(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
US ramps up China tech sanctions faster than expected )
By SCOTT FOSTER
02/09/2022
สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีบางคนมองว่า สหรัฐฯ กำลังใช้แบบแผนวิธีในการแก้ไขปัญหา ด้วยการแซงก์ชันจีนในลักษณะการยิงปืนไรเฟิลไปที่เป้าหมายเฉพาะเจาะจงอย่างแม่นยำ ทว่าเวลานี้มันกลับดูเหมือนกลายเป็นการสาดกระสุนลูกปรายปืนลูกซองใส่แบบไม่ยั้งมือไปเสียแล้ว คนที่ชอบเยาะเย้ยถากถางบางคนกระทั่งอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า รัฐบาลอเมริกันจะบีบคั้นกดดันนิวซีแลนด์ใหตัดส่งการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังแดนมังกรด้วยหรือไม่ เพราะมันอาจทำให้พวกเด็กๆ ชาวจีนเติบโตเป็นทหารตัวใหญ่แข็งแรงขึ้นมา
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพิ่งมีความเคลื่อนไหวใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะอุดปากบีบคอขวางกั้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน ด้วยการตัดสินใจออกคำสั่งจำกัดควบคุมการขนส่งชิปประมวลผลกราฟิกระดับก้าวหน้า (advanced graphics processing units หรือ GPUs) ซึ่งออกแบบโดยพวกบริษัทอเมริกันอย่าง อินวิเดีย (NVIDIA) และเอเอ็มดี (AMD) ไปประเทศจีน ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯ บอกว่ามีความวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปเป็นแอปพลิเคชันทางการทหาร
GPUs เป็นแผงวงจรรวมประเภทหนึ่งที่ใช้ในการทำกราฟิกและภาพวิดีโอ ในการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องการผลงานสมรรถนะสูง และการเร่งความเร็วของปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนการเรียนรู้ของเครื่องจักร ขณะที่ อินวิเดีย และเอเอ็มดี ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียทั้งคู่ มีฐานะเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ที่สุดอันดับ 9 และ 10 ของโลก เมื่อวัดกันด้วยตัวเลขรายรับเมื่อปี 2021
ราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัทต่างตกวูบเมื่อข่าวการแซงก์ชันครั้งนี้ปรากฏออกมา โดยเฉพาะ อินวิเดีย นั้นหล่นฮวบฮาบทีเดียว หลังจากไหลรูดถึง 12% ในการซื้อขายระหว่างวัน หุ้นของอินวิเดีย ก็ปิดในวันพฤหัสบดี (1 ก.ย.) โดยติดลบ 7.7% ส่วนเอเอ็มดี ปิดลดลง 3.0% ราคาหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ยังคงตกลงต่ออีกในช่วงการซื้อขายหลังตลาดปิด
แต่ขอให้เราพิจารณาข่าวนี้ในบริบทที่กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่านี้ อินวิเดีย นั้นดิ่งวูบถึง 59.8% ทีเดียวจากระดับที่อยู่สูงที่สุดในรอบ 52 สัปดาห์ (ราคาสูงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา) ของหุ้นตัวนี้ ส่วนเอเอ็มดี ก็ติดลบลงถึง 49.9% หุ้นทั้ง 2 ตัวนี้มีราคาสูงสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) บริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับทำเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุด ก็มีราคาหุ้นตกลง 2.4% ในวันที่ 1 กันยายน และหล่นฮาบ 45.0% จากช่วงสูงที่สุดในรอบ 52 สัปดาห์ของตน ด้านอินเทล (Intel) ติดลบเพียงแค่ 0.5% ในวันที่ 1 กันยายน ทว่าดำดิ่งถึง 43.6% จากระดับสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ของตน ดัชนี SOX ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของพวกหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ หดหายไป 35.5% ทีเดียวจากช่วงขึ้นไปสูงสุดตอนเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
หากมองกันในระยะสั้น อาจตีความได้ว่า มาตรการจำกัดที่ออกมาใช้กับอินวิเดีย และเอเอ็มดี คราวนี้ เป็นครั้งล่าสุดของสัญญาณลบที่ปรากฏออกมาเป็นชุดต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ตลาดกระทิงหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ถึงจุดสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ดี หากมองต่อไปในอนาคตข้างหน้า มาตรการแบบนี้ทำให้เป็นที่ชัดเจนทีเดียวว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไม่สามารถวางแผนเพื่อขายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดของพวกตนในประเทศจีนได้อีกต่อไปแล้ว ทิศทางการเติบโตขยายตัวและผลตอบแทนการลงทุนของบริษัทเหล่านี้น่าจะมีแนวโน้มลดต่ำลง และด้วยเหตุนี้ราคาหุ้นของพวกเขาน่าจะเจอการทดสอบนิวโลว์ครั้งใหม่ๆ ต่อไปอีก
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการจำกัดควบคุมการส่งออกพวกเครื่องมือ electronic design automation หรือ EDA (ระบบอัตโนมัติการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์) ไปยังประเทศจีน ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ แฮนเดิล โจนส์ (Handel Jones) ซีอีโอของอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส สแตรเตจีส์ (International Business Strategies) บริษัทที่ปรึกษาของแวดวงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องรีบเขียนแสดงความเห็นว่า การจำกัดควบคุมเช่นนี้อาจจะ “ส่งผลกระทบในทางสร้างความหายนะไปทั่วโลก” โดยส่งผลทำให้เกิด “การสะดุดติดขัดสำคัญๆ ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก”
โจนส์ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า “สถานการณ์ร้ายแรงมากสำหรับจีน แบบแผนที่ผ่านมาของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น ได้แก่ การมุ่งขยายคำจำกัดความของการตัดสินใจเบื้องต้นของตนเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อเป็นการเพิ่มผลกระทบ และนี่น่าจะเกิดขึ้นเช่นกันสำหรับกรณีการตัดสินที่เรากำลังพูดถึงกันนี้”
ปรากฏว่าในกรณีนี้ การแซงก์ชันใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาในเวลาไม่ถึง 1 เดือน
กระนั้น เวลานี้มันยังไม่ถึงขั้นเป็นความหายนะเสียเลยทีเดียว โดยกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ อินวิเดีย ยังคงส่งออก A100 GPU ของตนได้ในกรณีที่เป็นการสนับสนุนพวกลูกค้าสหรัฐฯ และกระทั่งยินยอมให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ H100 ใหม่ๆ ของตนในประเทศจีนได้ โดยทั้งสองเรื่องนี้ให้กระทำได้จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2023
แต่มันได้กลายเป็นการสร้างความไม่แน่ไม่นอนขึ้นมาอย่างกว้างขวางไปแล้ว อินวิเดียเพิ่งออกคำเตือนว่า ผลกระทบที่จะมีต่อรายรับของบริษัทนั้นอาจไปถึงระดับหลายร้อยล้านดอลลาร์ทีเดียว ส่วน เอเอ็มดี ดูไม่ได้แสดงความกังวลอะไร อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่ในขณะนี้
ความเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการส่งออกไปยังจีนในช่วงเร็วๆ นี้ ไม่ได้มีเพียงแค่เครื่องมืออุปกรณ์ EDA และชิป GPUs เท่านั้น ในวันที่ 12 สิงหาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังได้ออกคำสั่งจำกัดควบคุมพวกซับสเตรตทำเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor substrates) ซึ่งทำจากแกลเลียมออกไซด์ (gallium oxide) และเพชร รวมทั้งเทคโนโลยี pressure gain combustion (PGC) ซึ่งจะเป็นตัวปรับปรุงยกระดับสมรรถนะของเครื่องยนต์กังหันก๊าซ (gas turbine)
โดยที่สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security หรือ BIS) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุเอาไว้ในเอกสารเผยแพร่สื่อมวลชน ดังนี้:
**“แกลเลียมออกไซด์ และเพชร เป็นวัสดุที่เปิดทางให้พวกเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งใช้วัสดุเหล่านี้สามารถทำงานภายใต้เงื่อนไขที่รุนแรงต่างๆ ได้มากขึ้น เป็นต้นว่า ณ ระดับไฟฟ้าแรงสูง หรืออุณหภูมิสูง พวกเครื่องมืออุปกรณ์ซึ่งใช้ประโยชน์จากวัสดุเหล่านี้สามารถที่จะเพิ่มศักยภาพทางการทหารขึ้นมาอย่างสำคัญ
**“เทคโนโลยี PGC มีศักยภาพอย่างกว้างขวางสำหรับการนำไปใช้ทั้งกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นโลกและกับการบินและอวกาศ เป็นต้นว่า จรวด และระบบไฮเปอร์โซนิก”
เอกสารเผยแพร่นี้ยังอ้างอิงคำกล่าวของ ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ฝ่ายกิจการอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Under Secretary of Commerce for Industry and Security) แอลเลน เอสเตเวซ (Alan Estevez) ที่บอกว่า “ความก้าวหน้าต่างๆ ทางเทคโนโลยีที่เปิดทางให้พวกเทคโนโลยีอย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์ และเครื่องยนต์ทั้งหลายทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นระยะเวลานานขึ้น และทำงานในเงื่อนไขร้ายแรงต่างๆ ได้มากขึ้น สามารถที่จะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมทั้งในบริบทด้านการพาณิชย์และด้านการทหาร”
จากนั้นในวันที่ 23 สิงหาคม สำนักงาน BIS ได้ออกคำแถลงที่มีข้อความดังต่อไปนี้:
“กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (BIS) เพิ่งมีคำตัดสินสุดท้ายให้เพิ่มหน่วยงานด้านอวกาศ การบินและอวกาศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ของจีนจำนวน 7 แห่ง เข้าไปในบัญชีดำ “Entity List” และจำกัดการเข้าถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ของพวกเขาอย่างเข้มงวดรุนแรง โดยเป็นไปตามระเบียบการบริหารจัดการการส่งออก (Export Administration Regulations หรือ EAR) หน่วยงานทั้ง 7 แห่งเหล่านี้ถูกเพิ่มชื่อเข้าไปในบัญชีดำ Entity List สืบเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเข้าครอบครองและความพยายามที่จะเข้าครอบครองรายการต่างๆ ซึ่งมีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนความพยายามปรับปรุงการทหารให้ทันสมัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน และจากการดำเนินการในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีหน่วยงานของจีนราวๆ 600 แห่งอยู่ในบัญชีดำ Entity List โดยที่กว่า 110 แห่งถูกเพิ่มเข้าไปในช่วงตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิบัติงานของคณะบริหารไบเดน”
สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นแบบแผนวิธีของสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาด้วยการแซงก์ชันจีนในลักษณะการยิงปืนไรเฟิลไปที่เป้าหมายเฉพาะเจาะจงอย่างแม่นยำ เวลานี้มันกลับดูเหมือนกลายเป็นการสาดกระสุนลูกปรายปืนลูกซองใส่แบบไม่ยั้งมือไปเสียแล้ว
คนที่มองโลกในแง่ร้ายและชอบเยาะเย้ยถากถาง ถึงตอนนี้อาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะบีบคั้นกดดันนิวซีแลนด์ให้ตัดลดการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังจีนด้วยหรือไม่ เพราะมันอาจทำให้พวกเด็กๆ ชาวจีนเติบโตเป็นทหารตัวใหญ่แข็งแรงขึ้นมา
ส่วนคำถามที่เคร่งเครียดจริงจังก็คือว่า จีนจะตอบโต้ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ของสหรัฐฯ กันอย่างไร และเมื่อใด?