ก๊าซปรอม รัฐวิสาหกิจคุมเรื่องก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย แถลงในวันอังคาร (6 ก.ย.) ว่า ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อเริ่มให้จีนเปลี่ยนมาชำระเงินค่าก๊าซซึ่งส่งไปให้ เป็นเงินหยวนและเงินรูเบิลแทนที่จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นในขณะเดียวกับที่รัฐมนตรีพลังงาน นิโคไล ชูลกินอฟ ของแดนหมีขาวประกาศว่า มอสโกจะตอบโต้มาตรการของฝ่ายตะวันตกซึ่งวาดหวังจะจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ด้วยการส่งออกไปยังเอเชียให้มากขึ้น
“มีการเปลี่ยนแปลงแล้วเพื่อให้ชำระเงินค่าก๊าซรัสเซียซึ่งส่งไปให้จีน ด้วยสกุลเงินตราแห่งชาติของประเทศทั้งสอง นั่นคือเงินรูเบิล และเงินหยวน” ก๊าซปรอมระบุในคำแถลง ซึ่งออกมาภายหลังการหารือผ่านวิดีโอ ระหว่าง อเล็กเซย์ มิลเลอร์ ซีอีโอของก๊าซปรอม กับ ไต้ โฮ่วเหลียง ประธานของซีเอ็นพีซี กลุ่มกิจการน้ำมันและก๊าซของจีน
ในคำแถลงยังอ้างคำพูดของ มิลเลอร์ ที่กล่าวว่า “กลไกชำระเงินอย่างใหม่นี้เป็นหนทางออกที่ให้ประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ทันการณ์ เชื่อถือได้ และนำไปปฏิบัติได้” โดยเขายังระบุด้วยว่า กลไกนี้จะเป็น “การคำนวณที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม” และจะ “กลายเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศสำหรับบริษัทอื่นๆ”
คำแถลงของก๊าซปรอมบอกอีกว่า มิลเลอร์แจ้งให้ฝ่ายจีนทราบถึงสถานะดำเนินงานของโครงการเพื่อจัดส่งก๊าซผ่าน “เส้นทางตะวันออก” ซึ่งก็คือ “สายท่อส่งก๊าซ เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย” ที่เชื่อมโยงเครือขายก๊าซของรัสเซียกับของจีน
ทั้งนี้ ก๊าซปรอมระบุว่า ก๊าซจากบ่อโควีคตา ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา จะเริ่มส่งผ่านสายท่อส่งเพาเวอร์ออฟไซบีเรีย ได้ “ก่อนสิ้นปีนี้” ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ “เพิ่มปริมาณการส่งก๊าซไปให้จีนในปี 2023”
ในวันเดียวกันนี้เอง รัฐมนตรีชูลกินอฟ บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างเข้าร่วมเวทีสัมมนา “อีสเทิร์น อีโคโนมิก ฟอรัม” ในเมืองวลาดิวอสต็อก ว่า "ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่มุ่งกำหนดจำกัดเพดานราคา (พลังงานของรัสเซีย) จะนำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนในตลาดของบรรดาประเทศที่ริเริ่มเรื่องนี้เอง และเพิ่มความผันผวนแก่ราคาพลังงาน"
เขาพูดเช่นนี้หลังจากบรรดารัฐมนตรีคลังของกลุ่ม จี7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และแคนาดา มีมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้เดินหน้าแนวความคิดที่จะจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซีย เพื่อลดรายได้ของมอสโกลง เป็นการตอบโต้เรื่องที่รัสเซียรุกรานยูเครน
ที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มจี7 ได้ออกข้อจำกัดหรือระงับการซื้อปิโตรเลียมจากรัสเซียไปแล้ว แต่สำหรับแผนกำหนดเพดานราคาน้ำมันและก๊าซรัสเซีย จะได้ผลหรือไม่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียและจีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญที่สุดของแดนหมีขาว
อเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย ระบุในวันจันทร์ (5 ก.ย.) ว่าแผนของจี7 ที่ต้องการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย จะก่อความไม่แน่นอนแก่ตลาดโลก โดยที่ก่อนหน้านี้ เขาเตือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (1 ก.ย.) ด้วยว่ารัสเซียจะไม่ป้อนอุปทานให้ประเทศต่างๆ ที่บังคับใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ความเห็นของ ชูลกินอฟ และ โนวัค ยังมีขึ้นในช่วงเดียวกับที่ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด เปิดเผยรายงานของตนในวันอังคาร (6) ว่ารัสเซียโกยเงินจากการส่งออกพลังงานถึง 158,000 ล้านยูโร ในช่วง 6 เดือนตามหลังรุกรานยูเครน โดยมากกว่าครึ่งมาจากอียู ทั้งๆ ที่ยุโรปประกาศร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ในการแซงก์ชันมอสโก
ศูนย์วิจัยซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในฟินแลนด์แห่งนี้ ยังเรียกร้องให้ออกมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโกที่เห็นผลกว่าเดิม หลังจากที่ผ่านมามีแต่ทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
"ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พุ่งสูง หมายความว่ารายได้ปัจจุบันของรัสเซียอยู่เหนือกว่าระดับของปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก แม้ปริมาณการส่งออกในปีนี้จะลดลงก็ตาม" ศูนย์วิจัยนี้บอก
"การส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยเสริมเม็ดเงินราวๆ 43,000 ล้านยูโรเข้าสู่งบประมาณกลางของรัสเซีย นับตั้งแต่เริ่มรุกราน ช่วยเป็นทุนสนับสนุนอาชญากรรมสงครามในยูเครน" ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาดระบุ อ้างถึงตัวเลขช่วง 6 เดือน ตามหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์
ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาดประเมินว่าสหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลรัสเซียรายใหญ่ที่สุด ที่ราวๆ 85,100 ล้านยูโร ตามมาด้วยจีน 34,900 ล้านยูโร และตุรกี 10,700 ล้านยูโร
ทั้งนี้ ในขณะที่อียูหยุดซื้อถ่านหินของรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พวกเขามีความก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการแบนน้ำมันรัสเซีย และไม่ได้กำหนดข้อจำกัดใดๆ ต่อการนำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซีย ซึ่งพวกเขาต้องพึ่งพิงเป็นอย่างสูง
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)