xs
xsm
sm
md
lg

ควีนเอลิซาเบธแห่งอังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่พระตำหนักในสกอตแลนด์ สิริพระชนมายุ 96 พรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 องค์พระประมุขที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตแล้ว สิริพระชนมายุ 96 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 70 ปี และ มกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระชนมายุ 73 พรรษา พระราชโอรสองค์โต เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ สำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมประกาศในวันพฤหัสบดี (8ก.ย.)

“สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตอย่างสงบ ที่ปราสาทบาลมอรัล (ในสกอตแลนด์) ตอนบ่ายวันนี้” คำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมระบุ

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินีพระราชชายา จะยังทรงพำนักอยู่ที่บาลมอรัลในคืนนี้ และจะเสด็จนิวัตกรุงลอนดอนในวันพรุ่งนี้” คำแถลงบอก โดยเป็นที่คาดหมายกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่ยังจะทรงมีพระราชดำรัสกับประชาชนทั่วประเทศด้วย

ทั้งนี้ตามพระราชจารีตประเพณีของสหราชอาณาจักร หลังควีนเอลิซาเบธสวรรคต เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ก็ทรงมีฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรสืบต่อโดยอัตโนมัติ รวมทั้งเป็นองค์พระประมุขของอีก 14 ประเทศในเครือจักรภพ ซึ่งรวมถึง ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และแคนาดา ขณะที่ คามิลลา พระชายาของพระองค์ ก็ทรงมีฐานะเป็นพระราชินีพระราชชายา (Queen Consort)

ในเวลาต่อมา พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะใช้พระนามว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงออกคำแถลงระบุว่า “การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชมารดาผู้เป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้า คือช่วงขณะแห่งความเศร้าเสียใจอย่างใหญ่หลวงที่สุดสำหรับข้าพเจ้าตลอดจนสำหรับสมาชิกทุกคนของครอบครัวข้าพเจ้า”

“พวกเรารู้สึกโศกเศร้าอาลัยอย่างล้ำลึกต่อการจากไปของพระเจ้าแผ่นดินผู้คอยใส่ใจทะนุถนอมและมารดาผู้เป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้าทราบดีว่าการสูญเสียพระองค์ไปจะเป็นที่รู้สึกกันอย่างลึกซึ้งในตลอดทั่วทั้งประเทศ ทั่วทั้งราชอาณายักร และทั่วทั้งเครือจักรภพ ตลอดจนประชาชนจำนวนนับไม่ถ้วนตลอดทั่วโลก”

รายงานข่าวที่ว่าพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีนาถกำลังทรุดลงเรื่อยๆ ปรากฏออกมาไม่นานนักหลังเวลาเที่ยงวันของวันพฤหัสบดี (8) (ตามเวลาในอังกฤษ) เมื่อคณะแพทย์ประจำพระองค์ออกคำแถลงระบุว่า พระองค์อยู่ใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และเร่งรัดให้ พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, เจ้าฟ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์, และเจ้าฟ้าชายเอดเวิร์ด รวมทั้งพระราชนัดดา คือ เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ได้รีบเสด็จไปยังปราสาทบาลมอรัล ซึ่งเป็นพระตำหนักในสกอตแลนด์ เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงพำนักอยู่ที่นั่นมาระยะหนึ่งแล้ว

บริเวณด้านนอกของพระราชวังบัคกิ้งแฮม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางกรุงลอนดอน มีผู้คนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคน และเกิดความเงียบจากความรู้สึกตื่นตะลึงเมื่อธงชาติถูกลดลงครึ่งเสา ฝูงชนเคลื่อนตัวไปยังประตูพระราชวัง ขณะที่ประกาศข่าวการเสด็จสวรรคตขององค์พระประมุขที่ชาวสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่รู้จักอยู่เพียงพระองค์เดียว ถูกนำมาติดเอาไว้บนบานประตูเหล็กสีดำ

นับตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่แล้ว ควีนเอเลิซาเบธที่ 2 ทรงพระประชวรด้วยอาการที่สำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมระบุว่า เป็น “ปัญหาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวพระวรกายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ” ทำให้พระองค์ต้องทรงยุติการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทบทั้งหมด ขณะที่ เจ้าชายฟิลิป พระสวามีของพระองค์ที่ครองคู่กันมาอย่างยาวนาน 73 ปี สิ้นพระชนม์ไปในปี 2021

พระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระองค์ ซึ่งปรากฏต่อสาธารณชน ได้แก่ การที่ทรงแต่งตั้ง ลิซ ทรัสส์
ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ในรัชสมัยของพระองค์

“การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ คือเรื่องช็อกอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่งสำหรับประเทศชาติและสำหรับโลก” ทรัสส์ กล่าวเช่นนี้ที่ด้านนอกของทำเนียบถนนดาวนิ่งของเธอ ซึ่งธงชาติถูกลดลงครึ่งเสา เช่นเดียวกับธงชาติที่พระราชวังหลวงแห่งต่างๆ ตลอดจนอาคารที่ทำงานของภาครัฐทั่วทั้งสหราชอาณาจักร

ข่าวนี้สร้างความตื่นตะลึงไม่เพียงแค่ประชาชนในสหราชอาณาจักรเท่านั้น ขณะที่คำไว้อาลัยหลั่งไหลออกมาจากบรรดาผู้นำทั่วโลก ในกรุงปารีส นายกเทศมนตรีประกาศให้ปิดไฟประดับหอไอเฟล
เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการสวรรคตของพระองค์

สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งยังทรงเป็นประมุขแห่งรัฐที่สูงอายุที่สุดและดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานที่สุดในโลกอีกด้วย เสด็จขึ้นครองราชย์ภายหลังการสวรรคตของพระราชบิดา คือ พระเจ้าจอร์จที่ 6 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน กลายเป็นพระราชพิธีเช่นนี้ซึ่งมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก และก็เหมือนเป็นบททดลองการก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ ซึ่งสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายถูกจับจ้องติดตามจากสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นมากมาย

“ข้าพเจ้าขอให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงใจที่จะนำตัวเองน้อมรับใช้พวกท่าน ดังที่พวกท่านจำนวนมากก็ได้ให้คำมั่นสัญญาแก่ข้าพเจ้า ตลอดทั่วทั้งชีวิตของข้าพเจ้าและด้วยดวงใจทั้งหมดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะอุตสาหะพยายามเพื่อให้สมกับความไว้วางใจขงพวกท่านทั้งหลาย” พระองค์มีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรเช่นนี้ในวันราชาภิเษก

ควีนเอลิซาเบธ ทรงขึ้นครองราชย์ในเวลาที่สหราชอาณาจักรยังคงรักษาดินแดนจำนวนมากแห่งจักรวรรดิเก่าของตนเอาไว้ได้ ในขณะที่ประเทศแห่งนี้กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาจากความเสียหายยับเยินต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ประชาชนยังต้องมีการบังคับปันส่วนอาหาร ขณะที่เรื่องชนชั้นและอภิสิทธิ์ชนยังคงมีฐานะครอบงำสังคม

วินสตัน เชอร์ชิล คือนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในเวลานั้น ขณะที่ โจเซฟ สตาลิน ยังเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียต และสงครามเกาหลีก็กำลังดุเดือดเข้มข้น

ในระยะเวลาหลายทศวรรษหลังจากนั้น สมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นี้ ได้ทรงเป็นประจักษ์พยานความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตลอดจนความพลิกผันทางสังคมอย่างมโหฬารทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและในต่างประเทศ แม้กระทั่งภายในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ของพระองค์เองก็ต้องผ่านวิกฤตอยู่หลายครั้ง โดยคราวที่โดดเด่นที่สุดและถูกเขม้นมองจากสาธารณชนมากที่สุด ก็คือการหย่าร้างระหว่าง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับ ไดอานา พระชายาองค์แรกที่ล่วงลับไปแล้ว

ขณะที่สำหรับชาวสหราชอาณาจักรจำนวนมากแล้ว พระองค์ยังคงทรงเป็นสัญลักษณ์อันยืนยงของเสถียรภาพและความต่อเนื่อง ในเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังค่อนข้างเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ ระหว่างเวลาเหล่านี้ ควีนเอลิซาเบธก็ยังทรงพยายามที่จะนำสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณกาล ให้สามารถปรับตัวเพื่อสอดคล้องกับความต้องการต่างๆ ของยุคสมัยใหม่

“พระองค์ทรงบริหารจัดการตำแหน่งพระมหากษัตริย์ให้เข้าสู่ความทันสมัยและมีวิวัฒนาการอย่างชนิดที่ไม่มีใครทำได้เสมอเมือน” เจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดาองค์โต ซึ่งบัดนี้จะกลายเป็นรัชทายาทองค์ต่อไป ตรัสเอาไว้ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2012

(ที่มา: รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น