xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตยูเครน-ตึงเครียดจีน! สหรัฐฯ ตั้ง "ทีมไทเกอร์" เร่งขายอาวุธให้เหล่าชาติพันธมิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และวิกฤตความขัดแย้งในยูเครน กระตุ้นให้สหรัฐฯ จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การขายอาวุธให้บรรดาพันธมิตร เจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูงของอเมริกาเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล

คณะทำงานพิเศษใช้ชื่อว่า "ทีมไทเกอร์" ถูกจัดตั้งขึ้นมาในเดือนสิงหาคม เพื่อมองหาหนทางต่างๆ ในการส่งมอบอาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ แก่บรรดาผู้ซื้อต่างชาติให้รวดเร็วยิ่งขึ้น บทความของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุในวันศุกร์ (2 ก.ย.) โดยคณะทำงานชุดใหม่นี้มีปลัดกระทรวงกลาโหม 2 คนเป็นประธานร่วม นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ของเพนตากอนเข้าร่วมด้วย

"มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับก้าวย่างทางกลไกในกระบวนการดังกล่าว" เจ้าหน้าที่รายนี้บอกกับวอลล์สตรีท เจอร์นัล "มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับว่า เราจะทำงานได้ดีกว่าเดิมอย่างไร ในการขจัดความไร้ประสิทธิภาพออกจากระบบ ระบบที่เราจะใช้กับทุกประเทศที่เราทำงานด้วย"

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การทบทวนจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจมีขึ้น สืบเนื่องจากความตึงเครียดกับจีนที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นไต้หวัน และความจำเป็นต้องเติมเต็มคลังแสงบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรป หลังจากคลังแสงของเหล่าพันธมิตรเริ่มร่อยหรอ เนื่องจากมอบอาวุธเหล่านั้นแก่ยูเครน ท่ามกลางความขัดแย้งกับรัสเซีย

วอชิงตันเคยแสดงความกังวลมาช้านานว่า ด้วยราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง และกระบวนการอนุมัติขายอาวุธที่ซับซ้อน อาจฉุดให้สหรัฐฯ ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการแข่งขันกับจีนและรัสเซีย ทั้งนี้ กระบวนการอนุมัติขายอาวุธของอเมริกานั้น ดำเนินการโดยเพนตากอน ภายใต้การตรวจตราของกระทรวงการต่างประเทศ และจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากสภาคองเกรสด้วย

"ความล่าช้าอาจทำให้บางประเทศไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ จริงๆ แล้วต้องการพวกเขาในฐานะพันธมิตรหรือไม่ และก่อความเสี่ยงที่อาจผลักประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการคงความใกล้ชิดกันต่อไป หันไปจับจ่ายซื้ออาวุธจากที่อื่นๆ" หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลระบุ

นอกจากหาทางรื้อถอนอุปสรรคด้านกฎระเบียบทางราชการภายในสหรัฐฯ แล้ว คณะทำงานพิเศษชุดนี้อาจขอให้เจ้าหน้าที่อเมริกาช่วยบรรดาผู้ซื้อต่างประเทศวางหลักเกณฑ์ให้ดีกว่าเดิม ในคำร้องขอจัดซื้ออาวุธของพวกเขา เพื่อให้คำร้องของประเทศเหล่านั้นไม่กว้างขวางจนเกินไป หรือโหมกระพือความกังวลด้านความมั่นคง

ริชาร์ด สเปนเซอร์ อดีตรัฐมนตรีทบวงทหารเรือสหรัฐฯ แสดงความยินดีกับนโยบายใหม่ดังกล่าว โดยบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระบขายอาวุธ "เราจำเป็นต้องสร้างความคล่องตัว เราแข็งทื่อตายตัวเกินไป เราจำเป็นต้องก้าวผานเรื่องนี้"

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าคณะทำงานเฉพาะกิจจะไม่สามารถคลี่คลายได้ทุกปัญหา ในขณะที่มีหลายปัญหาหยั่งรากลึกในแนวทางดำเนินงานของอุตสาหกรรมกลาโหมของสหรัฐฯ และตลาดแรงงานของประเทศ

"อุตสาหกรรมกลาโหมอเมริกาไม่ได้ถูกออกแบบมาเหมือนตอนอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 2" เจ้าหน้าที่ระบุ "พวกเขาไม่ได้ผลิตสิ่งของต่างๆ เพียงเพราะเราร้องขอพวกเขา พวกเขาทำมันตามสัญญาที่มีอยู่ในมือ"

อีกหนึ่งประเด็นที่อาจก่อความยุ่งยากซับซ้อนต่อความพยายามเร่งขายอาวุธแก่ต่างชาติคือ ปัญหาขาดแคลนอาวุธและกระสุนในคลังแสงของวอชิงตันเอง เนื่องจากพวกเขาทุ่มความช่วยเหลือด้านการทหารคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน ตามรายงานของวอลล์สตีท เจอร์นัล

(ที่มา : วอลล์สตรีทเจอร์นัล/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น