอึ้งต่ออำนาจอธิปไตย และจะทรงปฏิบัติตามแบบอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจที่ได้จากพระมารดา

ต่อจากนี้ ยังจะต้องมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงจะถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีนี้จะจัดขึ้นเมื่อใดยังไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในขณะนี้ โดยเมื่อครั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธนั้นพระราชพิธีนี้จัดขึ้นในปี 1953 หรือหลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ 16 เดือน

นอกจากที่ลอนดอนแล้ว ยังมีการประกาศขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ตามที่ต่างๆ ทั่วทั้งสหราชอาณาจักร และในราชอาณาจักรอื่นๆ อีก 14 แห่ง ซึ่งเวลานี้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมีฐานะเป็นองค์พระประมุขด้วย เป็นต้นว่า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา จาไมกา และปาปัวนิวกินี

ขณะเดียวกัน การเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธยังทำให้เจ้าชายวิลเลียม ที่ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ อันเป็นตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และพระอนุชา เจ้าชายแฮร์รี รวมถึงพระชายาของทั้งสองพระองค์ ปรากฏตัวพร้อมกันในช่วงสั้นๆ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินและพูดคุยกับพสกนิกรที่จงรักภักดีที่ด้านนอกพระราชวังวินด์เซอร์ใกล้กรุงลอนดอน

ภาพเจ้าชายทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ด้วยกันซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยนักนับจากปี 2020 แม้ต่างฝ่ายต่างแยกกันคุยและจับมือกับฝูงชนก็ตาม ทำให้เกิดกระแสข่าวลือว่า ทั้งคู่อาจกลับมาปรองดองกันอีกครั้ง

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)










กำลังโหลดความคิดเห็น